posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบห้า):การเมืองสามฝ่ายในต้นรัชกาลที่ห้า

09 กันยายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

สมการทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่ห้าดำรงอยู่ในสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างสามฝ่าย อันได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือฝ่ายวังหลวง สอง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญหรือฝ่ายวังหน้า และสาม ฝ่ายขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นั่นคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และระหว่างสามฝ่ายนี้ ฝ่ายที่มีอำนาจนำคือ ฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ

ทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตั้งสมาคมสยามหนุ่มในปี พ.ศ. 2417 และเรียกทับศัพท์ว่า “ยังไซยามโซไซเอตี” และมีประธานหรือนายกสมาคมคือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และอุปนายกหรือรองประธานคือ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งขณะนั้น ทรงพระชันษาเพียง 14 ปี

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบห้า):การเมืองสามฝ่ายในต้นรัชกาลที่ห้า

   เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)                              เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

ในฝ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ห้าเห็นว่า ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ายาฯ เข้าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมสยาม อันเป็นกลุ่มที่หมอสมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้กล่าวถึงและใช้คำว่า “the Conservative Siam” เป็นคนแรก แต่หมอสมิธไม่ได้ลงในรายละเอียดว่าหมายถึงใครบ้าง แต่วัยอาจเห็นว่า น่าจะเป็นฝักฝ่ายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ

วัยอาจเห็นว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมสยามเป็นกลุ่มการเมืองที่อำนาจอิทธิพลทางการเมืองที่เข้มแข็งที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การนำของสมเด็จเจ้าพระยาฯและกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค จากความสามารถ ประสบการณ์ อำนาจ และความมั่งคั่ง ที่เริ่มเติบโตและสั่งสมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สอง โดยบุคคลต่างๆในตระกูลของสมเด็จเจ้าพระยาฯได้เข้าควบคุมตำแหน่งสำคัญๆในส่วนราชการทั้งหมด

ผู้ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมคือเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชาย ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งพระคลังและกรมท่าคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ขำ บุนนาค น้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าราชการได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้มอบให้น้องชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งคือ ท้วม บุนนาค (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์และดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่า

ดังนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ท้วม บุนนาค) จึงอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสยามภายใต้สมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้วทำไมถึงมาเป็นประธานกลุ่มสยามหนุ่มที่อยู่ภายใต้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ?

วัยอาจอธิบายว่า จริงอยู่ที่พระยาภาสกรวงศ์อยู่ในกลุ่มสยามอนุรักษ์นิยม แต่ต่อมาได้แตกหักผู้ใหญ่ในตระกูล และหันไปนำกลุ่มสยามหนุ่ม

อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ได้อธิบายการย้ายสังกัดของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯไว้ว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเป็นบุคคลที่มีสถานะที่คลุมเครือที่สุดในกลุ่มสยามหนุ่ม เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเป็นหนึ่งในชนชั้นนำไทยไม่กี่คนที่ได้เดินทางไปยุโรปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

และหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2411 เพียงหนึ่งปี สมเด็จเจ้าพระยาฯในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาได้แต่งตั้งเขา (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่าแทนกรมขุนวรจักรธรานุภาพที่เคยขัดขวางความคิดเห็นในตอนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและเลื่อนยศให้เป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ รวมทั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลังทั้งว่าการต่างประเทศด้วย

ในปี พ.ศ. 2414 เขาได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเมื่อครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯคัดค้านแผนการเสด็จประพาสยุโรป แต่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ในฐานะเสนาบดีกรมพระคลังได้เข้าพบโทมัส น๊อกซ์ กงสุลอังกฤษ และขอให้ช่วยเจรจาต่อรองกับสมเด็จเจ้าพระยาฯให้อนุญาตเรื่องการเสด็จประพาสอินเดียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโดยที่เขาจะตามเสด็จด้วย

อาจารย์กุลลดายังได้อธิบายว่า ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ให้เป็นประธานสยามสมาคม (the Siam Society) และอาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์เป็นผู้อาวุโสและยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝ่ายสยามอนุรักษ์นิยม จึงน่าจะเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงต้องการเลี่ยงมิให้สมาชิกตระกูลขุนนางผู้ใหญ่ตระกูลบุนนาคต้องรู้สึกแปลกแยกกับการเกิดสมาคมสยามหนุ่ม โดยให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ผู้เป็นสมาชิกในตระกูลบุนนาคเข้าไปอยู่ในสมาคมสยามหนุ่มที่พระองค์ทรงกำกับดูแลอยู่

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์กุลลดาที่ว่าการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์เป็นประธานสยามสมาคมน่าจะเป็นกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และขอสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า น่าจะเป็นด้วยเหตุผลอีกสองประการ นั่นคือ

หนึ่ง ด้วยวัยและประสบการณ์ ด้วยวัย 43 ปีของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เขาจึงเป็นคนรุ่นตรงกลางที่จะสามารถเชื่อมระหว่างคนรุ่นสมเด็จเจ้าพระยาฯและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯกับคนรุ่นเดียวกันกับพระองค์ รวมทั้งการที่เขาเป็นผู้มีประสบการณ์การเดินทางร่วมกับคณะทูตไปอังกฤษและตามเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา ซึ่งในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าพระยาภาณุวงศ์น่าจะเป็นขุนนางคนหนึ่งที่มีอุดมคติร่วมกันกับกลุ่มสยามหนุ่มอยู่บ้างและต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเป็นพวกหัวสมัยใหม่

สอง ก่อนหน้านี้ พระองค์ทรงได้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) น้องคนเล็กสุดของสมเด็จเจ้าพระยาฯมาอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มและพระยาภาสกรวงศ์ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯให้เป็นที่ปรากฎอย่างไม่มีข้อสงสัยด้วย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่ยี่สิบห้า):การเมืองสามฝ่ายในต้นรัชกาลที่ห้า

                                พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพยายามดึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯซึ่งเป็นคนรุ่นกลางจากตระกูลบุนนาคมาเข้ากลุ่มสยามหนุ่มเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงโปรด และเป็นการพยายามแยกคนรุ่นใหม่ออกจากคนรุ่นเก่าภายในตระกูลบุนนาคเอง โดยพระองค์ทรงคาดหวังที่จะได้รับความเห็นพ้องและความจงรักภักดีจากเจ้าพระยาภาณุวงศ์ในทำนองเดียวกันกับที่ได้จากพระยาภาสกรวงศ์

เราสามารถตอบข้อสงสัยได้แล้วว่า ทำไมเจ้าพระยาภาณุวงศ์ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของสมเด็จพระยาฯ ถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกลุ่มสยามหนุ่ม

แต่แน่นอนว่า คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วด้วยสาเหตุใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึงได้พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) น้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯมาเป็นพวก ยิ่งกว่านั้น พระยาภาสกรวงศ์ยังแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์และแสดงความคิดท้าทายสมเด็จพระยาฯอย่างชัดเจนด้วย ?

(แหล่งอ้างอิง:David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย; สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 3 สายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) พ.ศ. 2373-2456. http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang006.html)