posttoday

20 ปี สสส.

07 ธันวาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

****************

สำหรับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์อย่างผู้เขียน วันเวลาย่อมผ่านไปเร็วมาก ไม่ทันไร สสส. ก็อายุครบ 20 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ เพราะ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 โดยมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ. นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 จึงเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งแต่ก่อนมุ่งแน้นแต่ “การให้สุขศึกษา” เป็นหลัก ซึ่งเหมาะแก่ยุคสมัยที่ปัญหาใหญ่เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องของโรคระบาด แต่เมื่อปัญหาเปลี่ยนไป ปรัชญาและแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพก็ต้องพัฒนาไป แม้ธรรมชาติหรือธาตุแท้ของมนุษย์จะยังคงเหมือนเดิมโดยพื้นฐาน

มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่มีเหตุผล แต่บ่อยครั้งที่ทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือขัดต่อเหตุผล แต่มักจะมีเหตุผลมากมายอธิบายว่าทำไมจึงทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผล

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์มีมันสมองที่พัฒนามากกว่าสัตว์โลกชนิดใด ทำให้มนุษย์ฉลาดที่สุด จนนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มนุษย์ว่า Homo sapiens sapiens โดยคำว่า sapiens หมายถึงความฉลาด หรือปัญญา ชื่อเรียกมนุษย์มีคำว่า sapiens ถึง 2 คำ เพราะมนุษย์เป็นผู้ที่ “มีปัญญายิ่ง”

แต่เพราะมีมันสมองที่พัฒนามากกว่าสัตว์ชนิดใด นอกจากมีปัญญาสูงยิ่งแล้ว มนุษย์ยังเป็นสัตว์โลกที่มีความเหงามากกว่าสัตว์โลกชนิดใด บ่อยครั้งที่มนุษย์ทำตาม “อารมณ์” เหนือเหตุผลก็เพื่อแก้ปัญหาความเหงานี้เอง

ทางเลือกแก้เหงาของมนุษย์ เป็นไปได้ทั้งทางกุศล และอกุศล หรือกลางๆ (อัพยากฤต) ทางอกุศลก็คือบรรดาอบายมุขต่างๆ ทางกุศลได้แก่ศิลปะ การมีความสุขจากการทำงาน และงานสาธารณกุศลต่างๆ ทางกลางๆ ซึ่งก่อได้ทั้งประโยชน์และโทษได้แก่การแสวงหาอาหารรสอร่อยลิ้น เป็นต้น

อบายมุขสิ่งแรกที่มนุษย์ค้นพบและชื่นชอบคือเหล้า และสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น บุหรี่ อันเป็นที่มาของ การกำเนิด สสส. นี้เอง

นอกจากอบายมุขแล้ว สิ่งที่ทำให้สุขภาพเสื่อมหรือถึงขั้นทำลายสุขภาพคือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์เอง เช่น การไม่รักษาความสะอาด การบริโภคมากเกิน การไม่ออกกำลังกาย

คนไทยรู้มานานแล้วว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” เหมือนฝรั่งที่มีสุภาษิตว่า Prevention is better than cure. แต่งานด้านสุขภาพของทุกประเทศล้วนทุ่มเทงบประมาณลงไปที่การซ่อมสุขภาพมากกว่าการสร้างสุขภาพทั้งสิ้น แน่นอนว่าเหตุผลสำคัญเป็นเพราะเทคโนโลยีการซ่อมสุขภาพมีราคาแพงกว่าและแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้งบประมาณด้านการสร้างสุขภาพสูงกว่าหรือสูงเท่าๆ กับการซ่อมสุขภาพ

สิ่งที่ควรทำและต้องทำคือ การให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพ และหาทางทำให้การลงทุนด้านการสร้างสุขภาพเป็นการลงทุนที่บังเกิดผลดีจริง คือ มีประสิทธิผล (effective) และคุ้มค่า (cost-effective)

