posttoday

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

20 กันยายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                  

********************

อาจารย์นันไค (นันไค แปลว่า ทะเลใต้) เป็นหนึ่งในตัวละครในนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government/ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2430)  อาจารย์นันไคเป็นผู้รอบรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สุดยอดคนหนึ่ง และจากความรู้ในอดีต ทำให้แกสามารถมองไปในอนาคตได้อย่างน่าอัศจรรย์  แต่ความรู้อันพิสดารของแกจะออกจากปากได้ก็ต่อเมื่อแกกรึ่มจนครึ้ม  ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้คนอยากมาร่วมวงสุรากับแก และรอเวลาที่แกได้ที่ ก็จะได้ยินอะไรดีๆหลุดออกมาจากปากแก

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

พอแกสร่าง ในขณะที่ผู้คนพากันสรรเสริญชื่นชมสิ่งที่แกบรรยายไปคืนก่อน แกก็กลับสิ่งที่พูดไปไม่ได้เลย  จนทำให้แกจะต้องมีสมุดเล็กๆติดไว้ตอนกินเหล้า เพื่อจะได้จดบันทึกความคิดอันบรรเจิดของแก และหวังว่าสักวันหนึ่ง จะรวบรวมมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ

ในนวนิยาย มีชายสองคนมาขอกินเหล้ากับแก คนหนึ่งชื่อ “สุภาพบุรุษ” อีกคนชื่อ “นักสู้”  จริงๆทั้งสองไม่ได้ชื่อนี้ แต่อาจารย์นันไคเป็นคนตั้งให้เอง  เพราะคนหนึ่งแต่งตัวเหมือนผู้ดีตะวันตก  อีกคนใส่ชุดญี่ปุ่นเหมือนพวกซามูไร

“สุภาพบุรุษ” เป็นคนที่สมาทานแนวคิดเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคของตะวันตก และชื่นชอบระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย และเชื่อว่า ญี่ปุ่นควรเป็นเสรีประชาธิปไตย  ซึ่งในขณะที่เขาชี้ให้เห็นถึงข้อดีของแนวคิดดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นยังไม่มีรัฐธรรมนูญเสรีประชาธิปไตย อีกทั้งเขาไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นสนใจเรื่องการทำสงคราม แถมยังเสนอให้ยกเลิกกองทัพไปเสียเลย และให้หันมาเน้นที่การค้าและอุตสาหกรรม หากต่างชาติมารุกราน ก็ให้ต้อนรับอย่างอารยะ คือไม่โต้ตอบ เพราะเขาเชื่อว่า ประเทศเหล่านั้นจะละอายไปเอง !

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

ส่วน “นักสู้” เชื่อว่า อารยธรรมกับการทำสงครามเป็นของคู่กัน เพราะในประวัติศาสตร์ ประเทศที่มีอารยธรรมก้าวหน้าล้วนแต่ทำสงครามทั้งสิ้น และดัชนีชี้ความเจริญก้าวหน้าคือสมรรถภาพในการทำสงคราม เขาเห็นว่า ยังไงเสีย ชาติมหาอำนาจตะวันตกจะต้องเข้ารุกรานประเทศในเอเชียและอาฟริกา แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศเล็กๆและยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับมหาอำนาจตะวันตก แต่กองทัพญี่ปุ่นก็ยังแข็งแกร่งกว่าบางประเทศที่แม้ว่าจะพื้นที่ใหญ่โตและอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และแม้นว่าจะมีทหารมากมาย แต่เป็นกองกำลังที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ญี่ปุ่นจะพัฒนาเป็นชาติมหาอำนาจได้ก็ต้องรีบไปจัดการกับประเทศแบบนี้เสียก่อน ซึ่ง “นักสู้” เห็นประเทศเหล่านี้ว่าเป็น “วัวอ้วนที่รอวันถูกเชือด”                        

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

หลังจากที่อาจารย์นันไคฟังทั้งสองสนทนากันอย่างยาวนาน (สุภาพบุรุษจะครองการสนทนามากกว่านักสู้)  เมื่อถึงจุดหนึ่ง หลังจากที่อาจารย์นันไคกระดกเหล้าหมดไปอีกหนึ่งแก้ว (ถ้านับที่ผ่านมา น่าจะหลายสิบแก้วอยู่ !) แล้วกล่าวสรุปความคิดของทั้งสองว่า

ความคิดของ “สุภาพบุรุษ” น่าจะสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยและความเสมอภาคคือหลักการที่สมบูรณ์แบบที่สุด และทุกประเทศจะต้องรับหลักการนี้อย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว  และในขณะที่ประเทศเล็กและอ่อนแอ (นั่นคือ ญี่ปุ่น) จะไม่มีวันที่จะหานโยบายอะไรที่จะทำให้ประเทศมั่งคั่งและมีกองทัพที่แข็งแกร่งได้ ดังนั้น แทนที่จะกระเสือกกระสนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  จะดีกว่าที่ประเทศเล็กและอ่อนแอยกเลิกกองทัพที่มีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจไปเสียเลย และเปลี่ยนมายืนบนหลักการทางศีลธรรมที่จับต้องไม่ได้ และจากการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ประเทศเล็กจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มาจากวัฒนธรรมของตน ที่ประเทศมหาอำนาจจะชื่นชอบ และประเทศมหาอำนาจจะไม่คิดจะทำลายประเทศเล็กเหล่านั้น

