posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบห้า): “นักสู้: the Realist”

30 สิงหาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร               

********************

“นักสู้” เป็นฉายาของตัวละครในนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “A Discourse by Three Drunkards on Government) เป็นนวนิยายที่เขียนโดยชาวญี่ปุ่นที่ชื่อนากาเอะ โชมิน ผู้เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง  นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2430 และอีก 97 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2527 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลกและตีพิมพ์เผยแพร่โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยโนบูโกะ ซึคุอิ (Nobuko Tzukui) และเป็นบรรณาธิการร่วมกับเจฟฟรี แฮมมอนด์ (Jeffrey Hammond)

ผมได้ถือวิสาสะตั้งชื่อไทยให้นวนิยายเรื่องนี้ว่า “สามขี้เมาคุยการเมือง” และเท่าที่สำรวจมา ยังไม่พบว่า มีใครเขียนหรือศึกษาวรรณกรรมเรื่องนี้  แต่ถ้ามีใครทราบว่า มีคนไทยเคยเขียนถึงหรือสถาบันการศึกษาไหนนำวรรณกรรมเรื่องนี้มาศึกษา กรุณาให้ข้อมูลด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบห้า): “นักสู้: the Realist”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบห้า): “นักสู้: the Realist”

ความสนุกของเรื่องอยู่ที่ มีตัวละคนสามคนที่นอกจากจะเป็นคอสุราแล้ว ยังเป็นคอการเมืองด้วย และไม่ใช่คอการเมืองระดับพื้นๆ แต่ละคนล้วนมีจุดยืนและมีองค์ความรู้ที่มีเหตุมีผลของตัวเอง ผู้แต่งได้ให้ อาจารย์นันไค ซึ่งเวลาเมาได้ที่ ก็จะปล่อยของสำแดงภูมิปัญญาความรู้ที่รอบรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์  ผู้คนจึงชอบที่จะมาฟังแกคุยตอนเมา และด้วยหตุนี้ วันหนึ่ง จึงมีอาคันตุกะแปลกหน้าสองคนแวะมาหาอาจารย์นันไคพร้อมพร้อมหิ้วเหล้าฝรั่งชั้นดีมาด้วย

หนึ่งในแขกแปลกหน้าของอาจารย์นันไคก็คือ “นักสู้” อันเป็นฉายาที่อาจารย์นันไคตั้งให้ เพราะเขามีความคิดตามวิถีซามูไร และยังแต่งตัวตามจารีตประเพณีด้วย  ส่วนอีกคนหนึ่งถูกตั้งฉายาว่า “สุภาพบุรุษ” เพราะแต่งตัวเต็มยศอย่างสุภาพบุรุษตะวันตก และแน่นอนว่า เขามีจุดยืนที่นิยมปรัชญาเสรีนิยมและเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการ

ในวงสนทนาภายใต้สุรา“สุภาพบุรุษ” ได้ร่ายยาวถึงเส้นทางอนาคตที่เขาเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นควรจะเลือกเดิน นั่นคือ ญี่ปุ่นควรจะต้องเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และควรอย่างยิ่งที่องค์พระจักรพรรดิจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และนอกจากเข้าสู่การปกครองพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว  ญี่ปุ่นควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ยึดมั่นในหลักเสรีภาพและความเสมอภาค พยายามรักษาสันติภาพ เลิกการมีกองกำลัง ห้ามทำสงคราม และมุ่งไปที่การพัฒนาการค้าและการอุตสาหกรรม  และหากทุกประเทศเดินบนเส้นทางที่ว่านี้ โลกก็จะมีแต่สันติสุข  แต่แม้ว่าประเทศอื่นๆจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ญี่ปุ่นต้องกล้าเปลี่ยน และหากต่างชาติยกกองกำลังมารุกราน ญี่ปุ่นก็จะไม่จับอาวุธสู้ และต้อนรับศัตรูอย่างอารยะ และเขาคิดว่า ในที่สุดแล้ว สันติวิธีจะชนะใจคนทั้งโลก