สมัยก่อน ปัญหาสุขภาพที่สำคัญคือโรคติดเชื้อ ซึ่งบ่อยครั้งกลายเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ขณะที่ความรู้และเทคโนโลยีในการต่อสู้กับโรคเหล่านั้นมีจำกัด เช่น อหิวาตกโรค ที่การระบาดแต่ละครั้งทำให้คนตายไปมากมาย

สมัยก่อนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ใช้พิธีกรรมเข้าช่วย เช่น การระบาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2363 ระบาดนาน 15 วัน มีคนตายไปราว 3 หมื่นคน พงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 เรียกว่า “โรคป่วงใหญ่” ระบุว่าโรคระบาดมาทางทะเล จากเกาะหมาก (ปีนัง) เข้ามาสมุทรปราการแล้วเข้ามากรุงเทพฯ คนตายมากจนฝังและเผาศพไม่ทัน ทั้งที่วัดบางลำพู วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และโดยเฉพาะที่วัดสระเกศ มีศพมากจนแร้งลง เกิดตำนาน “แร้งวัดสระเกศ”

รวมทั้งมีศพลอยตามแม่น้ำลำคลองจำนวนมาก จนน้ำในแม่น้ำลำคลองกินไม่ได้ ทางการพยายามแก้ปัญหาโดยการทำพิธีอาฏานาฏิยสูตรด้วยการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน และอัญเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ ออกบำรุงขวัญราษฎร มีพระราชาคณะต่างๆ ออกโปรยทรายปลุกเสกทั่วทั้งพระนคร ให้ขุนนางและราษฎรถือศีลบำเพ็ญทาน ปล่อยสัตว์ แต่โรคก็ไม่สงบ ซ้ำร้ายราษฎรและพระภิกษุที่เข้าร่วมขบวนแห่และหามพระพุทธรูปบางคนบางรูปถึงขั้นล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาบ้านแล้วตายก็มาก ในการระบาดครั้งต่อมาจึงโปรดฯ ให้ยกเลิกการทำพระราชพิธีนี้เสีย

ต่อมา ความรู้เรื่องอหิวาตกโรคเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการระบาด เมื่อ พ.ศ. 2459 ที่จังหวัดนครราชสีมา มจ.สกลวรรณากร วรวรรณ อธิบดีกรมประชาภิบาล ซึ่งเวลานั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ยกกองไปป้องกันกำจัดโรค ทรงชวนนักประพันธ์คนสำคัญคนหนึ่งไปด้วย คือ หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) หรือ “ครูเหลี่ยม” ผู้แต่งนวนิยายเรื่องแรกที่เขียนโดยคนไทย คือ “ความไม่พยาบาท” ล้อเรื่องแปล “ความพยาบาท” ของ “แม่วัน” คือ พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ที่แปลจากเรื่อง Vandetta ของแมรี คอเรลลี

ครูเหลี่ยมได้แต่งบทกวีเพื่อ “ให้สุขศึกษา” ประชาชน ว่า

                             อหิวาต์กำเริบ

ล้างมือก่อนเปิบ               ด้วยน้ำประปา

ผักดิบผักสด                  งดเสียดีกว่า

หากใช้น้ำท่า                  จงต้มเสียก่อน

                               อาหารหวานคาว

เมื่อกินทุกคราว               เลือกแต่ร้อนร้อน

น้ำคลองต้องค้าน             อาหารสำส่อน

จำไว้ใคร่สอน                 กินไม่ดีเลย

บทกวีนี้แพร่หลายและยังใช้ประโยชน์ต่อมาราวครึ่งศตวรรษ

นอกจากบทกวีสู้อหิวาต์แล้ว “เครื่องมือ” อีกชิ้นหนึ่งที่มีการสร้างและเผยแผ่เข้าไปในโรงเรียนคือ “สุขบัญญัติ 10 ประการ” เพื่อสร้างสุขนิสัยให้แก่ประชาชน

***********************