ส่วนความคิดของ “นักสู้” คือ ประเทศยุโรปกำลังแข่งขันแสนยานุภาพทางการทหารกันอย่างยิ่งยวด และทันที่ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น ความหายนะจะแผ่ซ่านไปทั่วเอเชีย  ดังนั้น ประเทศเล็กและอ่อนแอ (ญี่ปุ่น) ควรจะรีบดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็ว นั่นคือระดมชายที่มีร่างกายแข็งแกร่งของประเทศ พร้อมอาวุธและเข้าโจมตีประเทศที่ใหญ่โต มีทรัพยากรธรรมชาติมาก แต่มีรัฐบาลและกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพ เพื่อญีปุ่นจะได้ขยายดินแดน ถ้าไม่ดำเนินมาตรการที่ว่านี้ แม้ว่าเราจะพยายามที่จะทำให้การเมืองภายในของเราสงบเรียบร้อยเพียงใด  เราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องกำจัดพวกที่ยังหลงอดีตที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป แผนการการรุกรานประเทศอื่นถึงจะนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ความคิดของ “สุภาพบุรุษ”  ช่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม  ส่วนความคิดของ “นักสู้”  เป็นความคิดที่ไม่ให้ขีดคั่นและไม่ธรรมดา แล้วอาจารย์นันไคก็เปรียบเทียบความคิดของทั้งสองกับเหล้า !

ของ “สุภาพบุรุษ" เปรียบได้กับเหล้าดีกรีแรงที่ทำให้เขาต้องมึนจนหัวทิ่ม ส่วนความคิดของ “นักสู้” มีฤทธิ์รุนแรงที่ทำให้กระเพาะปั่นป่วนฉีกลำไส้    อาจารย์นันไคออกตัวว่าเขาแก่แล้ว สมองที่กำลังเสื่อมไม่สามารถรับหรือย่อยความคิดของคนทั้งสองได้ แต่ให้กำลังคนทั้งสองพยายามต่อไป และเมื่อเวลามาถึง ก็ควรจะนำความคิดที่มีอยู่ในหัวไปลองปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง และอาจารย์จะคอยติดตามดู

แต่ “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้” ไม่ยอมปล่อยให้อาจารย์นันไคทำตัวเป็นผู้ฟังและดื่มเหล้าไปเฉยๆ เพราะจุดประสงค์ที่ทั้งสองมา ก็คือ อยากฟังความคิดของแก ดังนั้น ทั้งสองจึงยกแก้วเหล้าขึ้นขอชนกับอาจารย์ และกล่าวว่า “เราทั้งสองได้เปิดใจให้ท่านฟังจนหมด ท่านอาจารย์ขอรับ กรุณาให้ความเห็นต่อความคิดของเราทั้งสอง และชี้แนะด้วย ขอให้ท่านได้โปรดกรุณาพวกเราด้วย” 

ที่จริง ก็ไม่ใช่เฉพาะแต่ “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้” เท่านั้นที่อยากฟังความเห็นของอาจารย์นันไคต่อแนวคิดของ “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้”  คนอ่านนวนิยายเรื่องนี้ก็คงอยากรู้ว่า อาจารย์นันไคจะมีความเห็นต่อแนวคิดทั้งสองที่มีความแตกต่างกันมาก แบบคนละขั้วเลยก็ว่าได้  ขณะเดียวกัน ต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่ การกำหนดนโยบายประเทศก็มักจะไม่หนีที่จะต้องเลือกแนวใดแนวหนึ่งเป็นหลัก

โชคดีที่ ผู้แต่ง (นากาเอะ โชมิน) ไม่ปล่อยให้อาจารย์นันไคลอยนวลกินเหล้าโดยไม่สำแดงสติปัญญาของเขาออกมา

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

อาจารย์นันไคกล่าวว่า "ความคิดของ ‘สุภาพบุรุษ’ แสนจะเป็นทฤษฎี ที่พบได้ในวิธีคิดของพวกนักวิชาการชาวยุโรป แต่ทฤษฎีความคิดนี้ยังไม่เคยนำไปใช้จริงๆในโลก มันเหมือนกับก้อนเมฆที่ล่องลอยแพรวพราวน่าประทับใจ แต่ความคิดของ “นักสู้” เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และบรรดาผู้นำทั้งหลายต่างก็มีชื่อเสียงได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ความคิดแบบของ “นักสู้” มันดูจะใช้ไม่ได้แล้วในโลกสมัยใหม่ ที่เอะอะจะยกทัพไปตีเมืองนั้นเมืองนี้”

ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนบทความตอนนี้ และเปิดเผยความเห็นของอาจารย์นันไคที่มีต่อความคิดของคู่สนทนาทั้งสอง มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งที่อ่าน “สามขี้เมาคุยการเมือง” ตอนที่แล้วที่กล่าวถึงวิธีคิดของ “นักสู้” ที่เสนอให้ญี่ปุ่นยกทัพไปตีประเทศที่มีทรัพยากรมากแต่มีกองทัพที่อ่อนแอ เข้าทำนองเป็น “วัวอ้วนรอเชือด” ท่านผู้อ่านท่านนี้ใช้นามว่า “Kaew Sitt” ให้ความเห็นใน FB ว่า

“ปัจจุบัน ไทยเราน่าจะเหมือนวัวอวบที่เป็นโรคพยาธิและรอวันถูกเชือดจากมหาอำนาจทั้งหลายละมั้ง...หากจะนับผู้ปกครองไทยที่มีแนวคิดแบบเดียวกับกับ นักสู้ คงต้องย้อนไปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลย เพราะมีการรบขยายดินแดน ตีเอาเมืองขึ้น..ถ้านับแต่เปลี่ยนระบอบการปกครอง 2475 เป็นต้นมา น่าจะไม่มีผู้นำคนใดคิดและทำแบบ นักสู้”  และได้กล่าวอีกว่า “เห็นด้วยกับนักสู้ครึ่งเดียว ตรงที่ควรมีกองทัพแลอาวุธป้องกันตนเอง อาจช่วยให้ไม่ต้องรบ แต่เจรจากันง่ายขึ้นสำหรับบางเวที”

จะเห็นได้ว่า คุณ Kaew Sitt มีความคิดคล้ายๆกับอาจารย์นันไค

และอาจารย์นันไค กล่าวถึงความคิดของ “นักสู้” เรื่องจะไปรบเพื่อกวาดต้อนทรัพยากรว่า“ความคิดแนวนี้มันกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของพวกนักการเมืองไป  ความคิดล่องลอยเหมือนก้อนเมฆของ ‘สุภาพบุรุษ’ ดูงดงามและยิ่งใหญ่สำหรับโลกในอนาคต แต่มันก็เป็นสิ่งประเทืองใจที่ไม่สามารถทำเป็นจริงได้ ส่วนความคิดของ ‘นักสู้’ นั้นก็ยากที่จะมองว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจของโลกในอดีต มันดูตื่นเต้นสนุกสนานก็เพราะเราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ เพราะสงครามมันมีด้านมืดของมันอยู่  ความคิดของทั้งสองไม่น่าจะใช้ได้ในขณะนี้”

“การจะนำความคิดของ ‘สุภาพบุรุษ’ ไปปฏิบัติ ก็ยากที่จะสำเร็จยกเว้นประชาชนทั้งชาติจะเอาด้วย ส่วนความคิดของ ‘นักสู้’ จะถูกนำไปปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อผู้นำสูงสุดจะใช้อำนาจตามอำเภอใจ  สิ่งที่ทั้งสองกล่าวมาจึงเป็นแค่คำพูดลอยๆเท่านั้น  และแม้ว่า ‘สุภาพบุรุษ’ จะยืนยันหนักแน่นถึงกฎวิวัฒนาการที่สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงก้าวหน้า แต่ถ้าพิจารณาให้ดี มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าเป็นเส้นตรง แต่มันมีขึ้นและมีลง และมีทั้งที่เอียงไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง  และอะไรที่บางทีดูจะก้าวหน้าก็กลับถอยหลัง ขัดแย้งกับที่ ‘สุภาพบุรุษ’ ว่ามา และหากมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆจะพยายามทำตัวเป็นผู้นำการวิวัฒนาการเสียเอง ผลที่เกิดขึ้นอาจจะหายนะเกินกว่าจะคาดคิดก็ได้  ดังนั้น เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะค่อยๆเดินไปบนเส้นทางการวิวัฒนาการและด้วยความระมัดระวังอย่ายิ่ง....”

เดินยังไง ?

คุณ “Padidon Apinyankul”  เห็นว่า “ไทยเองก็เป็นเหมือน ‘วัวอ้วน’ ดูรอบๆคอกวัวของเรา ใต้ทะลก็มีก๊าซ บนดินก็มีแร่ธาตุ ประชากรก็มีกำลังซื้อ  ผู้ที่ต้องการเชือด ต่างมองอย่างกระหาย วัวอย่างเรา จะยืนตรงไหน ? ยืนข้างอินทรีบ้าง เพื่อให้มังกรเกรงใจ ยืนข้างมังกรบ้าง เพื่อสร้างสมดุลให้อินทรีรู้ หรือวัว จักรวมตัวกับเพื่อนๆบ้านรอบๆ  ให้เป็นฝูงใหญ่ ส่งเสียงคำรามพร้อมๆกัน  ไม่ได้รับกับใคร แค่ป้องกันตัวให้ได้ก็ดีแล้ว....”                                                                                                                                     

ญี่ปุ่น (ตอนที่ยี่สิบแปด): ความเห็นของอาจารย์นันไค,Kaew Sitt และ Padidon Apinyankul

แล้วอาจารย์นันไคจะมีข้อแนะนำอย่างไรให้เรา ?