สาเหตุที่ “สุภาพบุรุษ” เชื่อเช่นนี้ก็เพราะเขาสมาทานปรัชญาความคิดสมัยใหม่ของตะวันตก ที่เชื่อในกฎวิวัฒนาการที่สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ทิศทาง แต่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ  มนุษย์เองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีขึ้น และการเมืองการปกครองก็เช่นกัน ต้องเปลี่ยนแปลงจากการปกครองโดยคนๆเดียวที่ปกครองโดยใช้อำนาจบังคับและตามอำเภอใจมาสู่การปกครองภายใต้กติกาที่ยอมรับโดยคนทั่วไป และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองผ่านการเลือกตั้ง

หลังจากที่ “นักสู้” ได้นั่งดื่มไปฟัง “สุภาพบุรุษ” เล่าไปอย่างยืดยาว มีบางครั้งที่ “นักสู้” พยายามจะพูด แต่ “สุภาพบุรุษ” ก็รีบขัดขึ้นและชิงตอบและอธิบายยืดยาวต่อไปอีก

มาคราวนี้ “นักสู้” ก็พยายามอีก !

เขาถาม “สุภาพบุรุษ” ว่า “สิ่งที่ท่านกล่าวมานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจ แต่ข้าพเจ้าอยากจะถามท่านอย่างหนึ่ง จากการที่ท่านกล่าวว่า ประเทศเล็กๆและอ่อนแอควรจะรีบเป็นประชาธิปไตยและยกเลิกการมีกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆนั้น เพราะท่านเชื่อและคาดหวังว่า ประเทศมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสจะชื่นชมยกย่องในความมุ่งมั่นในหลักการอันยิ่งใหญ่ของประเทศเล็กๆ และจะยื่นมือเข้ามาช่วย ใช่ไหม ?” 

 “สุภาพบุรุษ” รีบตอบว่า “ไม่เลย  เพราะเมื่อไรก็ตามที่ประเทศตัดสินใจกำหนดนโยบายของประเทศโดยอิงอยู่กับความหวังอะไรแบบนั้น ย่อมล้มเหลวแน่นอน  ข้าพเจ้าไม่ได้คาดหวังว่าจะมีประเทศมหาอำนาจจะมาช่วย ข้าพเจ้าไม่สนใจ ข้าพเจ้าเพียงแต่ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับหลักการทางจริยธรรม”

 “นักสู้”: “แล้วท่านจะทำอย่างไร ถ้ามีประเทศที่ชั่วร้าย เห็นโอกาสที่เราไม่มีกองกำลัง ยกทัพมาโจมตีเรา ?”

“สุภาพบุรุษ”: “ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ไม่มีประเทศอย่างนั้นหรอก แต่ถ้าสมมุติว่ามี เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหามาตรการในการรับมือ และมันเป็นความหวังของข้าพเจ้าที่จะไม่จำเป็นต้องมีการระดมทหารแม้แต่นายเดียวหรือต้องใช้กระสุนแม้แต่นัดเดียว แต่เราจะนิ่งและกล่าวอย่างสงบว่า ‘เราไม่เคยทำอะไรไม่ดีต่อท่าน เราไม่มีอะไรให้ท่านกล่าวหาได้’ ท่านนักสู้ การที่คนมาทำร้ายเรา แล้วเรามีสิทธิ์ที่จะทำร้ายตอบนั้น  ไม่ใช่เหตุผลที่ดี ที่โลกเป็นอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะตรรกะที่ว่านี้” 

และก่อนที่ “สุภาพบุรุษ” จะพูดต่อ อาจารย์นันไค ผู้ซึ่งนั่งฟังการสนทนามายาวนาน โดยไม่ได้ปริปากพูดอะไรสักคำ ก็ขัดจังหวะโดยการยกแก้วสุราของเขาขึ้นดื่ม และรินสุราให้กับ “สุภาพบุรุษ” และ “นักสู้” และกล่าวขึ้นว่า “ข้าพเจ้าฟังความของท่าน ‘สุภาพบุรุษ’ มาพอสมควร ข้าพเจ้าอยากจะฟังความเห็นของท่าน ‘นักสู้’  โปรดให้ความรู้แก่ข้าพเจ้าด้วย”

