posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบห้า) :รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

14 มิถุนายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร      

********************

ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2433 โชมินหรือ “รุสโซแห่งโลกตะวันออก” ชนะเลือกตั้งในเขตโอซากา และได้เข้าร่วมพรรคเสรีนิยมที่มี อิตางากิ ไทสุเกะ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ด้วยความที่เขาค่อนข้างเป็นคนอุดมคติ เขารับไม่ได้กับการเมืองญี่ปุ่นในขณะนั้น ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเล่นพวกในพรรคและมีการคอร์รัปชั่น ทำให้ในที่สุด เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.  และย้ายไปอยู่ฮอกไกโด นอกจากเขาจะเซ็งกับการเมืองแล้ว เขายังมีปัญหาสุขภาพด้วยจากการเป็นคนติดสุราเรื้อรัง แต่กระนั้น เขาก็ยังไม่ทิ้งความชอบดั้งเดิม เขาได้ออกหนังสือพิมพ์ที่เมืองฮอกไกโด หลังจากที่ออกที่โตเกียวและโอซากามาก่อน

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2435 เขาก็ตัดใจจากการเมืองไม่ได้ กระโดดลงเลือกตั้งและได้เข้าสภาอีกครั้ง คราวนี้เขาได้พยายามผลักดันโครงการพัฒนาการรถไฟในญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน  ขณะเดียวกัน ก็ยังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพและปัญหาฐานะทางเศรษฐกิจ จนในปี พ.ศ. 2443  เขาเสียชีวิตลงจากการโรคมะเร็งหลอดอาหาร

จะเห็นได้ว่า โชมินไม่ได้มีความคิดทางการเมืองในแบบล้มเจ้าล้มจักรพรรดิตามที่ฝ่ายรัฐบาลเมจิระแวงมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สมาทานความคิดทางการเมืองของรุสโซ นักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศสที่ผู้คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า ความคิดทางการเมืองของรุสโซปฏิเสธการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า  หากพิจารณาความคิดทางการเมืองของรุสโซจริงๆ จะพบว่า รุสโซเองก็ยอมรับการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ว่าจะต้องมีเงื่อนไข ไม่ใช่ปล่อยให้มีและใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจ ไม่รู้ที่มาที่ไป

จะว่าไปแล้ว ชื่อเสียงของโชมินไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในญี่ปุ่น มีฝรั่งที่สนใจศึกษาชีวิตทางการเมืองและผลงานวรรณกรรมเขาด้วย สาเหตุแรงจูงใจน่าจะมาจากการที่ผลงานวรรณกรรมแนวนวนิยายการเมืองของเขาเรื่อง “สามขี้เมาคุยกันเรื่องระบอบการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

ในสายตาของฝรั่ง โชมินเป็นทั้งนักการเมือง นักปรัชญา นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่อง “อำนาจทางการเมือง” ไว้อย่างดุเดือดเผ็ดร้อนภายใต้การใช้ภาษาที่แหลมคม โดยโชมินได้ชี้ให้เห็นถึงพลังแห่งอำนาจทางการเมืองและบอกด้วยว่า เราควรใช้พลังนั้นอย่างไร

ในความเห็นของผมในฐานะคนที่ศึกษามาในทางรัฐศาสตร์ การศึกษาธรรมชาติของอำนาจทางการเมืองนั้นคือการพยายามทำความเข้าใจอำนาจทางการเมืองตามความเป็นจริง ไม่ต่างจากการศึกษาพลังน้ำ พลังลมของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อเราศึกษาธรรมชาติของพลังน้ำหรือพลังแสงอาทิตย์แล้ว เราก็จะรู้ว่า มันมีพลังที่จะทำอะไรได้มากขนาดไหน

ขณะเดียวกัน ในงานเขียนของโชมิน เขาได้ศึกษาพลังทางการเมืองในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย นั่นคือ การหาความรู้ว่า เราควรใช้พลังอำนาจทางการเมืองอย่างไร  ถ้าเทียบเคียงกับพลังทางการเมืองกับพลังแสงอาทิตย์ การเสนอว่าควรใช้พลังแสงอาทิตย์อย่างไร ก็คือว่า เราควรใช้พลังอาทิตย์อย่างไร เช่น ให้เกิดประโยชน์ในทางใด และเมื่อเรารู้ว่าควรใช้อย่างไร เราก็ย่อมจะต้องรู้ด้วยว่า ไม่ควรใช้มันอย่างไรด้วย

