posttoday

The Green Olympic games มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ กับความยั่งยืน

27 กันยายน 2564

โดย ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

************************

โอลิมปิกเกมส์  มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เป็นมหกรรมกีฬา ที่เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก แต่ในอีกมุมนึงก็เป็นมหกรรมกีฬาที่ใช้ทรัพยากรอย่างมากมาย ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ มวลมนุษยชาติไม่น้อยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล สร้างขยะรวมทั้งสิ้นมากกว่า 17 ล้านตัน และ มีการประเมินเอาไว้ว่ากิจกรรมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนั้น ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.6 ล้านตันเลยทีเดียว

The Green Olympic games มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ กับความยั่งยืน

“การจัดงานมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ แต่ก็ทิ้งปัญหาใหญ่ให้กับมวลมนุษยชาติเอาไว้เช่นกัน”

จากบทเรียนของการจัดงานที่ริโอ ทำให้โจทย์ในเรื่องของการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ต้องเปลี่ยนไป การจัดมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจำเป็นต้องมุ่งเน้นในเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญและถูกกำหนดมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 โดยในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความยั่งยืน โดยได้กำหนดเป็น Tokyo 2020 Main Sustainability Themes เอาไว้ 5 ด้าน คือ

1.City within Nature/Nature within the City

2.Towards Zero Carbon

3.Celebrating Diversity

4.United in Partnership and Equality

5.Zero Wasting

The Green Olympic games มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ กับความยั่งยืน

ทำให้ใน โตเกียวโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ เราได้เห็นโครงการที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ดีๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่น

Olympic Cauldron: กระถางคบเพลิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดและปิดกิจกรรมของกีฬาโอลิมปิก ในอดีตเขาใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติเช่นน้ำมัน แต่ในโอลิมปิกครั้งนี้ได้เลือก Renewable Energy ซึ่งได้เลือกใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังมีการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในการทำน้ำร้อนในส่วนของห้องอาหาร ที่พัก หรือ ศูนย์ฝึก ในโอลิมปิกเกมส์ ครั้งนี้อีกด้วย

Medals: เหรียญรางวัลทุกเหรียญที่ได้แจกให้กับเหล่านักกีฬาในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% โดยก่อนจะถึงการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ทางคณะทำงานเขาได้ใช้เวลาราวๆ 2 ปี ในการเก็บสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น มาจากมือถือ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก มาจากเมืองต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมารีไซเคิล โดยได้โลหะจากการรีไซเคิลมารวมทั้งสิ้น 5.7 ตัน ทำเป็นเหรียญรางวัลได้ 5,000 เหรียญ โดยแบ่งเป็น เหรียญทอง 32 กิโลกรัม, เหรียญเงิน 3,500 กิโลกรัม และ เหรียญทองเแดง 2,200 กิโลกรัม

Olympic Ceremony Podium: ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก ที่แท่นรับเหรียญรางวัลทำมาจากขยะพลาสติก 100% โดยในโครงการนี้ได้ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ในการเก็บสะสมขยะพลาสติก ราวๆ 24.5 ตัน ที่ได้มาจากประชาชนในแต่ละชุมชนในประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาทำแท่นรับเหรียญรางวัล จำนวน 98 ตัว

Village Plaza: โอลิมปิก Village Plaza ออกแบบมาด้วยแนวคิด “Design for Reuse” โดย Village Plaza ถูกสร้างขึ้นมาจากไม้แปรรูป ที่ได้ไปยืมมาจากหน่วยงานภาครัฐ จากบรรดาเมืองต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น โดยหลังจากจบโอลิมปิกเกมส์แล้ว ก็จะมีการรื้อถอนไม้แปรรูปเหล่านี้ ไปใช้งานต่อไปในกิจกรรมต่างๆ ในเมืองนั้นๆ ต่อไป เช่น เอาไปทำเก้าอี้ หรือ ทำที่พักคอยรถโดยสาร เป็นต้น

Athlete Beds: เตียงและที่นอนของนักกีฬา ออกแบบมาด้วยแนวคิด “Design for Recycling” เตียงนักกีฬาทำจากกระดาษแข็ง เมื่อจบโอลิมปิกเกมส์แล้วก็จะเอาไปรีไซเคิลเพื่อทำเป็นกระดาษ และ ส่วนที่นอน ก็จะนำไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกเพื่อนำไปใช้งานด้านอื่นๆ ต่อไป

Energy: งานโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ มุ่งเน้นในเรื่องลด Carbon Emission พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการจัดการแข่งขันและในโอลิมปิก Village Plaza มาจาก Renewable Energy 100% โดยราวๆ 30-40% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มาจาก Biomass Energy และ Solar Power

Transportation: รถบัสสำหรับขนส่งนักกีฬากว่า 100 คัน (ซึ่งเป็นของ Toyota) สำหรับงานโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ก็ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยลด Carbon Emission ได้เช่นกัน

Waste Management: การบริหารจัดการขยะสำหรับโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เขามีการโดยมีถังขยะแยกสำหรับขยะแต่ละประเภท อาทิเช่น สำหรับขวดพลาสติก แก้ว กระป๋อง กระดาษ หรือ เศษอาหารเป็นต้น และในโอลิมปิกครั้งนี้ส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมาทดแทน กลุ่มที่เป็น Single-use plastic 

The Green Olympic games มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ กับความยั่งยืน

“เป้าหมายของความยั่งยืน กลายเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับการจัดงาน หรือกิจกรรมระดับโลก”

ความสำเร็จของ โอลิมปิกเกมส์  มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ คงจะวัดผลในเรื่องจำนวนผู้ชม หรือ รายได้ ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว คงต้องวัดผลในเรื่องความยั่งยืน เข้าไปด้วย

โตเกียวโอลิมปิก 2020 ได้สร้างมาตรฐานใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว และ เชื่อว่าเราจะได้เห็นผลลัพธ์จากโครงการที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความยั่งยืนในโอลิมปิกเกมส์ครั้งถัดไปที่ปารีสอย่างแน่นอน

“ความยั่งยืน ควรเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับการจัดงานในบ้านเราเช่นกัน”

กิจกรรม หรือ งานต่างๆ ที่จัดกันในบ้านเรา ต่างก็สร้างปัญหาทิ้งเอาไว้ไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณขยะ หรือ มลภาวะที่เกิดขึ้นตามมาอันเนื่องมาจากการขาดการบริหารจัดการขยะที่ดี

จากบทเรียนของการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 เราจะเห็นแล้วว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน แต่ก็สามารถจัดงานและตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนได้จริงๆ

ในเมื่อมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว หากภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน เอาหลักการเรื่องของความยั่งยืน ผนวกไปกับแผนในการจัดงานได้ เราคงได้เห็นโครงการดีๆ เกิดขึ้นด้วยฝีมือคนไทยมากมายแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ในเรื่อง BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy Model) ที่ทางรัฐบาลกำลังผลักดันได้เช่นกัน เชื่อว่าไม่ช้าเรื่องนี้จะต้องกลายเป็นมาตรฐานในการจัดงานบ้านเราอย่างแน่นอน

******************

อ้างอิง

https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/asset 

https://natemorris.com/blog/an-olympic-effort-to-reduce-waste/ 

https://olympics.com/ioc/news/tokyo-2020-highlights-the-possibilities-for-a-circular-economy 

https://www.euronews.com/green/2021/07/22/could-the-tokyo-2020-olympic-games-usher-in-a-fully-circular-economy 

https://acehub.org.au/news/how-the-tokyo-olympics-are-embracing-the-circular-economy