posttoday

จุดร้อนในเอเชียแปซิฟิก

16 มิถุนายน 2565

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

************

ในช่วงปี 2555 เราได้เห็นนายพลทหารอเมริกัน นักการเมืองอเมริกัน แวะมาเยี่ยมเยียนผู้นำไทยบ่อยครั้ง ซึ่งค่อนข้างผิดปกติ จริงอยู่ การเยือนเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงปีก่อนที่ผ่านมา พบว่า ทั้งรัฐมนตรี นายพลทหารอเมริกัน แวะมาเยือนเมืองไทยบ่อย หากจะมองว่าธรรมดาก็ธรรมดา แต่ถ้ามองลึกไปกว่านั้นย่อมไม่ธรรมดา

นี่ไม่นับรวมที่ผู้นำสหรัฐเชิญผู้นำมาอาเซียน ยกเว้นพม่าและกัมพูชา ไปเยือนและประชุมที่วอชิงตัน โดยอ้างว่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีที่สหรัฐและอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมี การเชิญครั้งนี้เป็นไปลักษณะร้องขอกึ่งบังคับขอให้ไปให้ได้ การที่ไม่เชิญพม่านั้นพอเข้าใจได้เพราะเป็นรัฐบาลทหารจากการยึดอำนาจ แต่สหรัฐที่ไม่เชิญผู้นำกัมพูชาทั้งที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากผู้นำกัมพูชาใกล้ชิดจีนและยอมให้จีนมาพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในกิจการทหารเมื่อจำเป็นได้

สถานทูตสหรัฐใน กทม.เผยแพร่ภาพและข่าวเรื่อง พล.ร.อ.จอห์น ซี.อากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด – แปซิฟิกของสหรัฐ มาเยี่ยมและหารือประจำปี กับ ผบ.ทหารสูงสุดของไทยเมื่อต้นวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นและไทยเป็นเจ้าภาพ โดยพยายามเน้นให้ประชาชนเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเน้นเรื่องการทำงานร่วมกันด้านมนุษยธรรม บรรเทาสาธารณภัย การแพทย์ การฝึกร่วม ความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ยั่งยืน สนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ฯลฯ

ผู้นำทหารของไทยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สหรัฐเน้นเรื่อง “ ความเป็นหุ้นส่วนร่วมระหว่างสหรัฐ – ไทย “ อันเป็น “ หมุดหมายสำคัญในการดำเนินความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐ – ไทย “ ความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ

เมื่อจะใช้ประโยชน์จากไทย สหรัฐก็ยกยอว่า ไทยเป็นหนึ่งใน “ พันธมิตรทางสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ไมตรีระหว่างไทยและสหรัฐสำคัญยิ่งต่อการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและมั่งคั่งของภูมิภาคนี้ “ แต่เมื่อใดที่เห็นว่าไทยไม่มีประโยชน์ สหรัฐก็ไม่ใยดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว

แม้ว่าเคยมีการยึดอำนาจในไทยเมื่อปี 2557 สหรัฐต้องกดดันประเทศไทยในเรื่องต่าง ๆ แต่ไม่กล้าที่จะยกเลิกการฝึกร่วมคอบร้า โกลด์ และขยายการฝึกร่วมดังกล่าวให้ใหญ่โตมากขึ้น ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงไทยไม่เคยวิตกเลยว่าสหรัฐจะลดความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย เพียงแต่เมื่อใดที่สหรัฐไม่ใช้ประโยชน์ หรือบทบาทและความสำคัญของไทยไม่มีประโยชน์กับเขา เขาก็ห่างเหินไป พอจะใช้ประโยชน์ก็กลับมาทำดี ซึ่งเป็น “ พฤติการณ์ปกติ “ ของวอชิงตันมาทุกยุคสมัย

แต่ไทยต้องเรียนรู้ในประสบการณ์ ผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อย่างน้อยไทยก็เคยมีบทเรียนอันขมขื่นกับสหรัฐมาแล้ว

ภายใต้สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศในปัจจุบันซึ่งสหรัฐมีนนโยบายสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียแปซิฟิก คนไทยไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ไทยแค่อยู่เฉยๆ แล้วสหรัฐจะเข้ามาหาเอง เพราะไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะใช้ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลจากจีนได้ ซึ่งเป็นนโยบายของวอชิงตันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว

แต่คนไทยต้อง “เจ็บแล้วจำ” และอย่าให้เจ็บซ้ำ หรือถูกหลอกใช้โดยเอาผลประโยชน์ของชาติไปเสี่ยง แต่รัฐบาลไทยเวลานี้คงทำอะไรตามใจไม่ได้ เพราะคนไทยฉลาดขึ้น

