posttoday

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

04 เมษายน 2565

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

การเมืองพม่าในปี พ.ศ. 2501  รัฐบาลพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” เกิดเสียงแตก ทำให้ อู นุ นายกรัฐมนตรีต้องไปต่อรองขอเสียงสนับสนุนพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่เป็นฝ่ายค้าน โดยหวังว่าจะช่วยให้รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ โดยยอมให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามาร่วมรัฐบาลแทนเสียงที่แตกออกไป 

แต่ทหารสายเหยี่ยวในกองทัพพม่าไม่เห็นด้วยกับการที่ อู นุ จะให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามาร่วมรัฐบาล เพราะปีกซ้ายของพรรคฝ่ายค้านมีพวกคอมมิวนิสต์พม่าแฝงอยู่ ซึ่งทหารสายเหยี่ยวเห็นว่า คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง  เพราะพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามีมาตรการใช้กำลังความรุนแรงในการช่วงชิงอำนาจรัฐเพื่อปฎิวัติไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ตรงจุดนี้ แหล่งอ้างอิงต่างๆกล่าวตรงกันว่า อู นุ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ตุลคม พ.ศ. 2501  และต่อมา เนวิน ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารพม่าเข้าทำการปกครองประเทศ

ขณะเดียวกัน แหล่งอ้างอิงต่างๆดังกล่าวก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเนวินนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการ “รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ”  หรือที่เรียกว่า “constitutional coup”  ซึ่ง คิม เลน สเคบพลี (Kim Lane Scheppele) ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายและการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยพรินส์ตันได้อธิบาย “รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ” ว่าคือ การยึดอำนาจภายใต้กรอบกฎหมาย

รัฐประหารพม่า ในปี พ.ศ. 2501 เกิดขึ้นตามกรอบรัฐธรรมนูญได้อย่างไร มันมีช่องหรือซอกของกฎหมายอะไรที่ให้ทำรัฐประหารหรืออย่างไร  ? และอยู่ดีๆ ทำไม เนวิน ถึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลรักษาการ ?

ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า ถ้าพรรค พรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” เสียงไม่แตก ก็ไม่เกิดเงื่อนไขเบื้องต้นให้มี “รัฐประหารตามรัฐธรรมนูญ” ที่เปิดโอกาสให้เสนาธิการทหารบกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ

แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดเสียงแตกในพรรคการเมืองถือว่าเป็นสิ่งปกติ ไม่ว่าจะในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี ปรากฎการณ์เสียงแตกภายในพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยเกินไป เพราะถ้าบ่อยเกินไป มันก็ไม่น่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน แต่จะกลายเป็นการรวมตัวของกลุ่ม ก้อน ก๊วน มุ้ง และพวกไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดรัฐประหาร

การเกิดเสียงแตกภายในพรรคไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่งคงของรัฐบาลเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับระบบการเมือง เพราะอย่างประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่แยกชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยผ่านการเลือกตั้งคนละทีและไม่เกี่ยวกัน  แม้พรรคของประธานาธิบดีจะเสียงแตกในสภาคองแกรสเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ส่งผลให้ประธานาธิบดีต้องล้มพับไป

แต่ระบบการเมืองแบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของเสียงข้างมากของ ส.ส.ในสภา หากเสียงข้างมากในสภาแตกจนทำให้รัฐบาลไม่ได้เสียงเกินครึ่งของสภา ก็จะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

ในกรณีระบอบการปกครองของพม่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 เป็นแนวของฝรั่งเศส นั่นคือ แบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา แต่จะต่างจากของฝรั่งเศสตรงที่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะมีอำนาจในการบริหารมาก และประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  คนจะได้ยินชื่อประธานาธิบดีมากว่านายกรัฐมนตรี

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

45 ปี 6 ตุลาฯ (ตอนที่ยี่สิบสี่): แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ส่วนประธานาธิบดีของพม่า แม้จะทำหน้าที่ประมุขของรัฐ แต่มีอำนาจบริหารน้อยมาก และไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการเลือกของรัฐสภา (ทั้งสองสภา) ส่วนผู้ที่มีอำนาจบริหารมากตามระบอบการปกครองของพม่าคือ นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเสนอชื่อของสภาไปยังประธานาธิบดีส่วนนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสไม่ได้มาจากสภา แต่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี และประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรี  แต่สามารถขอให้ลาออกได้

ระบอบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาของฝรั่งเศสมีความสลับซับซ้อนพอสมควร นอกจากที่กล่าวไปแล้วว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสไม่ได้มีอำนาจมากเหมือนประธานาธิบดี และได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี อีกทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังอาจจะต้องเลือกตั้งถึงสองรอบก็ได้ เพราะตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า

“ให้ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมาจากการเลือกตั้งโดยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ทั้งนี้หากไม่ได้รับเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงรอบแรก ให้จัดให้มีการลงคะแนนเสียงรอบที่สอง ภายหลังจากนั้นสิบสี่วัน เฉพาะผู้สมัครเพียงสองคนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการลงคะแนนเสียงรอบแรกที่ไม่ได้ถอนตวออกจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงในรอบที่สอง”

แน่นอนว่า ผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก

คำว่าเสียงข้างมากเด็ดขาดในระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสหมายถึง จะต้องคะแนนเสียงเกินครึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมด

สมมุติว่า มีใครนำระบบฝรั่งเศสมาใช้ในประเทศไทย   ดูจากสถิติจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งตีให้กลมๆคือ 38 ล้านคน ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะชนะเลือกตั้งโดยไม่ต้องเลือกรอบสองจะต้องได้คะแนนเกิน 19 ล้านเสียง

ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของคะแนนเสียงทั้งหมดมีอยู่ครั้งเดียว นั่นคือ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2548 ได้คะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 61.17 จะว่าเป็นเพราะความนิยมในตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคคือ ทักษิณ ชินวัตร ก็มีส่วนอย่างยิ่ง 

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยได้ควบรวมพรรคการเมืองอื่นๆหลายพรรคเข้ามาอยู่ในพรรคไทยรักไทยแล้ว  ซึ่งพรรคเหล่านั้นนั้นก็มีฐานเสียงของตัวเองอยู่ด้วย  และต่อมาเมื่อพรรคเหล่านั้นแตกตัวออกไป จะเห็นได้ว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2550 ที่พรรคพลังประชาชน (ไทยรักไทยเดิม) แม้จะได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้เกินครึ่งอีก และหลังจากนั้น ก็ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดอีกเลย

แต่กระนั้น ก็มีข้อน่าสังเกตถึงอิทธิพลความนิยมที่ประชาชนมีต่อตัว ทักษิณ ชินวัตร เพราะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 41.08  แต่ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 ที่พรรคเพื่อไทย (พลังประชาชนและไทยรักไทยเดิม) ชู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (น้องสาว ทักษิณ) ให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค ปรากฏว่า ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยได้คะแนนมากกว่าพรรคพลังประชาชนสมัยนายสมัคร โดยพรรคเพื่อไทยได้คะแนนร้อยละ  48.41%

ดังนั้น จึงน่าสนใจติดตามการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปที่ทางพรรคเพื่อไทยได้ชู แพทองธาร บุตรสาว ทักษิณว่า  จะได้คะแนนเสียงมากเท่าหรือมากกว่าสมัยยิ่งลักษณ์หรือไม่ ?

ขณะเดียวกัน ก็คงมีคนบางคนหรือนักการเมืองบางคน อดคิดไม่ได้ว่า ถ้านำระบบประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาใช้ นักการเมืองคนใดจะสามารถชิงชัยได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย !!??

แต่กล่าวได้ว่า หากนำระบอบการปกครองของฝรั่งเศสมาใช้ และใช้ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบฝรั่งเศส คนไทยก็จะต้องปรับตัวในการลงคะแนนเพื่อจะเลือกนักการเมืองคนใดคนหนึ่งให้ได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด และหากไม่ได้ ก็จะต้องเลือกรอบสอง โดยเหลือแค่ผู้สมัครสองคนที่ได้คะแนนมากที่สุดในรอบแรก  น่าคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในการเมืองไทย ?

ดังนั้น ใครที่คิดว่าจะนำระบอบการปกครองของฝรั่งเศสมาใช้ในเมืองไทย ควรไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนว่า เข้าใจกลไกของระบอบแค่ไหน และประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเข้าใจแค่ไหน ? มิฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องติดหล่มไม่เดินหน้าไปไหน แต่อาจจะต้องล้มลุกคลุกคลานกันอีกนาน กว่าระบอบใหม่จะตั้งมั่นได้

กลับมาที่วิกฤตการเมืองพม่าในปี พ.ศ. 2501 ภายใต้ระบอบการเมืองที่นายกรัฐมนตรีมาจากการสภา และจะต้องได้เสียงข้างมากในสภาตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญพม่า พ.ศ. 2490  เมื่อพรรค “สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” เสียงแตก การที่ อู นุในฐานะหัวหน้าพรรคก็ไปขอเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับระบอบการเมืองแบบรัฐสภาทั่วไป ที่ทหารไม่มีอิทธิพลเข้าแทรกแซงการเมือง การที่รัฐบาลเปิดให้พรรคฝ่ายค้านมาเข้าร่วมรัฐบาลแทนเสียงที่แตกไป เพื่อสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้  ก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาร้ายแรงอะไร 

แต่เนื่องจากภายใต้ยุคสงครามเย็นที่เป็นความขัดแย้งทั้งทางอุดมการณ์และผลประโยชน์ของมหาอำนาจสองฝ่าย และมหาอำนาจต่อสู้กันผ่านสงครามตัวแทน (proxy war) ในประเทศต่างๆ  กลุ่มการเมืองต่างๆภายในประเทศอย่างพม่า รวมทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไทย ฯลฯ ย่อมต้องตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และเป็นตัวแทนของมหาอำนาจ ต่อสู้กันเองภายในประเทศ ทหารสายเหยี่ยวของพม่าปฏิเสธคอมมิวนิสต์ที่แฝงอยู่ในปีกซ้ายของพรรคแนวร่วมสหภาพแห่งชาติที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน  ซึ่งนักการเมืองสายคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ต่างชาติอยู่

ขณะเดียวกัน มหาอำนาจฝ่ายตะวันตกอย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่กองทัพพม่ามาตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2493

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ฝ่ายซ้ายที่เป็นคอมมิวนิสต์ในพม่าคือตัวแทนของมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ ส่วนกองทัพในส่วนที่เป็นสายเหยี่ยวก็เป็นตัวแทนของฝ่ายตะวันตก ทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็นนน

คราวหน้าจะได้คลี่ให้เห็นว่า ตกลงแล้ว อู นุ ลาออกเพราะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วเสียงไม่พอ เพราะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ? หรือ

อู นุ สามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน แต่หลังจากนั้น ก็ยังจะต้องลาออก ?