posttoday

การตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในสถานการณ์สงคราม

28 มกราคม 2565

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**************

ในวาระครบ 80 ปีการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการเพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ วิทยากรผู้ร่วมการเสวนาที่ขออนุญาตออกชื่อท่านไว้ได้แก่ พันเอก ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ และอาจารย์ ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล การเสวนามีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล เป็นผู้ดำเนินการ

บทความเดือนนี้ขอนำประเด็นหนึ่งที่ได้ข้อคิดจากการฟังเสวนานัดนี้มารายงานให้ท่านผู้อ่านทราบ นั่นคือ การศึกษาการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น มีแง่มุมให้พิจารณาได้เป็นหลายทาง ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับโจทย์ในใจหรือคำถามการวิจัยของผู้ศึกษา

การตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในสถานการณ์สงคราม

อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเข้าถึงเอกสารหลักฐานของไทยและของต่างประเทศ และการพิจารณาให้น้ำหนักความสำคัญอย่างไรแก่ทัศนะและคำอธิบายของผู้เกี่ยวข้องในการตัดสินใจในสถานการณ์สงคราม ซึ่งในกรณีของประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มักนับตั้งต้นกันในวันที่ญี่ปุ่นบุกคือวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งตามมาด้วยการลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคมปีเดียวกัน และพอข้ามเข้าปีใหม่มา ประเทศไทยก็ตัดสินใจประกาศสงครามกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรคือบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในเวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942

การตัดสินใจของประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามใน 3 จังหวะนี้ยังมีนัยสำคัญทางการเมืองเพราะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้นำคณะราษฎรภายในรัฐบาลเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป.กับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีผลกระทบตามมาอีกมากในระหว่างสงครามและภายหลังจากสงครามยุติแล้ว ทั้งในทางชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตทางการเมืองของประเทศ แม้ในเวลาที่บุคคลทั้ง 2 พ้นจากตำแหน่งการเมืองโดยสิ้นเชิงแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดจากการเสนอความเข้าใจการตัดสินใจในระหว่างสถานการณ์สงครามก็มิได้จบลง ดังจะเห็นได้จากในเวลาบั้นปลายชีวิต อาจารย์ปรีดียังต้องใช้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่พึ่งเพื่อจัดการกับฝ่ายที่อาจารย์ปรีดีเห็นว่าเสนอความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเข้าสงครามของไทยและการหาทางรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2

กล่าวได้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะสงครามระหว่างผู้นำฝ่ายทหารและผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรเป็นปัจจัยสำคัญที่มาสลายพลังความเข้มแข็งทางการเมืองของคณะราษฎรและพลิกการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงสู่เส้นทางที่ถูกกำหนดโดยผู้นำทหารและอำนาจของกองทัพอย่างยาวนานจนเปลี่ยนไปอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจะเป็นการศึกษาในเชิงวิชาการโดยมีระเบียบวิธีวิจัยกำกับ หรือการเก็บรับบทเรียนทางการทูตในระหว่างสงครามเพื่อความรู้และประโยชน์ในทางปฏิบัติวิธีแล้ว จึงยังมีนัยสำคัญทางการเมืองต่อสถานะของผู้นำคณะราษฎร และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการเมืองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยร่วมสมัยอยู่ด้วย

เช่น ถ้าอิงความเข้าใจที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์นำเสนอไว้ในเอกสารคำฟ้อง ก็จะเข้าใจว่าอาจารย์ปรีดีมิได้เห็นว่าระบอบการเมืองไทยหลัง 2475 มีลักษณะเดียวกันโดยตลอด มีทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตยและส่วนที่หันเหและไม่เป็นประชาธิปไตยที่สร้างปัญหามากจนต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ หรือความคิดชาตินิยมไทย ที่การตีความในรุ่นหลังมักเสนอกันว่าจอมพล ป. ได้รับอิทธิพลความคิดชาตินิยมมาจากรัชกาลที่ 6 อาจารย์ปรีดีก็แย้งว่านี่เป็นการเข้าใจผิด หรืออย่างน้อยความคิดชาตินิยมและแนวนโยบายเกี่ยวกับความเป็นชาติของรัชกาลที่ 6 ส่งอิทธิพลมาหลายทาง ไม่จำเพาะแต่แนวทางของจอมพล ป.กับหลวงวิจิตรวาทการ

การตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในสถานการณ์สงคราม

ดังอาจารย์ปรีดีได้ระบุว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมรับระบบยุวชนทหารแบบฮิตเลอร์เข้ามาในมหาวิทยาลัยนี้ [คือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง] โดยข้าพเจ้าได้จัดให้นักศึกษาเตรียมปริญญาสมัครเป็นลูกเสือสมุทรเสนาเพื่อฝึกฝนอบรมให้เกิดคติรักชาติที่ถูกต้องตามแนวทางของพระมงกุฎเกล้าฯ” แม้การประกาศสงครามของจอมพล ป. อันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างปัญหา “โมฆสงคราม” ในเวลาต่อมา อาจารย์ปรีดีก็เทียบให้เห็นชัดกับคำประกาศสงครามของรัชกาลที่ 6 ว่าเหตุผลเป็นคนละอย่าง และยืนอยู่กับหลักการคนละแบบ

แต่ถ้ายึดตามหนังสือชีวประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงครามของ พลโทอนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายคนโตของท่านจอมพล และอาจารย์ปรีดี ได้ยกข้อความมาอ้างไว้ในเอกสารคำฟ้องของท่านด้วย สะท้อนว่า จอมพล ป. มองการดำเนินการของขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของอาจารย์ปรีดี และผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวท่านภายหลังจากที่ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 ด้วยความเจ็บปวด ในขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นบาดแผลทางใจที่เรียกว่า trauma ข้อความตอนนั้นมีอยู่ว่า

"จอมพล ป. พิบูลสงครามขณะนั้นเหมือนพญาราชสีห์วัย 49 ที่ยังบริบูรณ์ด้วยเขี้ยวเล็บ แต่ยังเจ็บไม่หายจากการถูกพวก ‘เสรีไทย’ ลอบกัดและข่วน บัดนี้บรรดาเพื่อนราชสีห์ทั้งหลายกำลังถูกทำร้ายเอาอีกต่อหน้าต่อตา กองทัพไทยซึ่งอยู่ระหว่างสงคราม เปรียบประดุจฝูงราชสีห์ที่มีราชสีห์นำ บัดนี้ถูกฝูงลูกแกะหมิ่นเกียรติ กำลังจะ ‘ฮึด’ ขึ้นมาจริงๆ ด้วยความคับแค้นทั้งกายและใจ"

การจะต้องพิสูจน์กันว่าใครกันแน่ที่เป็น “ราชสีห์” ใครเป็น “ลูกแกะ” ในประวัติศาสตร์บาดแผลของการเมืองไทยจึงมิได้เกิดขึ้นที่เหตุการณ์ร.ศ. 112 ซึ่งกระทบความรู้สึกส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ในแง่ที่ว่า “กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤาว่างวาย” แต่การต้องพิสูจน์ความเป็นราชสีห์กับความเป็นลูกแกะที่ส่งผลต่อมายาวนานในการเมืองไทย เกิดมาจากการ “ฮึด” สู้ของฝ่าย “ราชสีห์” ที่อาจารย์ปรีดีก็ทราบและเข้าใจบุคลิกของผู้เป็น “พญาราชสีห์” คนนี้ดีจากคำให้การของหลวงอดุลเดชจรัสต่อศาลคดีอาชญากรสงคราม

เมื่อเวลาล่วงเลยมา และจากเอกสารคำฟ้องเพื่อแก้การบิดเบือน “สัจจะทางประวัติศาสตร์” ที่ทำให้อาจารย์ปรีดีต้องหันไปพึ่งศาลสถิตยุติธรรม และให้ถือเอกสารคำฟ้องนี้เสมือนว่าเป็น “อนุสาวรีย์” ของท่าน สะท้อนว่าการสมานเข้าหากันระหว่างผู้นำคณะราษฎรทั้ง 2 ถ้าจะมีใครหาทางเชื่อมอยู่บ้าง มิได้เกิดผลอะไรขึ้นมา แต่ความเข้าใจและการศึกษาประวัติศาสตร์ยังคงดำเนินต่อมา และปัจจุบันก็ใช้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่สร้างความขัดแย้งอันสมานไม่ได้ระหว่างผู้นำคณะราษฎรทั้ง 2 ในความหมายและการรับใช้เป้าหมายของปัจจุบันในทางต่างๆ กัน

