posttoday

กต.ชู4ยุทธศาสตร์สู้คดีปราสาทพระวิหาร

27 มีนาคม 2556

บัวแก้วยก 4 ยุทธศาสตร์ต่อกรศาลโลกปมปราสาทพระวิหาร ยันทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ชี้ปัญหาทั้งหมดมาจากไทย-เขมรใช้แผนที่คนละฉบับ

บัวแก้วยก 4 ยุทธศาสตร์ต่อกรศาลโลกปมปราสาทพระวิหาร ยันทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ชี้ปัญหาทั้งหมดมาจากไทย-เขมรใช้แผนที่คนละฉบับ 

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนคณะดำเนินการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย เปิดเผยว่า การให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ (ศาลโลก) นั้น จะอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 4 แนวทางการต่อสู้คดี คือ 1.ไทยยืนยันว่าคำขอของกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความแต่เป็นคำฟ้องคดีใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความ ทั้งนี้ ไทยยังต้องเดินทางไปชี้แจงต่อศาลโลก เพื่อไม่ให้ศาลโลกฟังความจากกัมพูชาฝ่ายเดียว 

2.ไทยและกัมพูชาไม่เคยมีข้อขัดแย้งเรื่อง “พื้นที่ใกล้เคียง” (vicinity) บริเวณรอบปราสาทประวิหาร ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่ต้องตีความ 3.ไทยเห็นว่าคำขอของกัมพูชาเป็นเรื่องเดิมที่ศาลเคยปฏิเสธมาแล้ว ซึ่งเป็นเหมือนการซ่อนอุทธรณ์มาในรูปของการขอตีความ ศาลจึงไม่น่าจะรับฟังได้ และ 4.ไทยเห็นว่าพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไม่มีความเชื่อมโยงกับคดีปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ภายหลังจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา

ดังนั้น จึงเห็นว่าการดำเนินการสามารถแก้ไขได้ตามกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย – กัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย – กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปีพ.ศ.2543 พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าคณะสู้คดีทำดีที่สุด และละเอียดที่สุดเท่าที่จะคิดทำได้ รวมถึงยังเชื่อมั่นในความโปร่งใส

“หลังจากนี้จะเป็นเรื่องที่ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประชาชนมีวิจารณญาณเพียงพอ เพียงแต่ขอให้ทุกคนฟัง และอ่านก่อนตัดสินใจ และขออย่าบอกว่าไม่สู้”นายวีรชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากการใช้แผนที่คนละฉบับ ซึ่งกัมพูชาใช้แผนที่ 1:200,000 แต่ไทยใช้อนุสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 โดยแผนที่ถือเป็นเครื่องมือแปรเป็นรูปภาพให้เห็นเป็นเส้นเขตแดน

ส่วนการดำเนินการตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลสั่งให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกจากพื้นที่ ซึ่งไทยได้มีการรายงานไปแล้วเป็นระยะ โดยที่ผ่านมาศาลโลกได้มีการขอไม่ให้มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่จะสามารถมีการเปิดเผยรายละเอียดซึ่งเป็นคำแปลภาษาไทยได้ในวันที่ 15 เม.ย. นี้