posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (8)

19 มิถุนายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยเป็นแบบ “หลวม ๆ” แม้กระทั่งในทุกวันนี้

คนที่อ่านประวัติศาสตร์อยุธยาจนมองเห็นภาพความต่อเนื่องออกมาได้ จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นไปอย่างง่ายดาย และหลายครั้งเป็นไปด้วยความรุนแรง คือ มีการฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า นี่คือ “วัฒนธรรมทางการเมืองไทย” และเมื่อมีการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในยุคนั้นให้ลึกลงไป ก็ค้นพบว่าการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อราษฎรที่อยู่ใต้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันต่อผู้ปกครอง ที่เรียกว่า “ความจงรักภักดี” นั่นเอง

กรุงศรีอยุธยาถือกำเนิดด้วยการแผ่ขยายอำนาจเข้าปกครองดินแดนต่าง ๆ แทนที่พวกขอมที่เคยเป็นเจ้าของอาณาเขตปกครองแว่นแคว้นต่าง ๆ อยู่ก่อนหน้านั้น แว่นแคว้นทั้งหลายจำต้องสวามิภักดิ์ต่ออยุธยาเพราะมีกำลังหรือความพร้อมในการสู้รบน้อยกว่า แต่ก็มีชาติพม่าที่ใช้อุดมการณ์เดียวกันคือการแผ่ขยายอำนาจนี้เข้ามาท้าทายอำนาจของกษัตริย์อยุธยา ได้ทำศึกสงครามกับอยุธยามาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะมีอำนาจมากกว่าอยุธยาเสียอีก เพราะสามารถยึดครองอยุธยาได้ถึง 2 ครั้ง

แม้ว่าในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะสามารถตอบโต้พม่าได้อย่างดุเดือด จนสามารถสร้างการยอมรับของแว่นแคว้นต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์ยอมอยู่ใต้อำนาจอีกครั้ง แต่พออยุธยาอ่อนแอลงในช่วงท้าย สภาพต่าง ๆ ก็กลับไปเป็นแบบเดิม คือมีการเอาใจออกห่างของหลาย ๆ ดินแดน แต่กระนั้นก็ไม่ร้ายแรงเท่า อาการ “หมดใจ” ของคนไทยด้วยกันเอง ที่เห็นได้จาก 2เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ก่อนที่จะเสียกรุงในครั้งที่ 2

เหตุการณ์แรกคือกรณีพระเจ้าตาก ที่ถูกเรียกเข้ามาช่วยรบพม่าในกรุงศรีอยุธยา โดยพระเจ้าตากจำต้องยอมทิ้งที่มั่นในทางภาคเหนือลงมาปกป้องอยุธยา ซึ่งตอนนั้นอยู่ในความระส่ำระสาย เพราะขาดผู้นำคือกษัตริย์ที่มีความสามารถเข้มแข็ง แต่พอมาเจอภาพที่วุ่นวายในการควบคุมทหารของอยุธยา ก็ทำให้พระเจ้าตากมองเห็นว่าอยุธยาคงจะไปไม่รอด ดังนั้นจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นการเตรียมกอบกู้แทนการปกป้อง โดยได้นำกองทัพไปตั้งหลักทางภาคตะวันออก แล้วกลับมาย้อนตีพม่าที่มีเพียงกองกำลังบางส่วนยึดเกาะอยุธยานั้นไว้ ครั้นขับไล่พม่าออกไปแล้ว แต่พอมาเห็นสภาพที่ยับเยินของอยุธยา ก็เปลี่ยนใจไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เมืองธนบุรี อันแสดงถึงการปิดฉากอำนาจของกษัตริย์อยุธยานับแต่บัดนั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เรื่องของชาวบ้านบางระจัน แม้ว่าเรื่องราวจริง ๆ ค่อนข้างจะไม่ชัดเจน เพราะข้อมูลส่วนมากจะเป็นเรื่องของคำบอกเล่า ทั้งยังเป็นเรื่องเล่าในลักษณะของ “ตำนานวีรบุรุษ” จึงย่อมเต็มไปด้วยสีสันเพื่อการเชิดชูวีรบุรุษเหล่านั้น

แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตอยู่หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ พวกชาวบ้านบางระจันเขารบ “เพื่อใคร” ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่า คนบางระจันก็เหมือนกับชุมชนคนไทยทั้งหลายในยุคนั้น ที่ไม่ได้ผูกพันกับผู้ปกครองที่เมืองหลวงอย่างมั่นคงเท่าใดนัก เพียงแต่เมื่ออยู่ใต้ระบบไพร่ที่กษัตริย์อยุธยากำหนด ก็จำต้อง “สงบเงียบ” แสดงความจงรักภักดีมิอาจบิดพลิ้ว

