posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

06 มิถุนายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************************

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การศึกษาเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ผู้ที่ศึกษาในขณะที่เกิดเหตุการณ์หรือคล้อยหลังมาหน่อยอาจจะได้เปรียบและเสียเปรียบผู้ที่ศึกษาหลังเหตุการณ์นั้นเป็นเวลานานแล้ว  ข้อที่ได้เปรียบก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ผู้ศึกษาอาจจะได้สัมผัสบรรยากาศความรู้สึกของผู้คน ที่ไม่มีใครสามารถบันทึกไว้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำแท้จริง

ส่วนข้อเสียเปรียบคือ ผู้ที่ศึกษาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือหลังไม่นาน จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเอกสารบางอย่างที่ไม่สามารถเผยแพร่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือหลังไม่นานได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร  คนบางคนในเหตุการณ์สามารถเปิดเผยข้อมูลสำคัญออกสู่สาธารณะได้ เพราะไม่มีอันตรายต่อตัวเองและผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิง

ข้อดีของการศึกษาหลังเหตุการณ์เป็นระยะเวลานานๆ ปรากฏให้เห็นในการศึกษากรณี “อู นุ-เนวิน ๒๕๐๑) ในการเมืองพม่า  โดยจะเห็นได้ว่า งานที่มาที่หลังอย่างงานของมาร์ติน สมิธ (Burma: Insurgencies and the Politics of Insurgency) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔  จะเข้าถึงข้อมูลที่มากกว่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่พบในงานของอัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ (Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ?) ที่เผยแพร่ในวันที่  ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒  และงานของแซมมวล ไฟน์เนอร์ (S.F. Finer) (The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕

โดยข้อมูลที่สมิธได้มานั้นคือ จดหมายฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ อู นุ เขียนไปถึงนายพลซอหม่อง (Saw Maung) 

และเช่นกัน งานของโทรุ วาตาเบ ที่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๔ ภายใต้ชื่อ “การศึกษาเชิงวิเคราะห์การรัฐประหาร ปี ๑๙๖๒ ของเนวินในพม่า”  ก็มีข้อมูลที่สมิธไม่มี  แต่วาตาเบไม่ได้ค้นพบข้อมูลสำคัญนี้เอง  แต่วาตาเบได้จากงานงานวิจัยของแมรี่ คาลาแฮน เรื่อง “Making Enemies: War and State Building in Burma” ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และในงานชิ้นนี้ของแมรี่ คาลาแฮน เธอได้เข้าถึงเอกสารหลายชิ้นที่มาร์ติน สมิธไม่สามารถเข้าถึงได้ เมื่อวาตาเบทำวิทยานิพนธ์ในช่วงราว พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ เขาจึงสามารถใช้ข้อมูลของแมรี่ คาลาแฮนได้

ในวิทยานิพนธ์ของวาตาเบ แม้เขาจะฟันธงไม่ต่างจากสมิธว่า กรณี “อู นุ - เนวิน 2501” เป็นการทำรัฐประหารโดยฝ่ายกองทัพ โดยนายพลเนวินแสร้งยอมรับที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยให้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากอู นุผ่านกระบวนการสภา ซึ่งดูเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร  คำอธิบายส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันนั่นคือ ความไม่พอใจของนายทหารคือ สาเหตุที่ทำให้กองทัพกดดันอู นุ แต่บทบาทและปฏิกิริยาของนายพลเนวินนั้นไม่ชัดเจน

แต่เขาสามารถวิเคราะห์ได้อย่างละเอียดและมีหลักฐานสนับสนุนมากกว่าในงานของสมิธ  โดยวาตาเบได้อานิสงส์จากงานของแมรี่ คาลาแฮนนั่นเอง

