posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): David K. Wyatt กับสามกลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า

23 กันยายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************

ในข้อเขียนหนังสือพิมพ์ของหมอสมิธ มิชชันารีชาวอเมริกัน ได้แบ่งกลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้าออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสยามหนุ่ม, กลุ่มอนุรักษ์นิยมสยาม และกลุ่มสยามเก่า

หมอสมิธกล่าวว่า กลุ่มสยามหนุ่มนำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) และมีเจ้านายและขุนนางรุ่นหนุ่มที่เข้าร่วมด้วย และกลุ่มสยามเก่าคือ คนหัวเก่าไม่เปิดรับความเป็นสมัยใหม่ของตะวันตก โดยหมอสมิธกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยาม หมอสมิธไม่ระบุว่ามีใครบ้างในกลุ่มนี้

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): David K. Wyatt กับสามกลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า

                                               หนังสือพิมพ์ของหมอสมิธ พ.ศ. 2416/7

ต่อมา นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยอย่าง เดวิด วัยอาจ (David K. Wyatt) ได้กล่าวถึงกลุ่มการเมืองทั้งสามนี้ โดยเห็นด้วยกับหมอสมิธในกรณีกลุ่มสยามหนุ่มที่อยู่ภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 20 พรรษา และเขาได้จัดไห้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยมีเครือข่ายขุนนางตระกูลบุนนาคเป็นกำลังสำคัญ

แม้ว่ากลุ่มสยามหนุ่มจะถือเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า เพราะรับกระแสตะวันตกที่เข้ามาในสยาม แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมนี้มิได้ปฏิเสธตะวันตก จริงๆแล้ว ตัวสมเด็จเจ้าพระยาฯเองก็เป็นคนหัวก้าวหน้ามาก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคน “หัวก้าวหน้า” ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศและรับความเจริญมาจากชาติตะวันตก ศึกษาหาความรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ถึงขนาดสามารถต่อ "เรือกำปั่น" ได้เอง และนับเป็นนายช่างสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้ และในช่วงทศวรรษ 2413 สมเด็จเจ้าพระยาฯและขุนนางในกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าคนกลุ่มอื่นในทุกๆด้าน

สยามหนุ่มกับอนุรักษ์นิยมสยามจึงไม่ได้ต่างกันตรงที่ใครรับหรือไม่รับตะวันตก

แต่อนุรักษ์นิยมสยามแตกต่างจากกลุ่มสยามหนุ่ม ตรงที่วิทยาการความรู้ตะวันตกเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเป้าหมายของกลุ่มนี้คือ การรักษาสถานภาพระเบียบแบบแผนทางการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ อันเป็นสถานะที่พวกเขาได้เปรียบในสมการการเมือง และตัวสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เองเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้มีจุดยืนดังกล่าวนี้

แม้ว่าเขาจะมีความนิยมตะวันตกและมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวยุโรปจำนวนมาก แต่โดยเนื้อแท้ เขายังเป็นคนของระเบียบแบบแผนแบบเก่าอยู่ เขาจะใช้วิธีการแบบตะวันตกต่อเมื่อมันจะเอื้อให้เขาบรรลุเป้าหมายที่กล่าวไป นั่นคือ การได้มาซึ่งอำนาจ ความมั่งคั่งและสถานะส่วนตัวของเขา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การรักษาไว้ซึ่ง “สยามแบบเก่า” อย่างที่เขารับรู้เข้าใจ

กลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามไม่ได้ต้องการบรรลุเป้าหมายทางอุดมคติตามแบบของตะวันตก ดังนั้น จึงไม่ได้มีวิวาทะกับระเบียบเก่า---อย่างที่กลุ่มสยามหนุ่มมี/ผู้เขียน) และเขารู้ดีที่สุดว่า เขาจะใช้มันให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): David K. Wyatt กับสามกลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า

                             หมอสมิธ                                                            ศาสตราจารย์ เดวิด อัยวาจ

ขณะเดียวกัน วัยอาจยังได้กล่าวถึง บุคคลสำคัญคือคนหนึ่ง นั่นคือ “พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง” (the second king) หรือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่ครองราชย์ร่วมกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯในช่วงต้นรัชกาลที่สี่ วัยอาจเห็นว่า อาจมีคนเข้าใจไปได้ว่า กรมพระราชวังบวรฯเละเครือข่ายของพระองค์เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพราะการที่พระองค์ได้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ก็จากการที่สมเด็จเจ้าพระยาฯยืนกรานให้ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีแต่งตั้งแม้ว่าจะขัดต่อราชประเพณีที่ผ่านมา

อีกทั้งวัยอาจมีข้อมูลหลักฐานชั้นต้นที่กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเชื่อว่าการที่กรมพระราชวังบวรฯได้รับแต่งตั้งเพราะมี “ผู้” ที่คาดหวังว่า หากพระองค์เสด็จสวรรคตจากอาการประชวรหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ กรมพระราชวังบวรฯก็จะได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และวัยอาจเห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ หวังว่ากรมพระราชวังฯจะยอมให้ตนมีอำนาจอิทธิพลเหนือราชบัลลังก์ต่อไป

ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความที่ว่านี้ เพราะสถานะของสมเด็จเจ้าพระยาฯจะมั่นคงและเป็นต่อ ต่อเมื่อเขาดำรงอยู่ในฐานะอำนาจตรงกลางระหว่างวังหลวงกับวังหน้ามากกว่า จากการที่ทั้งสองฝ่ายต่างระแวงกันเองอยู่ และต่างๆหวังให้ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฯไม่เอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง หรือเอนเอียงมาทางฝ่ายตน และยากที่เมื่อกรมพระราชวังฯขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว จะยอมปล่อยให้กลุ่มสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจมากกว่า แต่พระองค์จะทำในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงทำมาก่อนหน้านี้ นั่นคือ หลังจากอาศัยอำนาจบารมีของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ก็จะหาทางลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค

และเมื่อเปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯแล้ว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ในสถานะที่มีทั้งกำลังคนและทรัพยากรเหนือกว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมาก และย่อมจะไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มสมเด็จเจ้าพระยาฯ อย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯยอมมาตลอดรัชกาล เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯอ่อนทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ เพราะพระองค์ทรงผนวชอยู่เป็นเวลาถึง 27 ปีก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์

กระนั้น ผมเห็นด้วยกับวัยอาจที่ว่า กรมพระราชวังบวรฯเละเครือข่ายไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยวัยอาจได้วิเคราะห์ว่า กรมพระราชวังบวรฯน่าจะตระหนักว่าพระองค์อยู่ท่ามกลางปัญหาทางสองแพร่ง นั่นคือ ในทางหนึ่ง พระองค์เองก็เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่รุ่นเดียวกันกับคนในกลุ่มของ “สยามหนุ่ม” นั่นคือ เป็นคนไทยรุ่นที่สองที่ผ่านการรับวัฒนธรรมตะวันตก และไม่ต่างจากพระราชบิดาของพระองค์ อีกทั้งพระองค์ยังทรงมีความเป็นตะวันตกมากกว่าคนทั้งหลายที่รายล้อมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯด้วยซ้ำ แต่จากสถานะของพระองค์ จำเป็นต้องถูกผลักให้ไปอยู่ข้างผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหรือสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบเจ็ด): David K. Wyatt กับสามกลุ่มการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์           กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

เพราะถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์สี่รัชกาลที่ผ่านมา ในบางรัชกาล มีการหวาดระแวงระหว่างพระมหากษัตริย์และ “วังหน้า” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะสถานะของตำแหน่งทั้งสองมีความขัดแย้งกันอยู่ภายในตัวเอง และความขัดแย้งจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อวังหน้ามีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นดังที่ปรากฎในสมัยรัชกาลที่สี่

จากเงื่อนไขที่ผ่านมา วัยอาจเห็นว่า กรมพระราชวังบวรฯก็ดูจะปรารถนาที่จะรักษาสถานะอำนาจและอิทธิพลตามอย่างที่พระราชบิดาของพระองค์เคยมี แต่พระองค์จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาฯและเครือข่าย

สมการทางการเมืองจึงออกมาในเงื่อนไขที่ กรมพระราชวังบวรฯจะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลดน้อยถอยลง

และแน่นอนว่า ในสายตาของวัยอาจ “กรมพระราชวังบวรฯ” ก็ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มสยามเก่า อันเป็นกลุ่มที่ต้องการรักษาแบบแผนดั้งเดิมไว้ทั้งหมด แม้ว่าพระองค์และเครือข่ายเข้าจะเคยมีสถานะตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นอิสระจากฝักฝ่ายของผู้สำเร็จราชการเพียงครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น (ดังที่จะกล่าวในตอนต่อๆไป) นั่นคือ พระองค์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามอย่างแท้จริงเต็มตัว และก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสยามเก่าด้วย

ต่อประเด็นกลุ่มสยามเก่า วัยอาจกล่าวว่า การจะดูว่าใครคือคนที่อยู่ในกลุ่มสยามเก่านั้น น่าจะมองไปที่บรรดาข้าราชการในเมืองหลวงที่เหลือทั้งหมด ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นรองลงมา ที่ครอบครัวของคนเหล่านี้ได้สร้างพื้นที่เล็กๆสำหรับตัวพวกเขาเองในกรมกองต่างๆในราชการ และคนเหล่านี้เป็นพวกที่กลัวจะสูญเสียสิ่งที่ตนมี หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นกับสมการอำนาจที่เป็นอยู่ นั่นคือ เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งสามและลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่พวกตนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกข้าง

