posttoday

ท่องโลกบรรพกาล ผ่านอุทยานธรณี

13 กันยายน 2564

โดย...ดร.สมศักดิ์ วัฒนปฤดา

****************************

โลกของเราถือกำเนิดขึ้นและมีอายุประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อน แต่บรรพบุรุษของมนุษย์เกิดขึ้นมาและอาศัยอยู่บนโลกประมาณ 7.8 ล้านปีก่อน เชื่อหรือไม่ว่า ถ้านับเวลาของโลกทั้งหมดเทียบเป็น 1 วัน หรือเวลา 24 ชั่วโมง บรรพบุรุษของเราเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 2 นาที 44 วินาทีสุดท้ายก่อนที่จะหมดวันนี่เอง ส่วนมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เริ่มมีอารยธรรมมีการเพาะปลูก ค้าขาย หรือที่เรียกว่าเป็นยุคศิวิไลซ์ นั้น มีอายุเทียบกับอายุของโลก ใน 24 ชั่วโมงแล้ว แค่เพียงสองวินาทีสุดท้ายของโลก คือที่ 23:59:58 น (100,000 ปีก่อน)

ท่องโลกบรรพกาล ผ่านอุทยานธรณี

คำถาม คือ สิ่งมีชีวิตใดบ้างที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ก่อนมนุษย์อย่างเรา และสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจากไปเพราะ เหตุใด ความลับเหล่านั้นอาจซ่อนอยู่ในหลักฐานทางธรณีวิทยา ซึ่งหากเราท่องไปในอุทยานธรณีทั่วประเทศไทย เพื่อตามหาหลักฐานทางธรณีที่เปิดเผยโลกบรรพกาลที่ซุกซ่อนอยู่ อาจเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ก็เป็นได้

ถ้าสมมุติให้โลกนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 00:00:00 น ของวัน (4.6 พันล้านปีที่ผ่านมา) กว่าจะมีสิ่งมีชีวิตชนิดแรกเกิดขึ้น ก็เป็นเวลา 05:22 น และดำรงชีวิตอยู่ในน้ำอีก 16 ชั่วโมงโลกสมมุติ สิ่งมีชีวิตแรกของโลกที่อาศัยอยู่ ในน้ำ เราพบฟอสซิลสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นก้อนแข็งที่รู้จักกันในชื่อฟอสซิลสาหร่ายสโตมาโตไลท์ (stromatolites) ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 470 ล้านปีก่อน (ยุคออร์โดวิเชียน 485-444 ล้านปีก่อน) ที่อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่แสดงความเก่าแก่ของเปลือกโลกบริเวณนี้ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลประเภทไทรโลไบต์ นอติลอยด์ ที่มีวิวัฒนาการในยุคแคมเบรียนเมื่อ 541-485 ล้านปี (ประมาณ 21:04 น เป็นต้นมา)

ท่องโลกบรรพกาล ผ่านอุทยานธรณี

ท่องโลกบรรพกาล ผ่านอุทยานธรณี

เช่นเดียวกันกับที่ อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ณ เขาถ้ำใหญ่น้ำหนาว เราพบซากฟอสซิลหอย ปะการัง และฟิวซูลินิด (Fusulinids) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลบนโลกในยุคเพอร์เมียน (299-252 ล้านปีก่อน) หลากชนิดหลายขนาด แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปรากฎเป็นหลักฐานของแสดงวิวัฒนาการของเปลือกโลกที่สมบูรณ์แบบ ควรค่าแก่การค้นหาความจริง

ปลาตัวแรก ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียนประมาณ 485 ล้านปีที่ผ่านมา และแมลงตัวแรกเกิดมาเมื่อ 400 ล้านปีที่ผ่านมา (21:41 น) หลัง 22:00 น จึงเริ่มเกิดพืชพรรณตามธรรมชาติ และประมาณ 475 ล้านปีที่ผ่านมา จึงเริ่มมีพืชบกถือกำเนิดขึ้น และหลังจาก 22:45 น (เทียบได้กับ 231-60 ล้านปีที่ผ่านมา) สู่ยุคไดโนเสาร์ครองโลก จาก 252-66 ล้านปีก่อน หรือยาวนานประมาณ 186 ล้านปี เราเดินทางไปสู่อุทยานธรณีขอนแก่น ซึ่งมีศูนย์ศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ภูเวียง เพื่อเยี่ยมชมไดโนเสาร์ไทยสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยครองโลกอยู่ในช่วงครีเทเชียส และไดโนเสาร์ยุคสุดท้ายที่รอท่านไปเยี่ยมชมที่อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี ที่พบซาก ดึกดำบรรพ์กระดูกและฟันของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่  อายุประมาณ 110 ล้านปีก่อน รวมถึงฟันปลาฉลามโบราณ เกล็ดปลาโบราณ และกระดองเต่าโบราณอีกด้วย ส่วนที่ อุทยานธรณีโคราช เราพบไดโนเสาร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลกแล้ว 3 สกุล จึงนับเป็นโชคดีของคนไทย ที่แค่เพียงไปเยี่ยมชมอุทยานธรณีทั้ง 3 แห่ง ก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ในประเทศไทย ได้ทุกยุคอย่างครบถ้วน