เข้าประเด็นใต้หัวข้อที่จะเขียนวันนี้ คือ “จุดร้อน” ของเอเชียอยู่ตรงไหน แน่ละ สหรัฐมุ่งสกัดกั้นอิทธิพลของจีนเป็นสำคัญหลังจากทีตนไปวุ่นวายในตะวันอิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน เสียนาน พอเหลียวหลังกลับมาอีกที จีนเติบโตใหญ่ในด้านต่าง ๆ จนหายใจรดต้นคอตัวเอง สหรัฐจึงรีบรวบรวมเพื่อนเก่ามาไว้เป็นพวกเพื่อต่อต้านการขยายตัวของจีน แต่คงไม่ง่ายเหมือนก่อนเพราะคนเอเชียรู้จัก “ นิสัย “ ของรัฐบาลวอชิงตัน อีกทั้งการเติบโตของจีนอำนวยประโยชน์ให้กับประเทศในภูมิภาคอย่างถ้วนหน้า แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังต้องพึ่งพาสหรัฐด้านการค้าและการลงทุนเช่นเดิม

“ จุดร้อน “ ในภูมิภาคน่ากังวลเพราะเป็นประเด็นขัดแย้งที่จีนยอมไม่ได้ มีอยู่สองจุด คือ (1) ไต้หวัน (2) ทะเลจีนใต้

ในกรณีรัสเซีย สหรัฐใช้ยูเครนยั่วยุเพื่อให้เกิดสงครามรัสเซียบุกยูเครน โดยมีสมาชิกนาโตหนุนหลัง โดยหวังว่าให้รัสเซียติดหล่มยูเครน ขณะเดียวกันก็หาทางบ่อนทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของรัสเซียไปด้วย เพื่อตนเองจะได้มีเวลามีสะกั้นการเติบโตของจีนได้เต็มที่ แล้วในเอเชีย สหรัฐจะใช้ใครบ่อนทำลายจีนให้จีนติดหล่มแบบรัสเซีย สหรัฐพร้อมที่จะทำสงครามกับจีนเพื่อไต้หวันและเกาะแสปรตลีย์ หรือไม่อย่างไร โดยสองพื้นที่ก็เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐโดยตรง แต่ไม่ใช่ผลประโยชน์สำคัญยิ่งที่สหรัฐพร้อมจะทำสงคราม แต่กับจีนแล้ว สองจุดนี้เป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของจีน

เหมือนกับยูเครนกระทบต่อผลประโยชน์สำคัญยิ่งของรัสเซีย ที่รัสเซียยอมไม่ได้ ส่วนสองจุดในจีนนี้ จีนยอมได้หรือไม่ได้เพียงใด สหรัฐต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ๆ เพราะทั้งสองแห่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สำคัญยิ่งของจีนด้วยกันทั้งคู่

ในกรณีไต้หวันนั้น เกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์สำคัญยิ่งของจีน” ตาม “นโยบายจีนเดียว” สหรัฐยั่วยุโดยส่งเรือรบแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันและส่งเครื่องบินรบบินเหนือช่องแคบโดยอ้างว่าเป็นน่านน้ำสากลและน่านฟ้าสากล แต่จีนบอกว่าเป็นน่านน้ำและน่านฟ้าของจีน และจีนได้ประท้วงตลอดมา ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งคือสหรัฐสามารถขายอาวุธรุ่นใหม่ ๆ ให้ไต้หวันและทำเงินเข้าประเทศปีละจำนวนมากเท่านั้น ในขณะที่ผู้นำไต้หวันก็ไม่กล้าประกาศว่าไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน คนไต้หวันพอใจกับสถานะปัจจุบันมากกว่า ที่สำคัญคือ คนไต้หวันไปลงทุนในจีนตั้งแต่แรก และไต้หวันทำเงินได้มากจากการนักท่องเที่ยวจีน

สหรัฐพลาดท่ามาแล้วในกรณีฮ่องกงที่ยุให้เยาวชนหนุ่มสาวก่อการประท้วง ก่อเหตุวุ่นวายอยู่หลายเดือนก่อนที่จะจบลงด้วยการที่แกนนำหลายคนติดคุก มีบางคนเท่านั้นที่สหรัฐรับไปอยู่ในประเทศ ในกรณีของไต้หวัน สหรัฐจะกล้าก้าวข้ามเส้นที่จีนขีดไว้หรือไม่อย่างไร ลองมาดูท่าทีของปักกิ่งว่าเป็นอย่างไร ปักกิ่งประกาศว่า “ พฤติกรรมยั่วยุของสหรัฐเป็นการละเมิดหลักการ “จีนเดียว” อย่างรุนแรง บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน และทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน “

ไต้หวันเป็นจุดที่จีนยอมไม่ได้ พลเอก เว่ยเฟิงเหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีน บอกกับพลเอกลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ เมื่อ 11 มิถุนายน 2565 ว่า “ ปักกิ่งจะสู้หมดหน้าตัก “ และ “ บุคคลใดก็ตามที่กล้าแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนไม่ลังเลที่จะเป็นฝ่ายเปิดฉากสงครามไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม “ และกล่าวในการประชุมแชงกริล่า ไดอาล็อก ที่สิงคโปร์ ว่า “ ความสัมพันธ็ระหว่างจีน –สหรัฐ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “ ในขณะที่กระทรวงกลาโหมจีนได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติม “ กองทัพปลดปล่อยฯ พร้อมบดขยี้ความพยายามรูปแบบใดก็ตามเพื่อแบ่งแยกไต้หวันเป็นเอกราช และพยายามขัดขวางไม่ให้ไต้หวันกลับมารวมกับดินแดนที่ถือว่าเป็นมาตุภูมิ “

