posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (18)

28 สิงหาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

คนไทยเชื่อว่าเราเกิดมาใช้กรรม ดั่งขุนแผนที่ต้องฝ่าฟันวิบากกรรมถึง3 ชั่วคน

ขุนแผนถูกจองจำด้วยเหตุที่ “บังอาจ” ไปกราบทูลขอนางลาวทอง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วว่าการลงโทษขุนแผนในครั้งนั้นเป็นด้วย “พระราชอัชฌาศัย” ล้วน ๆ คือไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายอะไรเลย ต่อมานางวันทองจะไปเยี่ยมสามีในคุก ระหว่างทางก็ถูกผู้คนมากลุ้มรุมเข้าจับตัว พอจะมีชาวบ้านอื่น ๆ เข้าไปช่วย

ผู้คนเหล่านั้นก็ตะโกนว่า นางวันทองเป็นหนี้ขุนช้างอยู่อีก 5 ชั่ง ต้องกุมตัวไปใช้หนี้ขุนช้าง ตรงนี้ก็ต้องอธิบายความในแนวรัฐศาสตร์ว่า สมัยอยุธยานั้นคนที่เป็นทาสจะเป็นเสมือนสมบัติของนายทาส นายทาสจะเอาไปทำอะไรก็ได้ อย่างกรณีของนางวันทองคงจะอยู่ในฐานะนั้น เพราะตอนที่นางศรีประจันแม่ของนางวันทองต้องโทษให้เฆี่ยนและประจาน ในกรณีที่ขายลูกสาวให้ขุนช้าง ขุนช้างก็ได้นำเงินมาไถ่โทษให้ นางวันทองจึงต้องมีหน้าที่ชดใช้หนี้แทนมารดา นางวันทองจึงขาดอิสระโดยสิ้นเชิง และต้องมาเป็นเมียขุนช้างด้วยสภาพลูกหนี้ดังกล่าว

ต่อมาไม่นานนางวันทองก็คลอดพลายงาม ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าพลายงามเป็นลูกของขุนแผน ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ขุนแผนลักนางวันทองหนีเข้าป่า ก่อนที่จะกลับใจมามอบตัว และชนะคดีความกับขุนช้าง จนได้นางวันทองคืนมาแล้ว แต่ก็มาถูกจำคุกด้วยการไปกราบทูลขอนางลาวทองคืนมาดังกล่าว ขุนช้างเองก็รู้ทั้งรู้ แต่ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน อย่างน้อยก็สามารถชดเชยความรู้สึกที่แพ้คดีขุนแผนนั้นได้บ้าง คือได้เอาเมียขุนแผนมามาเป็นเมียตนเอง รวมถึงที่ต้องแกล้งแสดงว่ารักพลายงามนั้นเหมือนลูก แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ทนชาวบ้านนินทาไม่ได้ ขุนช้างจึงหลอกเด็กชายพลายงามเข้าป่าเพื่อฆ่าให้ตาย

ฉากนี้เป็นฉากที่ทารุณจิตใจคนอ่านมาก ๆ เพราะพลายงามนั้นยังไร้เดียงสาและเชื่อมาโดยตลอดว่าขุนช้างเป็นพ่อจริง ๆ แต่ก็ต้องมาถูกฆ่าโดยคนที่เชื่อว่าเป็นพ่อนั้น โชคดีผีพรายที่ขุนแผนส่งมาคุ้มครองดูแลนางวันทองและพลายงามมาช่วยแก้ให้ฟื้นคืนมาชีวิตมาได้ และดลบันดาลให้นางวันทองออกมาหาลูกจนเจอ ฉากนี้ก็ยิ่งสะเทือนใจ

ถ้าจำไม่ผิดกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาเป็นบทอาขยานให้นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ท่องจำอยู่สมัยหนึ่ง ซึ่งตอนที่ผู้เขียนเรียนอยู่ในระดับชั้นนั้นก็เคยได้ท่องจนจำได้หลายส่วน โดยเฉพาะตอนต้นของอาขยานที่ว่า “นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด โอ้ชาตินี้มีกรรมจะทำไฉน” และยิ่งคุณครูที่สอนท่านได้ใส่อารมณ์ของความเป็นแม่ขับร้องเป็นเสภาออกมาอย่างโหยหวนด้วยแล้ว คนทั้งหลายถ้าได้ฟังก็คงจะ “ใจจะขาด” ตามไปด้วยเช่นกัน

นางวันทองพาพลายงามไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นย่าที่กาญจนบุรี พลายงามก็ได้เรียนวิชาการและวิชาคุณไสยต่าง ๆ กับนางทองประศรี ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เชื่อว่า นางทองประศรีก็คงเอามาจากตำราต่าง ๆ ที่ขุนแผนเคยเรียนมาแล้วนั่นเอง อย่างที่กลอนเสภาในตอนนี้เขียนไว้ว่า

“อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย                  ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี

ทั้งขอมไทยให้สิ้นก็ยินดี                                 เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์

ปัถมังตั้งตัวนะปิดตลอด                                 แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน

หัวใจกฤตย์อิทธิเจเสน่ห์กล                              แล้วเล่ามนตร์เสกขมิ้นกินน้ำมัน”

