posttoday

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ความคาดหวังที่มากขึ้นจากทุกภาคส่วน

28 มิถุนายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

****************************

ในการประชุม UNGC Leaders Summit 2021 นอกจากภาคเอกชนชั้นนำของไทยจะได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงานแล้ว ประเทศไทยยังมี ท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมกล่าวปาฐกถาในการเปิดประชุมความยั่งยืนระดับโลก ภายใต้หัวข้อ “Commemoration of the tenth Anniversary of the UN Guiding Principles on Business and Human Rights” ในโอกาสสำคัญของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 10 ปี ของการยอมรับหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ในระดับที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นความสำเร็จเกิดขึ้นในหลายประการจากความมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจของไทย ตามแนวทางของ UNGPs และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีผลงานที่โดดเด่น คือ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติ 4 ปี ว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า NAP (National Action Plan on Business and Human Rights)

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ความคาดหวังที่มากขึ้นจากทุกภาคส่วน

ในงาน UNGC Leaders Summit ปีนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงความก้าวหน้าล่าสุดของประเทศไทย ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ NAP และ UNGP ว่า ในปัจจุบันมีการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่ว่าจ้างผู้ต้องขังที่เคยถูกจองจำ เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำและส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 15 แห่งและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน-ด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines-Responsible Lending) เพื่อยืนยันว่า การดำเนินงานของธนาคารทั้งหมดจะต้องดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะ มีการจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน โดยต้องทำให้แน่ใจว่าธุรกิจต่าง ๆ เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในช่วงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ด้วย

ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ต่อภาคธุรกิจมีความคาดหวังที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่อยากเห็นองค์กรธุรกิจเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน นักลงทุน ผู้บริโภค นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ล้วนแต่แสดงความต้องการให้ภาคธุรกิจนำแนวคิดและมาตรการด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ ซึ่งความต้องการขององค์กรเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ เช่น เกณฑ์การพิจารณาของสถาบันลงทุนหรือเจ้าของเงินกู้ที่กำหนดให้มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือการกำหนดเกณฑ์การจัดอันดับผลการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ เช่น DJSI, FTSE Russell’s ESG Rating และมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูล เช่น มาตรฐาน GRI มาตรฐาน One-Report ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นต้น ขณะเดียวกัน กิจกรรมทางธุรกิจก็มีความซับซ้อนมากขึ้น แผ่ขยายไปทั่วโลก ดังเห็นได้จากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในปัจจุบัน โดยเฉพาะของบริษัทข้ามชาติ อันเป็นผลให้กิจกรรมทางธุรกิจเหล่านี้ย่อมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนมากขึ้น หลากหลายศาสนา วัฒนธรรม หรือสภาพเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนในแง่ใดแง่หนึ่งได้ง่ายโดยปริยาย

การนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติในองค์กรธุรกิจ หากยึดตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) สิ่งที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องทำ คือ เคารพสิทธิมนุษยชนตามการบังคับใช้กฎหมายขั้นพื้นฐาน ซี่งรวมถึงการดำเนินมาตรการปกป้องแรงงาน ได้แก่ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม การมีสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง การกำหนดเพดานชั่วโมงทำงานหรือการจ่ายค่าล่วงเวลาอย่างยุติธรรม  ในสถานการณ์ COVID-19 จะรวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่จำเป็น (PPE) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจนเจ็บป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิตด้วย ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของลูกจ้าง เช่น ป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บข้อมูลที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือต้องไม่ละเลยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากรับผิดชอบงานในองค์กรตัวเองแล้ว ก็จะต้องสนใจผลกระทบที่อาจมีต้นตอจากหน่วยงานอื่นที่ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และผู้รับจ้างช่วงด้วย โดยต้องประเมินสภาพการทำงานที่เหมาะสม การจ้างงานที่เป็นธรรมทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ต่อคำถามที่ว่า องค์กรธุรกิจจะ “เคารพ” สิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไร หลักการชี้แนะฯ ได้ระบุไว้ 3 ประการ กล่าวคือ หนึ่ง การออกนโยบายสิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจตรงกันในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และขอบเขตของเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับองค์กร  สอง การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (human rights due diligence) และ สาม การเยียวยาและจัดตั้งกระบวนการรับร้องเรียน (remediation and grievance mechanism)

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีพันธกิจส่งเสริมให้องค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย ทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) ทั้ง 17 ประการ โดยมียุทธศาสตร์สร้างความร่วมมือ เพิ่มการตระหนักรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในภาคธุรกิจไทย โดยได้จัดตั้งสถาบันการฝึกอบรมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights Academy) และพัฒนาหลักสูตร “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภาคปฏิบัติ” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และพันธมิตรจากหลายภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจในประเทศไทย และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปดำเนินการให้เกิดผลได้จริง พร้อมขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศผ่านแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพันธมิตรระดับชาติ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งภาคประชาสังคมต่าง ๆ เป็นต้น

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับหลักสูตรและความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนได้ที่เว็บไซด์ของสมาคม www.globalcompact-th.com