ส่วนทะเลจีนใต้ที่จีนเข้ายึดครองและพัฒนาหมู่เกาะสเปรตลีเพื่อประโยชน์ทางการทหารนั้น เป็นการควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้า-ออกช่องแคบมะละกากับฝั่งตะวันออกของจีนเป็นสำคัญ เพราะนี่เป็นเส้นทางนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังจังหวัดชายฝั่งตะวันออกชองจีน เท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันว่า จีนจะสามารถนำเข้าน้ำมันและส่งออกสินค้าได้ทั้งในยามสันติและยามสงคราม ( ส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางสู่พื้นที่ภายในและด้านตะวันตกของจีนนั้น จีนได้ตกลงกับรัฐบาลทหารพม่าในการสร้างท่อส่งน้ำมันจากรัฐยะไล่ผ่านพม่าไปยังมณฑลยูนานของจีน )

ในขณะที่เส้นทางเดินเรือผ่านหมู่เกาะสเปรตลีนี้เป็นเส้นทางหลักการนำเข้าน้ำมันและส่งออกสินค้าของญี่ปุ่น ที่มีกองเรือที่ 7 ของสหรัฐรับผิดชอบอยู่ สหรัฐได้ตกลงที่จะปรับบทบาทของญี่ปุ่นด้านการทหารมากขึ้น สหรัฐได้ส่งเรือรบและเรือดำน้ำไปแสดงพลังใกล้กับหมู่เกาะสเปรตลี เพื่อยืนยันหลักการของการเดินเรือโดยเสรีเช่นเดิม จนเป็นห่วงว่าจะเกิดปะทะกันโดยอุบัติเหตุระหว่างเรือรบจีนและเรือรบสหรัฐ

นอกจากนั้น สหรัฐได้สร้างองค์กรพันธมิตรในแปซิฟิกเพื่อปิดล้อมจีน กล่าวคือ QUAD ที่นำเอาอินเดียมาร่วมด้วยกับญี่ปุ่น สหรัฐ และออสเตรเลีย ( อินเดียร่วมด้วยตามนโยบายเศรษฐกิจ “มองตะวันออก” เท่านั้น ) และองค์กร AUKUS คือ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ( ทั้งที่อังกฤษแทบไม่เหลือผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้แล้ว ) ส่วนออสเตรเลียก็เป็นฝรั่งประเทศเดียว (นอกจากนิวซีแลนด์) ในเอเชียแปซิฟิกที่ต้องการสร้างบทบาทมากขึ้น ) โดยเน้นยุทธศาสตร์ทางเรือให้ประเทศสมาชิกจัดเรือดำน้ำมาลาดตะเวนในทะเลแปซิฟิก โดยเฉพาะแถบทะเลจีนใต้ อังกฤษจะส่งมา 1 ลำ ส่วนออสเตรเลียยังไมทันจะซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์ 8 ลำจากสหรัฐตามที่ประกาศ และเตรียมสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกกับเรือดำน้ำนิวเคลียร์ทางฝั่งตะวันออกของประเทศตามแผน

จีนกลับก้าวหน้าออสเตรเลียไปก้าวหนึ่ง โดยได้ลงนามความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การค้ากับ 10 ประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ เท่ากับจีนยึดแปซิฟิกใต้ได้ทั้งหมด นอกจากนั้น จีนจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เรือรบจีนจะเดินทางมาแวะในแปซิฟิกใต้ด้วย

ในยุโรป สหรัฐใช้นาโตและยูเครนแหย่รัสเซียให้ติดหล่มในสงคราม ส่วนในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไหนจะยอมเป็นเครื่องมือของสหรัฐในการแหย่จีน เพราะจีนเอาจริง สหรัฐจะไปใช้ญี่ปุ่นก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะญี่ปุ่นวันนี้ไม่ใช่ญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่คนกลัว นอกจากใช้ญี่ปุ่นเป็นตัวกลางส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธอเมริกันให้ไทย

แค่เกาหลีเหนือยิงจรวดมาตกลงยังทะเลญี่ปุ่นตอนเหนือ ญี่ปุ่นยังไม่รู้จะทำอะไรนอกจากประท้วง และคิมจองอึนไม่ได้ให้ความสนใจ สหรัฐที่ใช้มติของสหประชาชาติแซงชั่นเกาหลีเหนือก็ไม่รู้จะทำอะไรเมื่อเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ลูกแล้วลูกเล่า

นโยบายต่างประเทศของไทยคบได้กับสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง เพราะเราไม่ได้ขัดแย้งกับใคร อีกทั้งสหรัฐและจีนต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยลำดับต้น ๆ ใครอยากมาเยือนไทย เราก็ต้อนรับ แต่จะให้ไทยเป็นมิตรกับ่ฝ่ายหนึ่งและเป็นสัตรูกับอีกฝ่ายเหมือนกับสมัยสงครามเย็น เราไม่เอาด้วย