posttoday

พท.-สว.แจงเดือดแก้รธน.ล้มปกครอง

05 กรกฎาคม 2555

"เพื่อไทย"ชี้ แก้รธน.ล้มประชาธิปไตยแค่จินตนาการ ด้าน "สมเจตน์" ยัน กระเทือนสถาบันกษัตริย์ อัดนำบรรยากาศ2540มาเทียบเคียงไม่ได้

"เพื่อไทย"ชี้ แก้รธน.ล้มประชาธิปไตยแค่จินตนาการ ด้าน "สมเจตน์" ยัน กระเทือนสถาบันกษัตริย์ อัดนำบรรยากาศ2540มาเทียบเคียงไม่ได้

พท.-สว.แจงเดือดแก้รธน.ล้มปกครอง

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ  ได้ออกนั่งบัลลังค์เพื่อพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายถูกร้องทั้ง 6 ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นายภารดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ซักค้านพยานฝ่ายผู้ร้อง 7 คน

นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเบื้องต้นว่า สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมีจำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สิทธิและอำนาจการฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรค 2ของรัฐธรรมนูญ 2.มาตรา 291 สามารถให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ 3.เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 68 วรรค1เพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ และ 4.หากมีการกระทำดังกล่าวจะมีเหตุให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการพรรคการเมืองหรือไม่ตามมาตรา 68 วรรค 3-4หรือไม่

ทั้งนี้ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนประธานรัฐสภา ซักถาม พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม สว.สรรหา ในฐานะพยานของผู้ร้องว่า การดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 พล.อ.สมเจตน์ ได้รับทราบกระบวนการมาตั้งแต่ต้นโดยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาตั้งแต่วาระแรกจนกระทั่งได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าหากจะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็สามารถกระทำได้ด้วยการไม่ไปเป็นกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ2550มาตรา 291 ก็ระบุชัดว่าการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนระบบการปกครองจะกระทำไม่ได้อยู่แล้ว ประกอบกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาได้อภิปรายในรัฐสภาและทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ใช้ดุลยพินิจเพียงลำพังเพื่อวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าข่ายขัดล้มล้างการปกครองหรือไม่แต่จะดำเนินการในรูปแบบผ่านการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการเชิญคณบดีคณะนิติศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษามาเข้าร่วม จึงไม่มีเหตุผลที่จะมากล่าวหาการแก้ไขรัฐรรมนูญเป็นการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย" นายวัฒนา กล่าว

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ซักว่า คำร้องของผู้ถูกร้องเป็นการคิดเอาเองว่าหากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งที่ความเป็นจริงกระบวนการดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น เพราะขณะยังไม่มีส.ส.ร. องค์ประกอบจึงไม่ครบตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง และที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งส.ส.ร.เคยมีการกระทำมาแล้ว ดังนั้น อาจถือเป็นประเพณีได้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยให้สัมภาษณ์ว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขทีหลัง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้

พล.อ.สมเจตน์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเพราะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แตกต่างจากการรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การรัฐประหารใช้ปืนแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตย

"ยอมรับว่าได้รับทราบถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต้ต้นแต่ไม่มีอำนาจใดๆไปคัดค้านการดำเนินการของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ผมได้แสดงต่อสาธารณะมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญพราะจะเกิดภยร้ายแรงต่อประเทศชาติจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและอัยการสูงสุด แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 /11จะบัญญัติให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจะกระทำไม่ได้ ก็จริงแต่กระบวนการในการวินิจฉัยประเด็นนี้อยู่ประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียว ผมไม่สามารถเอาความมั่นคงของประเทศชาติและการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาฝากไว้กับประธานรัฐสภาคนเดียวไม่ได้ ยิ่งมีคลิปเสียงออกมายิ่งทำให้ไว้วางใจไม่ได้"พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2535เพื่อตั้งส.ส.ร.และยกร่างรัฐธรรมนูญ2540 จะมาเทียบเคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ เพราะในอดีตบริบทของสังคมเวลานั้นต้องการให้เกิดการปฎิรูปการเมืองเพื่อปลดแอกจากทหาร และต้องการนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แต่บริบทสังคมเวลานี้เกิดความขัดแย้งและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้เกิดบริบทแวดล้อมจากสมาชิกของพรรคเพื่อไทยและอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยว่าต้องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองโดยให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์เหมือนต่างประเทศ และเปลี่ยนแปลงสถาบันตุลาการ เท่ากับว่าบริบทของปี 2540และ 2550 จึงไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการซักพยานนายจรัญได้ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงกรณีที่นายชูศักดิ์พาดพิงว่า การพูดว่าให้รับรัฐธรรมนูญ2550ไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลังนั้นเป็นการพูดต้องการให้สังคมรับรัฐธรรมนูญเพื่อหลุดจากอำนาจรัฐประหาร ไม่ได้หมายความว่าจะให้แก้ไขเพียงมาตราเดียวเพื่อล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ต้องเสนอเป็นรายมาตราเพื่อให้สังคมได้มีส่วนร่วมจะแก้ 100 มาตราก็ไม่มีปัญหา

สำหรับการไต่สวนขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งพักชั่วคราวก่อนที่จะกลับมาไต่สวนอีกครั้งในเวลา 13.30 น.