วิทยากรทั้ง 3 ท่านในวงเสวนาเมื่อวันก่อนชวนกันอภิปรายประวัติศาสตร์การเมืองการต่างประเทศของไทย เนื้อหาการเสวนา จึงไม่ได้วกเข้าหาการเมืองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่จะเปิดประเด็นอีกแบบหนึ่ง การเสวนาทำให้เห็นว่าการจะเปิดประเด็นใหม่ๆ เพื่อศึกษาไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และการตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในระหว่างสงครามในทางวิชาการทำได้หลายทางด้วยกัน

ตามที่ข้าพเจ้าจดจากการฟังเสวนา เก็บความมาได้ดังนี้ การตัดสินใจของไทยในสถานการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพาทั้ง 3 จังหวะที่เกิดต่อเนื่องกัน คือ การตัดสินใจในวันที่ 8 ธันวา ที่ญี่ปุ่นขึ้นและยื่นข้อเรียกร้องขอให้ประเทศไทยเปิดทางให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่าและบริติชมาลายา การตัดสินใจทำกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น และการประกาศสงครามกับมหาอำนาจสัมพันธมิตร อยู่ในความรับผิดชอบของจอมพล ป. โดยตรง และเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไทยดำเนินมาก่อนหน้านั้นอย่างพลิกด้าน

กล่าวคือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปในเดือนกันยายน 1939 จอมพล ป. –ซึ่งตอนนั้นนอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มหาดไทยและกลาโหมไปพร้อมกัน– ได้ตัดสินใจให้ไทยดำเนินนโยบายวางตนเป็นกลางในสงครามที่เกิดขึ้นในยุโรป และในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนมิถุนายน 1940 ประเทศไทยได้ทำความตกลงกับสหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน และทำสนธิสัญญาว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น “เพื่อยืนยันสันติภาพเป็นนิจและมิตรภาพเป็นนิรันดร” และต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน

อาจารย์ธีวินท์ สุพุทธิกุล ผู้ดำเนินรายการเสนอเปิดประเด็นนำการเสวนาว่า บางคนเห็นว่าการดำเนินนโยบายแบบพลิกกลับด้านของไทยมาจากการที่ไทยต้องการแสวงผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในอินโดจีน ซึ่งตั้งต้นที่ผลของสงครามในยุโรป ที่เยอรมนีใช้การรบแบบสายฟ้าแลบเอาชนะฝรั่งเศสได้อย่างเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้เพียง 10 วันหลังจากที่ไทยกับฝรั่งเศสลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน ฝรั่งเศสก็ต้องลงนามในความตกลงสงบศึกกับนาซีเยอรมนี และรัฐบาลและระบอบการเมืองสาธารณรัฐที่ 3 ของฝรั่งเศสก็เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลวิชีภายใต้การนำของจอมพลเปแตง พร้อมกับที่นายพลเดอโกลจัดตั้งขบวนการ France Libre หรือ เสรีฝรั่งเศส และรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น

แต่อำนาจการปกครองอินโดจีนฝรั่งเศสเยอรมนีมอบให้อยู่ในมือของรัฐบาลวิชีที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่ออำนวยการให้ความร่วมมือกับเยอรมันในการทำสงคราม ในขณะที่อินโดจีนฝรั่งเศสถูกญี่ปุ่นรุกหนักด้วยข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเข้ามาจัดตั้งกองกำลังสำหรับการสงครามในจีนและแผ่เงาสงครามเข้ามาคลุมภูมิภาคที่ญี่ปุ่นหมายตาที่จะใช้เป็นฐานทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ยางพารา และอาหาร

แต่ถ้าพิจารณาจากเอกสารร่วมสมัย เช่น บทวิเคราะห์ “ฐานะของประเทศไทยในสงครามคราวนี้” ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 1940 สะท้อนอยู่เหมือนกันว่าไทยมองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมในภูมิภาคที่จะเป็นภัยต่อไทยได้มากที่สุดว่าจะมาจากญี่ปุ่น และในการจะรับมือกับภัยคุกคามที่เป็นไปได้มากที่สุดต่อความมั่นคงของไทยนี้