ในการวิเคราะห์ของคาลาแฮน เธอได้อาศัยข้อมูลสำคัญที่ราเวนโฮลท์, ไฟน์เนอร์และสมิธยังเข้าไม่ถึง นั่นคือ หลักฐานบันทึกการประชุมของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ยืนยันถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองกับนายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างพรรค Clean AFPFLของ อู นุ และ พรรค Stable AFPFL กับเหล่านายทหาร

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่สามสิบสาม): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น กรณี “อู นุ-เนวิน 2501”

คาลาแฮนได้กล่าวถึง ความเป็นมาของกรณี “อู นุ - เนวิน 2501” หรือการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพ (ที่ถือว่าเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังพม่าได้เอกราช ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็น “รัฐประหารอำพราง”) ว่า มีสาเหตุมาจากการที่พรรค AFPFL ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนั้น ได้เกิดความขัดแย้งจนพรรค AFPFL ถึงกับต้องสลายตัวและแตกออกเป็นพรรคใหม่สองพรรค นั่นคือ พรรค Clean AFPFL ที่นำโดยอู นุ และพรรค Stable APFPFL ที่นำโดยบาซเว และการแตกของพรรคการเมืองนี้ได้นำไปสู่ความแตกแยกภายในกองทัพด้วย   นายทหารส่วนใหญ่อยู่ข้างพรรค Stable AFPFL และต่อต้านพรรค Clean AFPFL ของ อู นุ โดยนอกจากปัจจัยเรื่องจุดยืนทางการเมืองแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำ Stable AFPFL กับนายทหาร เช่น นายทหารบางคนเป็นน้องเขยของแกนนำ Stable AFPFL

ขณะเดียวกัน การแตกแยกในกองทัพ เห็นได้ชัดว่าเป็นการแตกระหว่างทหารฝ่ายเสนาธิการกับทหารฝ่ายคุมกำลัง

แม้ว่าข้อมูลของคาลาแฮนจะตรงกับของราเวนโฮลท์ที่ว่า หลังจากที่รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของ อู นุ รายงานต่อ อู นุว่า มีข่าวลือว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร เนื่องจากสถานการณ์ในย่างกุ้งก็ดี และในพื้นที่ต่างๆในชนบทก็ดี มีแนวโน้มจะเกิดความสับสนวุ่นวาย แต่นายพลเนวินปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว  และทางกองทัพได้ส่งพันเอกหม่อง หม่อง (Maung Muang) และพันเอกอ่อง ยี (Aung Gyi) ไปหารือกับอู นุ ในงานของคาลาแฮนได้กล่าวถึงบันทึกข้อความที่พันเอกหม่อง หม่อง ได้กล่าวก่อนที่จะมีการผ่องถ่ายอำนาจจาก อู นุไปยังนายพลเนวินว่า “เราไม่ต้องการให้พวกเขาทำรัฐประหาร ดังนั้น เราจึงตัดสินที่จะทำรัฐประหารก่อน”  และจากคำกล่าวนี้เอง ทำวาตาเบสรุปได้ว่า พันเอกหม่อง หม่อง และพันเอกอ่อง ยี น่าจะเป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกดดัน อู นุ โดยขู่ว่าจะยึดอำนาจ ส่งผลให้ อู นุ ตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑

ทหารฝ่ายที่ต่อต้านอู นุ คือทหารสายกำลัง และเป็นฝ่ายที่กดดันอู นุโดยขู่ว่าจะทำรัฐประหาร เพื่อหวังจะสร้างสูตรผสมใหม่ระหว่างทหารกับพลเรือน  ซึ่งน่าจะหมายถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยแกนนำของพรรค Stable AFPFL ร่วมกับแกนนำของทหารสายกำลัง

แต่จากข้อมูลที่ได้มานั้น ไม่มีการกล่าวถึงนายพลเนวิน ดังนั้น จึงไม่สามารถกล่าวได้ชัดเจนถึงบทบาทของนายพลเนวินในการกดดันให้ อู นุ ลาออกเพื่อตนจะได้เข้ามาแทน