ข้าราชการเหล่านี้ที่ส่วนมากเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากการชักหรือข่มขู่ฉ้อฉลเงินเล็กๆน้อยๆในการปฏิบัติหน้าที่ของตน หลายคนในกลุ่มนี้พบว่า ตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างนโยบายปฏิรูปสมัยใหม่ของเครือข่ายพระมหากษัตริย์หรือพวกสยามหนุ่ม กันนโยบายการคงไว้ซึ่งสภาพเดิมๆและอำนาจของตระกูลบุนนาคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต่างจะมีผลกระทบต่อสถานะของพวกตนทั้งสิ้น ปฏิกิริยาของคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นเพียงความต้องการธรรมดาๆที่ไม่ต้องการให้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายส่งผลกระทบมาถึงพวกตน นั่นคือ พวกตนไม่ต้องการรับผลกระทบจากฝ่ายใด และไม่ต้องการถูกลากเข้าไปในการต่อสู้ที่มีการได้เสียสูงที่บรรดาตัวแสดงทางการเมืองสำคัญกำลังต่อสู้กันอยู่ และในกลุ่มคนเหล่านี้นี่เองที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงกล่าวถึงว่าเป็น “พวกหัวโบราณ” (ancient heads) ที่มักจะมีทัศนคติกลัวคนต่างชาติและต่อต้านตะวันตก

ดูเหมือนว่า แม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไปเกือบร้อยห้าสิบปี ข้าราชการส่วนใหญ่ก็ดูจะยังเป็นเหมือนข้าราชการในกลุ่มสยามเก่าอยู่ !

วัยอาจสรุปว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์แบ่งแยกระหว่างกลุ่มทั้งสามนี้คือ ความแตกต่างระหว่างรุ่น และความแตกต่างอย่างยิ่งในประสบการณ์ของแต่ละรุ่น ข้าราชการหัวโบราณในรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯที่มีบทบาทแข็งขันในทางราชการในตอนกลางรัชกาลที่สาม นั่นคือ กรุงเทพในแบบเก่าที่ไม่ยังไม่ค่อยมีพ่อค้าจากสิงคโปร์เดินทางเข้ามาบ่อยนัก

ส่วนในบรรดาคนรุ่นใหม่หรือรุ่นหนุ่ม ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย พระองค์เป็นหนึ่งในบรรดาบุตรคนโตของคนในรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯและเติบโตมาในช่วงแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและเรื่องราวต่างๆในบ้านเมืองอย่างรวดเร็ว

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระราชอนุชาถือเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือเป็นรุ่นหลานของสมเด็จเจ้าพระยาฯและรุ่นลูกของกรมพระราชวังบวรฯ และคนรุ่นพระองค์นี้ไม่เคยเห็นสยามโดยปราศจากคนตะวันตกที่ปรากฎให้เห็นทั่วไปในฐานะที่เป็นทั้งภัยคุกคามและเป็นทั้งแบบอย่างที่น่าสนใจลอกเลียน

และแต่ละกลุ่มจะรับรู้และมีความทรงจำและความหมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตะวันตกแตกต่างกันออกไป และในความคิดของวัยอาจเห็นว่า มีนัยสำคัญอย่างยิ่งที่ คนในรุ่นหนึ่ง----ได้แก่ รุ่นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ---ได้สิ้นสุดไปในช่วงเปลี่ยนผ่านจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จากราชสำนักในคนรุ่นปู่ไปสู่คนรุ่นหลาน

และในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2423 ตำแหน่งเสนาบดีสำคัญๆได้เปลี่ยนมือจากคนรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯไปสู่รุ่นของพระราชอนุชาและพระสหายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

แต่อย่างไรก็ตาม วัยอาจเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่พึงสังเกตคือ ปัจจัยร่วมสำหรับคนทั้งสามรุ่นนี้คือ ระดับของการปรับเปลี่ยนตามตะวันตกที่ไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม การปรับเปลี่ยนตามตะวันตกที่ว่านี้ ที่สังเกตได้จากการแสดงออกในการใช้วิธีการและเทคนิกของตะวันตก และการปรับใช้ความคิดตะวันตกในการแก้ไขจุดอ่อนของไทย หรือระดับของการเลียนแบบและลอกเลียนตะวันตกตามที่สามารถจะทำได้

และถ้าจะพิจารณากลุ่มทั้งสามนี้ในมิติของการต่อสู้ทางการเมือง จะพบว่า ส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆเหล่านี้คือ ความขัดแย้งกันในเรื่องของการแสดงออกตามแบบไทยดั้งเดิม (อันได้แก่ ลักษณะของอำนาจทางการเมืองและอัตลักษณ์ของบรรดาผู้ที่จะใช้อำนาจ) และการต่อสู้กันนี้มักจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับจังหวะเวลาและระดับความเข้มข้นของการปรับตัวตามตะวันตก แต่ไม่ใช่ในประเด็นของรากฐานของความมุ่งมั่นของบรรดาผู้ปกครองที่จะประนีประนอมและยอมรับตะวันตก เพราะชนชั้นปกครองในกลุ่มสยามหนุ่มและกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามได้ตัดสินใจไปแล้วว่าจะรับตะวันตก

เพียงแต่แต่ละกลุ่มเห็นต่างกันอย่างรุนแรงในการประเมินระดับของอันตรายในสถานการณ์ของประเทศกับมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปประเทศ

และเมื่อใกล้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา และพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จรชาการแทนพระองค์อีกต่อไป การต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองที่เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นทันที