posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (14)

31 กรกฎาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

****************

ทราบไหมว่าในสมัยอยุธยา ไทยเราต้องอิมพอร์ตม้ามาจากต่างประเทศ

คนที่เรียนประวัติศาสตร์คงจะพอจำได้บ้างว่า ฝรั่งชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาประเทศไทยคือ โปรตุเกส โดยเข้ามาเป็นทหารรับจ้างในสมัยพระชัยราชาธิราช พร้อมกับนำอาวุธสมัยใหม่ คือ ปืนไฟ เข้ามาสู่กองทัพอยุธยาด้วย แต่ความจริงแล้วชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาประเทศไทย คือ เปอร์เซียหรืออิหร่าน ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ยังเป็นอาณาจักรทวารวดี โดยมาค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ด้านทะเลอันดามันของไทย ดังที่มีการขุดพบสินค้าจำพวกลูกประคำ เครื่องแก้ว ฯลฯ ในหลาย ๆ เมืองเหล่านั้น

ในเรื่องขุนช้างขุนแผน หลังจากที่ขุนแผนได้กุมารทองและตีดาบฟ้าฟื้นเสร็จแล้ว ก็เดินทางลงใต้ไปหาซื้อม้า จากชายแดนที่ขุนแผนตระเวนไพรอยู่แถวเมืองกาญจน์ ก็เดินทางผ่านราชบุรีและเพชรบุรี จนมาถึงเมืองมะริด (ซึ่งถ้าดูในแผนที่ประเทศไทยจะอยู่ด้านทิศตะวันตกติดกับเมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ต้องข้ามภูเขาตะนาวศรีไป มีเมืองสำคัญคือ มะริด ทวาย และตะนาวศรี ซึ่งในอดีตเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญมาก โดยทั้งสามเมืองนี้อยู่ในเขตอำนาจหรือเป็นเมืองขึ้นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนถึงยุคฝรั่งมาล่าเมืองขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเราก็จำยอมยกเมืองทั้งสามนี้ให้แก่อังกฤษไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ) ซึ่งที่เมืองมะริดนี้ ได้มีขุนนางที่ได้รับพระราชโองการจากพระพันวษา ให้มาหาซื้อม้าอยู่ก่อนแล้ว

“จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ       พระโองการตรัสให้ไปตะนาวศรี

ไปตั้งอยู่มะริดเป็นครึ่งปี                      กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป

ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า                 ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่

ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นใบ                   เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา

หลวงศรีได้ม้ามามอบให้                      ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า

อีเหลืองเมืองมะริดพลอยติดมา              ผัวมันทั่นว่าเป็นม้าน้ำ

มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก                        มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ

ร้ายกาจนักหนานัยน์ตาดำ                     เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา”

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้นำขุนช้างขุนแผนมา “อ่านใหม่” บรรยายความตรงนี้ว่า ม้าสีหมอกนั้นเป็นม้าเกเร มักจะเข้าไปก่อความวุ่นวาย ไล่โขกสับขบกัดม้าหลวงตัวอื่น ๆ จนโกลาหล พอขุนแผนเข้าไปถามซื้อ หลวงทรงพลก็ตกลงขายให้ทันที ในราคา ๑๕ ตำลึง หรือ ๖๐ บาท โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า “ที่เสภาบอกว่า พ่อของม้าสีหมอกเป็นม้าน้ำนั้น ฟังดูแล้วก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะคนไทยที่เริ่มเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น ดูเหมือนจะอ่อนความรู้ในทางสัตวศาสตร์ ยังเชื่อกันจริง ๆ ว่า ม้านั้นมีทั้งม้าบกและม้าน้ำ มิหนำซ้ำยังอาจผสมพันธุ์กันได้อีกด้วย” โดยวิธีการปราบพยศที่ทำให้สีหมอกเชื่องลงจนขุนแผนขึ้นขี่และควบคุมได้ก็คือ การเสกหญ้าให้สีหมอกกิน อันเป็นวิชาที่ขุนแผนได้ร่ำเรียนมานั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังอธิบายต่อไปว่า คำว่า “ม้าเทศ” ในกลอนเสภาตอนนี้ “จะต้องเป็นม้าที่มาจากประเทศอิหร่าน ซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศที่มีม้าพันธุ์ดีโดยมิต้องสงสัย เมื่อเกิดเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เมืองมะริดยังเป็นเมืองท่าของไทยทางทิศตะวันตกอยู่ การติดต่อกับประเทศอินเดียและประเทศอิหร่านนั้น ใช้เมืองมะริดเป็นเมืองท่า ส่วนผู้ที่ไปซื้อม้านั้นเป็นขุนนางแขก ชื่อ หลวงศรีวรข่าน ไม่ใช่ขุนนางไทย ในสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่าในราชการใช้ขุนนางแขกที่มาจากอิหร่านเป็นจำนวนมาก ... ม้าที่ใช้ในราชการทัพสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น คงจะเป็นม้าไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะหาได้ง่ายในประเทศ และเป็นม้าที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนหญ้าและน้ำ สามารถไปในราชการทัพอย่างสมบุกสมบันได้ ส่วนม้าอิหร่าน ที่เรียกกันว่า ม้าเปอร์เซีย นั้น เป็นม้าประเภทสวยงาม คงจะสั่งซื้อมาเพื่อเป็นม้าต้นของพระเจ้าแผ่นดิน หรือม้าทรงของเจ้านาย และม้าขุนนางผู้มีบุญวาสนา เพื่อเอามาขี่เอาสวยเอางามกันเท่านั้น”