แต่นายพลเนวินได้เข้ามาแทรกแซงแผนการทำรัฐประหารของพันเอกหม่อง หม่องและพันเอกอ่อง ยี  ผ่านการต่อรองเจรจากับ อู นุ ให้มีการผ่องถ่ายอำนาจมาที่กองทัพเสีย และยืนยัน “เป้าหมายร่วมกัน” ของกองทัพ โดยประกาศผ่านเอกสารที่มีชื่อ “อุดมการณ์แห่งชาติและบทบาทในการป้องกันประเทศ” โดยมีเป้าหมาย ๓ ประการ ได้แก่

๑) นำบ้านเมืองกลับสู่การเคารพกฎหมายและความสงบเรียบร้อย

๒) ปลูกฝังประชาธิปไตย

๓) สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม โดยนายพลเนวินจะเป็นผู้นำกองทัพกลับสู่ความเป็นเอกภาพ

จากข้อมูลของคาลาแฮนที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของวาตาเบ ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือคำกล่าวของพันเอกหม่อง หม่องที่ว่า “เราไม่ต้องการให้พวกเขาทำรัฐประหาร ดังนั้น เราจึงตัดสินที่จะทำรัฐประหารก่อน”

เราสามารถตีความข้อความนี้ได้ดังต่อไปนี้คือ

จากจุดเริ่มต้นที่รัฐมนตรีมหาดไทยรายงานเรื่องข่าวลือรัฐประหาร แปลว่า ข่าวลือนี้มีจริง แต่จะเป็นความจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ข่าวลืออาจจะเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น แต่กองทัพไม่มีแผนการจะทำรัฐประหาร  หรือข่าวลือมีมูลความจริง นั่นคือ มีทหารจำนวนหนึ่งคิดทำรัฐประหาร

เมื่อรัฐบาลสอบถามไปยังนายพลเนวิน ซึ่งเป็นเสนาธิการทหารบก นายพลเนวินปฏิเสธ  การที่นายพลเนวินปฏิเสธนั้นย่อมถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทหารในกองทัพจะไม่มีแผนการทำรัฐประหาร  เพราะไม่มีนายทหารคนใดจะออกมายอมรับว่ากองทัพจะทำรัฐประหาร

การที่นายพลเนวินปฏิเสธ อาจหมายความว่า ตัวเขาและนายทหารฝ่ายเขา (ฝ่ายเสนาธิการ) ไม่มีแผนการที่จะทำรัฐประหาร แต่เขารู้ว่า มีทหารสายกำลังพยายามจะทำรัฐประหาร แต่เขาไม่เปิดเผยให้ฝ่ายรัฐบาลทราบ

ต่อมาตามข้อมูลของราเวนโฮลท์ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นแรกที่กล่าวว่า หลังจากนายพลเนวินปฏิเสธ ทางกองทัพได้ส่งพันเอกหม่อง หม่องและพันเอกอ่อง ยีไปเจรจากับรัฐบาลโดยชี้แจงว่า

หนึ่ง ประเทศกำลังอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อหายนะ

สอง กองทัพไม่ได้ต้องการจะทำรัฐประหาร

สาม กองทัพไม่ต้องการประกาศกฎอัยการศึก และจะไม่เป็นผู้เริ่มลงมือก่อน

สี่ กองทัพจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่จะทำให้กองทัพเสียหาย

ห้า กองทัพก็ไม่ยอมให้มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญที่พวกนักการเมืองในรัฐบาลบางกลุ่มพยายามจะใช้

หก กองทัพรับไม่ได้ที่พรรคการเมืองของ อู นุจะไปดึงพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป

โดยในงานของราเวนโฮลท์ไม่ได้แยกระหว่างพันเอกหม่อง หม่อง-พันเอกอ่อง ยี กับ นายพลเนวิน ทำให้คนอ่านเข้าใจว่า กองทัพมีเอกภาพ และหลังจากที่นายพลเนวินปฏิเสธเรื่องข่าวลือ กองทัพได้ส่งนายพันเอกสองนายไปพบ อู นุ