แต่ครั้นภัยมาจวนตัว เมื่อพม่าบุกผ่านมา ความรู้สึกเป็น “ชาติ” ก็เกิดขึ้นตามสัญชาติญาณเพื่อการปกป้องตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าคนบางระจันได้เข้าพึ่งบรรดาผู้นำในชุมชนนั่นเองเพื่อออกสู้รบ รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจด้วยพระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาในละแวกนั้น โดยสามารถต่อสู้เอาชนะพม่าได้ถึง 7 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายที่ได้ไปขอพระราชทานปืนใหญ่จากอยุธยา แต่เมื่อถูกปฏิเสธก็มาทำปืนใหญ่กันเอง แต่เพราะขาดความเชี่ยวชาญ จึงทำให้ปืนใช้ไม่ได้ กระทั่งต้องสู้รบด้วยกำลังเท่าที่เหลืออยู่และพ่ายแพ้เกิดเป็นตำนานดังกล่าว

ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้แสดงให้เห็นถึง “พลังไพร่” ที่ช่วยทำให้พลังอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นคงอยู่ได้อย่างสง่างาม เพราะถ้าอ่านตัวอักษรตามวรรณคดีให้ละเอียดพอ อาจจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของราษฎรซึ่งก็คือไพร่ทั้งหลายที่มีต่อพระมหากษัตริย์นั่นได้พอสมควร นั่นก็คือ โดยพื้นฐานของระบบไพร่นั้น ไพร่ทั้งหลายจะต้องมี “นาย” โดยนายเหล่านั้นจะมี 2 ระดับ คือ นายในพื้นที่ ซึ่งก็คือขุนนางที่เป็นผู้ควบคุมดูแลไพร่ กับนายในเมืองหลวง ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์ที่ควบคุมดูแลขุนนางทั้งหลายนั้นอีกชั้นหนึ่ง พูดง่าย ๆ ไพร่ก็คือข้าหรือบ่าวของขุนนาง และขุนนางก็เป็นข้าหรือบ่าวของพระมหากษัตริย์นั่นเอง โดยที่บ่าวในแต่ระดับก็หวังพึ่งพิงนายในแต่ระดับนั้น

แต่สำหรับไพร่ยังต้องมีหน้าที่จงรักภักดีต่อนายในระดับบนสุด คือพระมหากษัตริย์อย่างไม่อาจบิดพลิ้วนั้นอีกด้วย “วัฒนธรรมไพร่” นี้ยังคงหลงเหลืออยู่มาถึงการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน คือยังส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทยอย่างน้อย 2 ด้าน หนึ่งก็คือ คนไทยยังเกรงกลัวผู้มีอำนาจ กลัวคนในเครื่องแบบ (เพราะเครื่องแบบคือสัญลักษณ์ของอำนาจ) คนไทยจำนวนมากยังเชื่อฟังผู้มีอำนาจเหล่านั้นโดยไม่อาจบิดพลิ้ว (อย่างเช่น ความสงบเรียบร้อยโดยทหารและยอมให้ทหารทำรัฐประหาร ดีกว่าความวุ่นวายจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง)

แม้กระทั่งนักการเมืองเองก็ยังต้องยอมสยบกับผู้มีอำนาจเหล่านั้น (ทั้งที่อ้างว่ามาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในระบอบประชาธิปไตย แต่ยังไปก้มหัวรับใช้เผด็จการอยู่อย่างนั้น) อีกด้านหนึ่งก็คือ การพึ่งพิงผู้มีอำนาจ สังคมไทยยังเต็มไปด้วยเส้นสายหรือระบบอุปถัมภ์ คนที่ไม่มีเจ้านายจะถูกจัดว่าเป็น “โนบอดี้” ต่างกับคนที่มีเจ้านายคุ้มครองก็จะเป็น “ซัมวัน” สามารถเชิดหน้าชูตาคุยโม้โอ้อวดได้ในสังคม ที่สำคัญคือ “ความอยู่รอด” ซึ่งคนที่มีเจ้านายจะมีโอกาสเหนือกว่า รวมถึง “ความรุ่งเรือง” ที่หากว่ามีเจ้านายก็จะไปได้ไกลกว่าและมั่นคงกว่า

แต่กระนั้นก็มีการเปลี่ยนเจ้านายอยู่เรื่อย ๆ แบบที่เรียกว่า “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย”

************************