posttoday

ปัญหาขยะ จัดการง่ายๆ ก็แค่นำมาเผาก็จบ จริงหรือ

01 พฤศจิกายน 2564

โดย ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

************************  

“เราสร้างขยะกันมากกว่า 2 พันล้านตันต่อปี และกว่า 37% ของขยะเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้พื้นโลกของเรา”

โลกของเราตอนนี้เต็มไปด้วยขยะ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือภายใต้พื้นดินที่เราฝังขยะเหล่านี้สร้างปัญหามลพิษให้กับดิน อากาศ และน้ำใต้ดิน และอีกทั้งยังมีคนจำนวนมากที่ทิ้งขยะลแม่น้ำ ลำคลอง หรือ มหาสมุทร เพราะพวกเขาไม่อาจเข้าถึงการจัดการขยะที่ถูกต้องได้

“ด้วยปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายในทุกๆ ปี มีเพียง 20% เท่านั้น ที่ถูกนำมารีไซเคิล”

การเผาเป็นการกำจัดปริมาณขยะที่เร็วที่สุด เพราะสามารถทำได้ครั้งละจำนวนมากด้วย ทำให้ในทุกๆปี ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการเผาขยะที่สร้างขึ้นกว่า 1 พันล้านตัน ต่อปี แต่ในจำนวนนี้ ก็มีการเผาขยะแบบไม่ถูกวิธี เช่น การเผาขยะในที่โล่ง ซึ่งกำลังส่งผลกระทบมากมายกับสิ่งมีชิวิตและโลกของเรา

ปัญหาขยะ จัดการง่ายๆ ก็แค่นำมาเผาก็จบ จริงหรือ

Figure 1: Open Burning

กำจัดขยะด้วยวิธีการเผาขยะบนพื้นที่เปิดโล่ง (Open Burning) ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมากมาย เช่น ควัน, ฝุ่นละออง, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ตลอดจนก๊าซโอโซน หรือ อื่นๆ และนอกจากนี้ การเผาขยะในที่โล่ง ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก เป็นสาเหตุทำให้โลกของเราตอนนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและร้อนขึ้นทุกปี

การเผาขยะ สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์มากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากขยะที่นำไปเผามีพลาสติกที่มีส่วนผสมของ PVC (Polyvinyl Chloride) หากมีการเผาไหม้ จะเกิด “สารไดออกซิน” และ “ฟิวแรน” ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็ง หากได้รับการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจจะเป็นมะเร็งได้

“Waste to Energy หรือ โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ คือ กุญแจการแก้ปัญหาขยะทั่วโลก”

การเผาไหม้สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ถึง 90% ด้วยการเผาไหม้แบบควบคุมเป็นการทำลายมลพิษที่ฝังอยู่ในขยะ และเปลี่ยนเป็นความร้อนที่เกิดขึ้นให้เป็นพลังงาน และนำมันไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ตอนนี้ไม่มีการฝังกลบขยะอีกต่อไปแล้ว

ประเทศที่มีพัฒนาแล้วมักจะมีการสร้างขยะและมลพิษที่เกินมาตรฐาน พวกเขาจึงต้องหาทางรับผิดชอบ โดยองค์กรสิ่งแวดล้อม มองว่าขยะเหล่านี้สามารถเปลี่ยนมาเป็นพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ได้ ด้วยการนำขยะมาเข้าเตาหลอม เผาไหม้ขยะด้วยความร้อนสูง เพื่อนำไปผลิตไอน้ำ นำไปใช้งานกับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ และ ขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้ประมาณ 10% จากขยะทั้งหมดก็ยังสามารถแยกโลหะออกไปใช้งานได้ใหม่ และขี้เถ้าที่เหลือ ก็สามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับวัสดุก่อสร้างได้ด้วย

“โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเรื่องขยะในแบบที่ยั่งยืน”

ถึงแม้ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะเป็นการลดปริมาณขยะได้เยอะและสามารถใช้ประโยชน์จากขยะที่มีได้หลายทาง แต่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะยังเป็นการลงทุนที่สูงมาก และอาจจะยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงที่มักมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงลิบลิ่ว อีกทั้งยังต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์สูง และยังต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่อีกด้วย นอกจากนี้นโยบายของภาครัฐ การสนับสนุนทางด้านการเงิน ก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จึงเป็นสาเหตุที่ว่าหลายประเทศที่กำลังพัฒนาอาจจะไม่สามารถสร้างหรือมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะได้

Figure 2: A Waste to Energy Plant With a Ski Slope

แต่ในบ้านเรา รัฐบาลของเราก็มีนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกเช่นกัน อ้างอิงตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประจำปี 2564 โดยโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากขยะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff) ให้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากขยะ ในอัตราที่สูงมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุดหนุนให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในการลงทุนกับการสร้างและผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากขยะ

“การมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ คือ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”

Figure 3: Waste Management Hierarchy

อ้างอิงจาก หลักการบริหารจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy) จะพบว่า Waste to Energy หรือ โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ คือ วิธีการรองสุดท้ายเลย อยู่ก่อนการกำจัดขยะแบบฝังกลบ (Landfill)

ซึ่งหากเรามองในเชิงภาพรวม และมองไปถึงการแก้ปัญหาแบบองค์รวม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการเผาขยะ และ ลดการกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบ คงต้องหันไปเน้นหลักการ 3Rs นั่นก็คือ

Reduce : เป็นการจัดการขยะในรูปแบบที่ได้ผลมากที่สุด แต่ก็เป็นจริงได้ยากที่สุดเช่นกัน เพราะมันคือการลดปริมาณการเกิดของขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังไม่มีนโยบายหรือมาตรการของประเทศใดๆ ที่สามารถทำจริงได้ถึง 100%

Reuse : เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการแปรสภาพใดๆทั้งสิ้น เช่น แก้วน้ำ นำมาล้างแล้วเอากลับมาใช้ซ้ำอีกรอบ  หรือ กระดาษที่เขียนหน้าแรกไปแล้ว เอากลับมาใช้ซ้ำโดยใช้หน้าหลัง เป็นต้น วิธีการนี้เป็นการช่วยลดปริมาณขยะในช่วงเวลานึงได้เช่นกัน แต่ก็ยังสร้างขยะในท้ายที่สุดอยู่ดี

Recycle : เป็นการจัดการขยะในรูปแบบของการรีไซเคิล ซึ่งการรีไซเคิลคือการนำเอาขยะมาผ่านกระบวนการไม่ว่าจะเป็น Mechanical หรือ Chemical Recycling เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น พลาสติก กระดาษ เศษผ้า หรือเศษโลหะต่างๆ เป็นต้น โดยเฉพาะในบ้านเรา เรื่องของรีไซเคิล ได้รับการสนับสนุนและโปรโมทเป็นอย่างมากงนั้น การมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ จึงเป็นแค่อีกหนึ่งทางเลือกที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการกำจัดขยะ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการคัดแยกขยะ ก็จะเป็นอุปสรรคใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะได้เช่นกัน

เหตุผลที่การแยกขยะจำเป็นมากก็เพราะว่าขยะแต่ละชนิดจะมีค่าความร้อนที่แตกต่างกัน โดยค่าความร้อนนี้จะเป็นตัวกำหนดความยากง่ายในการเผาผลาญ ยกตัวอย่างเช่น ขยะจำพวกเศษอาหารจะมีความชื้นสูง ทำให้ยากต่อการเผา จึงจำเป็นต้องมีการเติมเชื้อเพลิง และถึงแม้จะมีการเติมเชื้อเพลิงเพื่อช่วยในการเผาผลาญแล้ว เตาเผาไหม้ก็ยังง่ายต่อการเสื่อมประสิทธิภาพอยู่ดี และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพ และต้นทุนของการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

บทสรุป

“ไม่มีวิธีการใดดีที่สุด สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องของขยะ”

ปัญหาในหลายประเทศที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาเรื่องขยะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดการ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เป็นผลทำให้ปริมาณขยะในโลกโดยรวมไม่เคยมีทีท่าที่จะลดลงเลย

มุมมองที่ควรเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้เกี่ยวกับการจัดการขยะ ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือองค์กรใด องค์กรหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่มันต้องอาศัยการร่วมมือกันในหลายฝ่าย หลายประเทศ รัฐบาลต้องสนับสนุน องค์กรต้องร่วมมือ เอกชนต้องตระหนัก และประชาชนทุกคนต้องรับรู้ถึงปัญหาและเริ่มลงมือทำได้แล้ว ไม่ใช่เพียงรู้แต่เพิกเฉย เพราะโลกเป็นของทุกคน และเราทุกคนมีส่วนในการก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบจึงเป็นของทุกคน ช่วยกันจัดการกับขยะตั้งแต่ต้นทาง จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด

Source: https://www.tei.or.th/en/blog_detail.php?blog_id=77 

https://www.youtube.com/watch?v=OPVUrO-_7SM&list=WLh 

ttps://www.climatecentral.org/news/where-trash-is-a-burning-problem-17973     

https://captainofsuccess.com/2021/01/26/open-dumpsites-due-for-total-shutdown-by-march-denr/  

https://emag.directindustry.com/copenhill-a-waste-to-energy-plant-with-a-ski-slope/