จนเมื่อเวลา 23:38 น 48 วินาทีก่อนวันนี้ ไดโนเสาร์ทั้งมวลที่ครองโลกมานานกว่า 186 ล้านปี (คิดเป็น 59.52 นาทีของเวลาโลกสมมุติ 24 ชั่วโมง) ก็ได้หายสาปสูญไปเมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การระเบิดของภูเขาไฟ หรือโลกถูกชนโดยดาวเคราะห์น้อยหรืออุกาบาต ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น หลังยุคไดโนเสาร์ ก็มาถึงยุคที่ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ได้ผงาดขึ้นมายึดครองโลกเมื่อ 60 ล้านปีก่อน และเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการและครอบครองโลกมาถึงทุกวันนี้  โดยได้วิวัฒนาการและอาศัยอยู่บนโลกร่วมยุคกับไดโนเสาร์ เมื่อ 23:30 น (ประมาณ 200 ล้านปีที่ผ่านมา) เพียงแค่ครึ่งชั่วโมงของโลกสมมุติ ก่อนที่จะถึงวันเวลาปัจจุบัน ช่วงนี้เองที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มไพรเมต เริ่มมีวิวัฒนาการเป็น เอป กอริลล่า และบรรพบุรุษของมนุษย์ในที่สุด

ในยุคนี้ อุทยานธรณีโคราช เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเมื่อหลายสิบล้านปีที่ผ่านมา ที่นี่ เราพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณหลายชนิด ที่มีวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์ในปัจจุบัน เช่น ช้างดึกดำบรรพ์ อุรังอุตังโคราช บรรพบุรุษฮิปโปโบราณ แรดโคราช ไร้นอ รวมทั้งฟอสซิลสัตว์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ยีราฟคอสั้น ม้าสามนิ้วฮิปปาเรียน ชาลิโคแธร์ เสือเขี้ยวดาบ หมูป่า กวางเขาเกลียว วัวควาย ไฮยีน่า ช้างสเตโกดอน ช้างเอลิฟาส กวางดาว กูปรี ลิงแม็คแคก หมาใน เลียงผาใต้ แรดชวา แรดอินเดีย เรียกได้ว่า อุทยานธรณีโคราช  เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโบราณที่มากมายและหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยทีเดียว

และเมื่อเวลาเพียงแค่ 2 นาที 44 วินาที สมมุติก่อนปัจจุบัน ที่ 23: 57 น 16 วินาที บรรพบุรุษของมนุษย์ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้น จากการวิวัฒนาการแยกสายออกมาเป็นสกุลโฮโม (Homo Genus) เมื่อ 2.3 ล้านปีที่ผ่านมา และกำเนิดเป็น Homo sapiens เมื่อ 23:59:23 น. ที่ทวีปอาฟริกา ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อมาในปัจจุบัน โดยค้นพบฟอสซิลของ Homo sapiens มีอายุ 195,000 ปีก่อนคริสตกาล และมนุษย์เริ่มมีอารยธรรมค้นพบการใช้ไฟเมื่อ 125,000 ปี ก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะเผชิญความหนาวเหน็บอย่างรุนแรงเมื่อ 110,000-10,000 ปีก่อนคริสตกาล และหลักฐานป่าดึกดำบรรพ์ของต้นไม้ชนิดที่ไม่พบในภาคเหนือของประเทศไทย ที่เติบโตครอบครองพื้นที่โลกเมื่อ 120,000 ปีที่ผ่านมา ร่วมสมัยกับบรรพบุรุษของมนุษย์ คือ ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกที่พบที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จังหวัดตาก ก็เป็น อีกตัวอย่างหนึ่งของหลักฐานทางธรณีวิทยา ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่คุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่รอคอยการค้นพบ ณ พื้นที่ศักยภาพในการพัฒนาเป็นอุทยานธรณีตาก โดยมีต้นทองบึ้งโบราณอายุกว่า 100,000 ปี ยาว 72.2 เมตร กำลังรอคอยการบันทึกสถิติโลก Guinness World Record ว่าเป็นไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก

ท่องโลกบรรพกาล ผ่านอุทยานธรณี

กว่า 4.6 พันล้านปีที่ผ่านมา โลกและสิ่งมีชีวิตได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมายส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในยุคต่างๆ ราว 5,000 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้เป็นอย่างมาก ทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต ไม่เฉพาะมนุษย์ด้วยกันเอง ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น เราจะรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่อย่างไรเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้คงอยู่สืบไป หรือจะกลายเป็นซากอารยธรรมและซากดึกดำบรรพ์ให้สิ่งมีชีวิตอื่นในอนาคตได้ศึกษาในอุทยานธรณี ก็ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสังคมของมวลมนุษยชาติเอง

ในงานมหกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล ปีปกติใหม่ 2564 “จาก 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่”ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-24 กันยายน ที่จะถึงนี้  นอกจากจะนำเสนอ 6 เส้นทางการท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Exhibition) ของอุทยานธรณีโลกสตูลตามชื่องานแล้ว  ยังมีนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) ที่ ชวนย้อนอดีตท่องโลกบรรพกาล กับอุทยานธรณีทั่วประเทศไทยด้วย  ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดการจัดงานและการลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ กรมทรัพยากรธรณี www.dmr.go.th

อ้างอิง :

https://ucmp.berkeley.edu/ordovician/ordovician.php 

https://www.britannica.com/science/Devonian-Period 

https://www.geopark-thailand.org/อุทยานธรณีโคราช