แต่จากงานของคาลาแฮน พันเอกหม่อง หม่องและพันเอกอ่อง ยี เป็นทหารคนละฝ่ายกับนายพลเนวิน และสองพันเอกนี้มีทีท่าที่จะสนับสนุนพรรค Stable AFPFL และต่อต้านรัฐบาลอู นุที่จะดึงพรรคคอมมิวนิสต์มาร่วมรัฐบาลแทนนักการเมืองของพรรค AFPFL ที่แตกตัวเป็นตั้งพรรค Stable AFPFL และนายทหารสายคุมกำลังย่อมจะไม่พอใจที่จะดึงพวกคอมมิวนิสต์มาเข้าร่วมรัฐบาล เพราะนายทหารสายกำลังต้องต่อสู้หน้างานกับพวกกบฎคอมมิวนิสต์ตามพื้นที่ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ถ้าบันทึกคำกล่าวของพันเอกหม่อง หม่องมีมูลความจริง ก็แปลว่า มีทหารที่กำลังคิดจะทำรัฐประหารจริงๆ ซึ่งเป็นคนละพวกกับเขา เขาจึงต้องรีบชิงทำรัฐประหารเสียก่อน

ไม่ว่าจะมีทหารฝ่ายใดคิดทำรัฐประหารก่อนหน้าพันเอกหม่อง หม่องหรือไม่ แต่ที่แน่ๆคือ หลังจากที่ อู นุประมวลผลข้อมูลที่เขาได้รับทราบมา เขาตัดสินใจลาออกและประกาศต่อสาธารณะ “เชิญ”ให้นายพลเนวินเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยเขาและพรรค Clean AFPFL จะเสนอชื่อนายพลเนวินให้สภาลงมติ ทำให้แผนการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นของทหารฝ่ายใดแท้งไปโดยปริยาย เพราะเมื่อนายพลเนวินได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นกลาง ไม่เป็นพวกของพรรคการเมืองฝ่ายไหน จึงได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจากกระแสสาธารณะพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ การเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจากความแตกแยกของนักการเมืองสองขั้ว นั่นคือ ขั้ว Clean AFPFL และขั้ว Stable AFPFL ต่างฝ่ายต่างส่งคนของตัวเองลงท้องถนน พร้อมที่จะปะทะและเกิดจลาจล

แม้ว่า นายพลเนวินจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยการลงมติของสภาและเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถือว่าประหลาด ที่อยู่ดีๆนักการเมืองที่เป็นนายกรัฐมนตรีลาออกแล้วไปเชิญนายพลคนหนึ่งมาให้สภาลงมติ

แต่ก็ไม่มีอะไรผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญพม่า มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๕๗ กล่าวเพียงว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คือผู้ที่สภาลงคะแนนเสียงรับรองเกินครึ่ง และไม่ได้กำหนดว่า ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหลังจากที่นายกรัฐมนตรีลาออก สภาจะต้องลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีและเสนอชื่อต่อประธานาธิบดีภายในสิบห้าวัน 

แน่นอนว่า ทหารส่วนใหญ่ในกองทัพย่อมยอมรับการขึ้นสู่อำนาจของนายพลเนวิน เพราะต้องการให้กองทัพกลับสู่ความเป็นเอกภาพ มากกว่าที่จะต้องมาแตกแยกขัดแย้งกันเพราะต่างฝ่ายต่างสนับสนุนพรรคการเมืองคนละพรรค สู้ให้กองทัพเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศไปเลยดีกว่า

บทเรียนจากวิกฤตการเมืองของพม่าในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๑ คือ ตาอินกับตานาทะเลาะแย่งปลากัน ไปๆมาๆ ก็ตาอยู่ก็เอาไปกิน