“นักสู้”: “ก่อนอื่น ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ว่านักวิชาการจะโต้เถียงให้เหตุผลอย่างไร แต่สงครามก็ยังคงอยู่ และมันเป็นพลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่ต้องการชัยชนะ และรังเกียจการพ่ายแพ้  สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ ไล่ล่าและฆ่าเหยื่อของมัน ถ้าสังเกตสัตว์ต่างๆให้ดี จะเห็นว่า ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ที่ฉลาดก็จะกล้าหาญด้วย สัตว์ที่โง่ๆก็จะขี้กลัว  เป็ดเป็นสัตว์ที่โง่ที่สุดในบรรดาสัตว์ปีกทั้งหมด และหมูก็เป็นสัตว์ที่โง่ที่สุดในบรรดาสัตว์บก เป็ดไม่สามารถต่อสู้ตอบโต้อะไรได้นอกจากร้องเท่านั้น หมูก็เช่นกัน เราสามารถบอกได้หรือว่า หมูและเป็ดเป็นสัตว์ที่ใจดีมีเมตตามีจริยธรรม ?” 

“หรือดูอย่างเด็กๆ ทันทีที่พวกเขาเริ่มคลานได้ พวกเขาก็จะใช้ไม้ตีหมาหรือแมว เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาเห็นมัน ดึงหางมันเล่น และพวกเด็กๆก็จะมีความสนุกสนานกับการกระทำแบบนั้น เด็กที่ไม่ทำแบบนั้น ก็คือเด็กที่ป่วยหรือขี้หงอ นอกจากนี้ ความไม่พอใจคือการแสดงออกของความรู้สึกทางจริยธรรม ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะมีความรู้สึกทางจริยธรรมได้หากโกรธไม่เป็น  แมวที่จับหนู เพราะการจับหนูคือการแสดงออกทางจริยธรรมของแมว  หมาป่าที่จับกวางก็เช่นเดียวกัน มันทำไปภายใต้ความรู้สึกทางจริยธรรมในแบบของหมาป่า  เรากล่าวได้ไหมว่า การกระทำของแมวและหมาป่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้จริยธรรม ?  คำกล่าวที่ว่า ‘สัตว์เหล่านี้ป่าเถื่อน’ เป็นการเอาวิธีคิดแบบของคนไปตัดสิน” 

“นักวิชาการเองก็เถอะ ที่พยายามอ้างว่า ตนให้คุณค่ากับหลักการและเหตุผล และรังเกียจความขัดแย้ง แต่จริงๆแล้ว พวกเขาก็ต้องการเอาชนะและไม่ชอบที่จะแพ้เช่นกัน  เวลานักวิชาการสองคนแสดงทรรศนะของตนออกมาแบบเผชิญหน้า พวกเขาก็จะโต้เถียงและหักล้างกันและกันจนเสียงแหบเสียงแห้ง และลงเอยด้วยการตะโกนใส่กัน และไม่ฟังกัน และเมื่อถึงตอนนั้น เราก็เดาได้เลยว่า พวกเขาจะอธิบายพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร พวกเขาจะแก้ตัวว่า ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการจะเอาชนะคะคาน แต่เขาต้องการให้หลักการของเขาชนะ เขาต่อสู้ด้วยหลักการ  แต่นั่นก็เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น   เพราะถ้าหากเขาต้องการเอาชนะด้วยหลักการ ทำไมเขาไม่แสดงออกอย่างสุขุมสงบและไม่ใช้อารมณ์เล่า ?”

“การทะเลาะกันนั้นเป็นผลจากความโกรธของคนแต่ละคน สงครามเป็นผลมาจากความโกรธของประเทศ พวกที่ปฏิเสธที่จะทะเลาะคือคนขี้ขลาด ชาติที่ปฏิเสธที่จะต่อสู้ในสงครามคือชาติที่อ่อนแอ  คนที่บอกว่าการทะเลาะกันเป็นเรื่องเลวร้ายและสงครามเป็นเรื่องไร้เหตุผล  ให้ลองถามเขาว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร หากความจริงคือ คนแต่ละคนล้วนแต่มีความชั่วร้ายในตัวทุกคน ?  แล้วจะให้ทำอย่างไร หากความจริงคือ ประเทศทุกประเทศล้วนไม่มีเหตุผล ? กล่าวสั้นๆก็คือ จะทำอย่างไรกับความจริงที่ว่านี้ ?”