พอพลายงามอายุได้สักสิบ12-13 ปี คนโบราณก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนวัยเข้าสู่วัยเป็นผู้ใหญ่ นางทองประศรีได้จัดงานโกนจุกให้พลายงามอย่างใหญ่โต หลังการโกนจุกพลายงามก็ขออนุญาตนางทองประศรีไปเยี่ยมพ่อที่อยู่ในคุกที่อยุธยา นางทองประศรีก็นำพลายงามไปฝากฝังกับเจ้าหมื่นศรี ที่เป็นหัวหมู่มหาดเล็กและเป็นเพื่อนกับขุนแผน (ที่เคยห้ามไม่ให้ขุนแผนไปกราบทูลขอนางลาวทอง แต่ขุนแผนไม่เชื่อคำแนะนำนี้ เลยถูกกริ้วและถูกจำขังในที่สุด) เจ้าหมื่นศรีก็รักเหมือนลูก ทั้งยังให้พลายงามได้ร่ำเรียนวิชา “การเป็นข้าราชการ” ที่ท่านอาจารยคึกฤทธิ์เรียกตรง ๆ เลยว่า “วิชารัฐศาสตร์” และนำบทเสภาในตอนนี้มาเขียนไว้อีกด้วย

“ครานั้นเจ้าหมื่นศรีเสาวรักษ์ราช                   เรียกพลายงามทรามสวาทมาสั่งสอน

จะเป็นข้าจอมนรินทร์ปิ่นนคร                        อย่านั่งนอนเปล่าเปล่าไม่เข้าการ

พระกำหนดกฎหมายมีหลายเล่ม                    เก็บไว้เต็มตู้ใหญ่ไขออกอ่าน

กรมศักดิ์หลักชัยพระอัยการ                         มณเฑียรบาลพระบัญญัติคัดสำนวน

แล้วให้รู้สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง                    ตามกระทรวงผิดชอบคิดสอบสวน

ราชาศัพท์รับสั่งให้บังควร                           รู้จงถ้วนถี่ไว้จึงได้การ”

ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชาหลักราชการไทย ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ท่านอาจารย์ผู้สอนก็นำเสภาตอนนี้มาอ้างอิงอธิบายให้นิสิตได้เข้าใจเกี่ยวกับวิชาต่าง ๆ ที่ข้าราชการไทยจะต้องเรียนรู้มาตั้งแต่สมัยโบราณนั้นด้วย รวมถึงยังได้มอบงานให้ไปค้นคว้าหนังสือบางเล่มที่อยู่ในบทกลอนนั้นอีกด้วย อย่างที่ผู้เขียนไปค้นหาได้ก็คือ “สุภาษิตพระร่วง” ซึ่งยังมีการใช้เป็นตำราเรียนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพ่อขุนรามคำแหง และคนโบราณก็ท่องจำเขียนอ่านกันมา อย่างที่มีการนำมาอ้างอิงกันบ่อย ๆ ก็เช่น “ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าไฝ่เอาทรัพย์ท่าน อย่าริร่านแก่ความ ประพฤติตามบูรพระบอบ เอาแต่ชอบเสียผิด อย่ากอบกิจเป็นพาล อย่าอาจหาญแก่ท่าน” เป็นต้น

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่วิชาการที่มีตำราเขียนไว้ให้เรียนรู้ ก็คือวัตรปฏิบัติของคนที่เป็นข้าราชการ ที่จะต้องเรียนรู้ด้วย “นิสัยสันดาน” ของตัวเอง นั่นก็คือ “การทำตัวให้ใกล้ชิดกับเจ้านาย” อันเป็นหนทางที่จะนำความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองมาสู่ชีวิต อย่างที่กลอนเสภาในตอนนี้กล่าวไว้ว่า

“อยู่บ้านพระหมื่นศรียินดีครัน          ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน

เธอเข้าเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด            คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาศัย

ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบ               ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช”

ถึงตรงนี้บางท่านอาจจะสังเกตเห็นแล้วว่า ส่วนไหนที่สำคัญที่สุดในการเป็นข้าราชการ ซึ่งในความเข้าใจส่วนตัวของผู้เขียนก็คือ “คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาศัย” ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชี้ให้เห็นมาโดยตลอดว่า การปกครองในสมัยโบราณนั้น ขึ้นอยู่กับพระราชอัชฌาศัยของพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ นั่นก็คือเราจะรู้ใจใครก็ไม่สำคัญเท่ารู้ใจผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ซึ่งอาจจะนำไปเทียบเคียงได้กับ “ข้อคิด” เรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่เขียนไว้ในเรื่องพระอภัยมณี (เชื่อกันว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งเสภาตอนกำเนิดพลายงามและตอนพลายงามเข้ารับราชการนี้ จึงมีข้อคิดหลายส่วนในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่สุนทรภู่นำไปเชื่อมโยงไว้ในเรื่องพระอภัยมณีนั้นด้วย) ที่มีหลาย ๆ คนพอจะท่องจำได้ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

นี่แหละที่เขาสอนข้าราชการมาแต่โบราณ แต่คนไทยบางส่วนก็เอาไปใช้เพื่อการอยู่รอดเสียนี่

******************************