หลวงวิจิตรวาทการเสนอให้พิจารณาจากทางเลือกต่างๆ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของประเทศไทยในการป้องกันตัวเอง และที่ตั้งของไทยที่อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจแต่ละฝ่าย ที่ต่างฝ่ายเตรียมพร้อมจะใช้กำลังต่อกันเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคง ฝ่ายตะวันตกต้องการรักษาสถานภาพเดิมในการปกครองอาณานิคมในภูมิภาค ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมเพื่อเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่ถูกชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ปิดกั้นและปิดล้อม

แง่มุมใหม่ในการทำความเข้าใจไทยกับสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจมาจากการค้นพบเอกสารหลักฐานร่วมสมัยที่ยังไม่เคยมีผู้ศึกษาคนใดเคยเข้าถึงมาก่อน เช่นที่พันเอก ดร.สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจได้ค้นพบเอกสารที่เป็นรายงานของฝ่ายญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับสถานการณ์และการเคลื่อนไหวของฝ่ายไทยเพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่น แต่ถูกฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ ดักฟังและถอดรหัสได้โดยตลอดเวลา จึงมีการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้ประโยชน์ในงานข่าวกรองในระหว่างสงคราม เอกสารในหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ เหล่านี้ (RG 457) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเคยถูกจัดชั้นความลับไว้ในระดับสูง เพิ่งมีการเปิดให้เข้าถึงได้ทั่วไปและยังไม่มีใครได้มีโอกาสอ่านและใช้ประโยชน์มากนัก

การเปิดประเด็นศึกษาอีกทางหนึ่งคือการใช้กรอบการวิเคราะห์ใหม่ ๆ มาอ่านเอกสารหลักฐานทั้งที่เคยใช้การมาเดิมและเอกสารที่ยังไม่มีใครใช้ เพื่อเสนอคำอธิบายใหม่หรือเสนอการตีความใหม่เพื่อเปลี่ยนความเข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เดิมที่เคยมีผู้อธิบายหรือตีความไว้ ดังที่อาจารย์พีระ เจริญวัฒนนุกูลเสนอกรอบแนวคิด ontological security มาศึกษานโยบายต่างประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะช่วยพาให้ความรู้ที่ได้จากการศึกษานโยบายต่างประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะ ต่อสายเข้ากับการขยายข้อถกเถียงและการพัฒนาทฤษฎีในเวทีวิชาการระดับนานาชาติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

แนวทางเปิดประเด็นศึกษาใหม่อีกลักษณะหนึ่งมาจากข้อเสนอที่น่าสนใจหลากหลายเรื่องของอาจารย์ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ส่วนที่ข้าพเจ้าชอบใจเป็นพิเศษ คือการศึกษามิติทางสังคมที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในระยะเวลาที่ประเทศและโลกตกอยู่ท่ามกลางสงคราม การเตรียมรับมือกับสงคราม หรือเมื่อประเทศถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามแล้ว อีกส่วนหนึ่ง คือการศึกษาในเชิงชีวประวัติและบทบาทของบุคคลที่ทำงานอยู่ในกระบวนการดำเนินความสัมพันธ์ หรือเป็นกลไกส่วนที่ขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายทั้งในทางการทูต การข่าว และการรบ และผลที่เกิดขึ้นจากบทบาทเหล่านั้น กับผลที่เกิดขึ้นต่อตัวบุคคลเหล่านั้น ซึ่งหลายคนก็จบบทบาทและจบชีวิตอย่างทิ้งเงื่อนงำไว้

การตัดสินใจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในสถานการณ์สงคราม

แนวทางการสร้างและขยายความรู้แบบนี้เองที่จะเป็นประโยชน์ไม่แต่เฉพาะวงวิชาการ แต่เป็นประโยชน์ต่อความคิดความเข้าใจที่เปิดรับมุมมองเกี่ยวกับอดีตได้อย่างกว้างขวาง ไม่ถูกยึดไว้โดยเรื่องเล่าแม่บทของใครบางคนทั้งที่เพื่อสร้างชาติหรือเพื่อลบชาติ และลดทอนความคิดในการจะเอาอดีตไปฝากให้ใครรุ่นไหนแบกไว้เป็นภาระ หรือรับทำภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เสร็จสิ้น แต่จะสนุกมากกว่าและเรียนรู้ไปกับประวัติศาสตร์ได้ดีกว่าไหม ที่จะเห็นอย่างที่บางท่านว่า The past is a foreign country; they do things differently there