“ดังนั้น บรรดาชาติที่อารยะจึงจะต้องเข้มแข็งอยู่เสมอ พวกเขาทำสงครามแต่ไม่มีความขัดแย้งภายในประเทศ เพราะพวกเขามีกฎหมายที่เคร่งครัด พลเมืองของพวกเขาไม่ทะเลาะกัน เพราะประเทศเหล่านี้รักษากองทัพที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับประเทศอื่นๆ คนป่าไม่เคยหยุดทะเลาะกัน แล้วเมื่อไรพวกเขาจึงจะมีเวลาไปทำสงคราม ? ถ้าดูในประวัติศาสตร์ให้ดี จะเห็นว่า ประเทศอารยะในสมัยโบราณจะรบเก่งมาก และเช่นกัน ประเทศอารยะในปัจจุบันก็คือประเทศที่รบเก่ง  สปาร์ตาเป็นเลิศในการสงคราม โรมก็เช่นกัน  และในยุคสมัยใหม่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซียก็เป็นนักรบที่สุดยอด

เมื่อสังคมก้าวหน้า วิทยาการความรู้พัฒนา จำนวนทหารก็มีมากขึ้น อาวุธยุทโธปกรณ์ก็พัฒนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ป้อมปราการก็มีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น แสนยานุภาพคือตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละประเทศ สงครามคือเทอร์โมมิเตอร์วัดขีดความสามารถของความอารยะของแต่ละประเทศ  เมื่อประเทศสองประเทศจะทำสงครามกัน ประเทศที่มีวิทยการความรู้และเศรษฐกิจดีกว่าต้องชนะอย่างแน่นอน เพราะมีแสนยานุภาพที่เหนือกว่า  ในทวีปทั้งห้า ยุโรปมีอารยธรรมที่ก้าวหน้ามากที่สุด และมีแสนยานุภาพที่เหนือกว่ามากที่สุด ดังนั้น ยุโรปจึงแข็งแกร่งที่สุดในสงคราม เป็นหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอนที่สุด ที่ไม่มีทางเถียงได้”

นี่เป็นครั้งแรก ที่ “นักสู้” ได้พูดยาวที่สุด (ซึ่งก็ไม่ได้มีเพียงแค่นี้นะครับ !)

จะเห็นได้ว่า วิธีคิดของเขานั้นแตกต่างตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความคิดของ “สุภาพบุรุษ”  ฟังดูแล้วอาจจะสุดโหด ซึ่งในทางการเมืองระหว่างประเทศเขาจะเรียกจุดยืนแบบนี้ว่า “Realism”

แต่ของ “สุภาพบุรุษ” ก็ดู “ลาเวนเดอร์” เกิน  (Idealism)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดหรือจุดยืนของแต่ละคนนั้น มี “จุดขาย” หรือ “ข้อดี” อยู่

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากที่นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2430 อีกสองปีต่อมา ญี่ปุ่นก็เข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีรัฐธรรมนูญตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 ส่งผลให้องค์จักรพรรดิอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และอีกหนึ่งปีต่อมาก็มีการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยตะวันตก กล่าวได้ว่า สิ่งที่ “สุภาพบุรุษ” ได้เสนอไว้ ได้เกิดขึ้นจริงตามที่เขาแนะนำ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกันว่า ความคิดของ “นักสู้” ก็เกิดขึ้นจริงกับประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ ญี่ปุ่นได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นประเทศที่ทำสงครามชนะยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีนได้ ส่งผลให้ตื่นตะลึงไปทั่วทวีปเอเชีย  และต่อมาญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นประเทศล็กในเอเชียที่ส่งเครื่องบินไปถล่มอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbour) ของอเมริกา และในเอชีย กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้าดินแดนดังต่อไปนี้ เช่น ไต้หวัน เกาหลี จีน ลาว ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย ฟิลลิปินส์ อีสอินดี้ สิงคโปร์ พม่า อีสติมอร์ กวม ฯลฯ และจะหยุดญี่ปุ่นได้ก็ด้วยระเบิดปรมาณูเท่านั้น !

ความคิดของโชมินที่ถ่ายทอดผ่าน “นักสู้” และ “สุภาพบุรุษ” ดูจะเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำอย่างยิ่งต่ออนาคตของญี่ปุ่น ?!