อ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงข้อวิเคราะห์ของนักวิชาการบางท่าน ที่ศึกษาการเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า มีการคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศหลายชาติ เหตุผลหนึ่งก็คือเพื่อต้องการ “ถ่วงดุล” ระหว่างพวกต่างชาติทั้งหลายเหล่านั้น เนื่องจากมีบางชาติที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลเหนือพระเจ้าแผ่นดิน เช่น กรีก และ ฝรั่งเศส ดังนั้นพอสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชาก็ลดอำนาจของฝรั่งบางชาติเสีย แล้วหันมาเพิ่มอำนาจหรือส่งเสริมบทบาทของขุนนางชาติอื่น โดยเฉพาะขุนนางแขก คือ เปอร์เซีย หรือ อิหร่าน นี้ โดยเมื่อมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขุนนางอิหร่านก็มีตำแหน่งสูง ๆ อยู่ในราชสำนักเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเติบโตของขุนนางสกุล “บุนนาค” ที่มามีอิทธิพลยิ่งใหญ่ในช่วงต้นกรุงรุตนโกสินทร์ ก็เริ่มจากการขึ้นสู่ตำแหน่งราชการในระดับสูงตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นนั่นเอง

คนที่เรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศมาบ้าง คงจะนึกออกว่า ผู้นำของไทยนั้นมีความสามารถในการปรับตัวกับนานาชาติมาตั้งแต่โบราณ ที่ในวิชาการด้านนี้เรียกนโยบายเช่นนี้ว่า “ไผ่ลู่ลม” ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ที่จีนเป็นมหาอำนาจอยู่ในดินแดนแถบนี้ ไทยเราก็อ่อนน้อมแสดงความสามิภักดิ์ เพื่อรับความคุ้มครองจากจีน จนถึงสมัยอยุธยาที่ฝรั่งเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อชาติต่าง ๆ ในแถบนี้ ไทยก็เป็นประเทศที่คบหากับฝรั่งทุกชาติ รวมถึงการถ่วงดุลระหว่าฝรั่งชาติต่าง ๆ เหล่านั้น จนเมื่อฝรั่งบางชาติทำท่าว่าจะ “เด่น” มากไป ก็มีการไปคบ “แขก” เพื่อปรับการถ่วงดุลเสียใหม่ จนต่อมาในครั้งที่เราถูกภัยคุกคามของฝรั่งที่จะมายึดดินแดนในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็ไม่ก้าวร้าวแข็งขืน จนทำให้เกิด “จุดเกรงใจ” คือทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต้องชะงักการรุกราน ด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตที่ชาญฉลาดดังกล่าว

วันนี้พูดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมากหน่อย เพราะเบื่อการเมืองในประเทศไทยมาก ๆ ส่วนหนึ่งก็เห็นใจรัฐบาล ที่พยายาม “ถูลู่ถูกัง” ลากเข็ญแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทนอยู่มาได้จนถึงวันนี้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกสมเพชว่า การเมืองไทยเราไม่มีทางออกและทางเลือกอะไรอีกแล้วหรือ

ว่ากันว่า ถ้าบิ๊กตู่ต้องออกไป ก็ยังจะได้นายกฯแบบนี้ และนักการเมืองพวกนี้แหละเป็นรัฐบาลต่อไป

******************************