เช่น ไม่ควรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในลักษณะทำลายล้าง  อย่างเช่น เอาแว่นขยายมารับแสงอาทิตย์เพื่อรวมศูนย์ความร้อนไปยังรังมดปลวกเพื่อฆ่ามันเล่นๆเพื่อความสะใจ  พลังการเมืองก็เช่นกัน คนที่ใช้ก็ควรจะมี “ความรู้” ว่า จะใช้หรือไม่ใช้มันเมื่อไร เพื่อใครและอย่างไร

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สอนให้เรารู้จักธรรมชาติของพลังงานต่างๆ แต่ไม่ได้บอกให้เรารู้ว่า เราควรหรือไม่ควรใช้พลังงานนั้นอย่างไร  แต่ความรู้ที่สอนให้เรารู้ว่าควรใช้มันไปเพื่ออะไรและอย่างไรนั้น มันเป็นความรู้อีกประเภทหนึ่ง  ในทางรัฐศาสตร์ ความรู้ดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนสำคัญของปรัชญาการเมือง หรือถ้ามันเป็นคำใหญ่คำโตเกินไป ก็อาจจะนึกถึงความรู้ในทางจริยธรรมคุณธรรมทางการเมืองก็ได้

ดังนั้น จีงกล่าวได้ว่า งานของโชมินมีทั้งการศึกษาการเมืองในแบบวิทยาศาสตร์และในทางปรัชญาการเมือง  และสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่เขาต้องนำความรู้ทางการเมืองทั้งสองแบบนี้มาประยุกต์ใช้ก็คือ การที่สังคมญี่ปุ่นขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามภายนอกจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ขณะเดียวกัน ภายในสังคมญี่ปุ่น ก็ยังเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

โจทย์ของญี่ปุ่นตอนนั้นก็ไม่ต่างจากโจทย์ของบ้านเราในช่วงเวลาเดียวกัน  คือ มีภัยจากจักรวรรดินิยมตะวันตก และปัญหาการเมืองภายใน  ปัญหาการเมืองภายในที่ว่านี้ก็คือ ปัญหาอำนาจทางการเมืองที่ไม่ลงตัวระหว่างสามตัวแสดงสำคัญอันได้แก่โชกุน ซามูไรและจักรพรรดิ ความเป็นสมัยใหม่และจารีตประเพณีเดิม ส่วนของบ้านเราก็มีปัญหาไม่ลงตัวระหว่างพระมหากษัตริย์ วังหน้าและกลุ่มขุนนางที่ทรงอำนาจอิทธิพล

ดังที่ศาสตราจารย์ เดวิด เค วัยอาจ (David K. Wyatt) นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกได้กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ห้าคือ ปัญหาการแบ่งแยกอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน  ที่ผมเองเห็นว่ามันเป็นมรดกทางการเมืองที่รัตนโกสินทร์รับมาจากอยุธยา

จากโจทย์ใหญ่ของบ้านเมืองทำให้โชมินผลิตงานเขียนจำนวนมากที่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองผ่านองค์ความรู้ทางการเมืองของเขา แต่อย่างที่กล่าวไป งานเขียนของเขารุนแรงจนทำให้ถูกทางการเซนเซอร์อยู่บ่อยๆ เขาใช้องค์ความรู้ทางการเมืองที่ได้จากปรัชญาการเมืองตะวันตกในการวิเคราะห์และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองของประเทศของเขา และด้วยการที่เขาเป็นนักเขียนที่มีความสามารถในการถ่ายทอด ทำให้คนญี่ปุ่นทั่วไปสามารถเข้าใจปรัชญาการเมืองตะวันตกได้ง่าย

อีกทั้งเขายังสามารถเชื่อมโยงปรัชญาตะวันตกของอิมมานูเอล ค้านท์นักปรัชญาชาวยอรมันในศตวรรษที่สิบแปดเข้ากับองค์ความรู้แบบขงจื่อที่เป็นความรู้ดั้งเดิมที่มีอิทธิพลในสังคมญี่ปุ่น ทำให้งานของเขามีลักษณะของความเป็นสากลที่สามารถประสานปรัชญาตะวันตกกับตะวันออกได้ในประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกัน

คนที่เชื่อว่ามีความรู้ที่เป็นสากล ก็จะนิยมโชมินในฐานะที่เป็นนักคิดนักเขียนที่สามารถชี้ให้เห็นถึงหลักการบางอย่างที่ตะวันตกและตะวันออกมีร่วมกัน  แต่คนที่ไม่เชื่อจะเห็นว่า โชมินกำลังจับแพะชนแกะและพยายามจะบิดเบือนโดยยัดเยียดความเหมือนและทำลายความต่างของแต่ละวัฒนธรรมความคิด

อันนี้ก็แล้วแต่จะมองจะเชื่อกัน เพราะนักปรัชญาที่ศึกษาปรัชญาของสังคมต่างๆจนได้ข้อสรุปว่า ปรัชญาแต่ละสังคมมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม เขาก็จะแปรสภาพจากนักปรัชญาเป็นนักประวัติศาสตร์  ส่วนนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ในที่ต่างๆจนได้ข้อสรุปว่า ประวัติศาสตร์เรื่องราวแต่ละสังคมมีแบบแผนหรือโครงสร้างทางสังคมไม่ต่างกัน ก็จะแปรสภาพจากนักประวัติศาสตร์เป็นนักปรัชญา

และกลับกัน ถ้านักปรัชญาที่ศึกษาปรัชญาของสังคมต่างๆและได้ข้อสรุปว่า ปรัชญาของแต่ละสังคมนั้นมีอะไรร่วมกัน นักปรัชญาผู้นั้นก็จะยังเป็นนักปรัชญาต่อไป และนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคมและพบว่า ประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน นักประวัติศาสตร์ผู้นั้นก็จะยังเป็นนักประวัติศาสตร์ต่อไป

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบห้า) :รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบห้า) :รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฝรั่งหันมาสนใจโชมินเพราะ UNESCO จัดให้งานเขียนเรื่อง “สามขี้เมาคุยกันเรื่องระบอบการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government) เป็นหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของโลก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษเป็นอย่างน้อยเพื่อการเผยแพร่   มีฝรั่งที่แปลงานชิ้นนั้นของโชมินมากกว่าหนึ่งคน แต่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า นวนิยายเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้โจทย์ทางการเมืองของญี่ปุ่นที่กำลังจะก้าวไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกและการเลือกตั้งที่ตามมา

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญของ “สามขี้เมา” คือ ตกลงแล้ว ทิศทางและอนาคตทางการเมืองของญี่ปุ่นควรจะเดินไปในทางไหน ?  ระหว่างเลือกเดินตามแบบแผนอุดมคติของประชาธิปไตยตะวันตกและความทันสมัยก้าวหน้าในแบบตะวันตก หรือ ยึดมั่นในวิถีของจารีตประเพณีแบบซามูไร ? อีกทั้งยังมีประเด็นทางเลือกระหว่างการยึดมั่นในวิถีแห่งสันติภาพกับการเดินหน้าปกป้องผลประโยชน์และเกียรติศักดิ์ศรีของประเทศที่เป็นประเด็นที่เข้ากับสถานการณ์ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่างยิ่ง

ตัวละครหลักในเรื่องมีสามคนตามชื่อเรื่อง คนหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกออกแนวเป็น “สุภาพบุรุษตะวันตก” คนที่สองเป็นผู้รู้ในทางตะวันอออก และคนที่สามคือ อาจารย์นันไค (Nankai) ทำหน้าที่เป็นคนกลางคุมการสนทนาระหว่างคนทั้งสอง

ที่จริงการที่โชมินจัดวางให้มีตัวละครขาดื่มสามคนมาคุยกันเรื่องการเมืองก็ดูจะเหมาะสมดี เพราะถ้าน้อยกว่านี้ ก็จะเหลือสองคน และถ้าสองคนขี้เมามีความเห็นทางการเมืองแบบเดียวกัน คนอ่านก็ไม่น่าจะได้อะไร จะกลายเป็นการอ่านบทสรรเสริญเยินยออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งไป  ถ้าคนอ่านมีจุดยืนทางการเมืองแบบเดียวกันสองนักดื่มนั่นก็ยังพอจะทนอ่านไปจนจบได้ แต่แต่ถ้าไม่ชอบ ก็คงทนไม่ไหว  แต่ถ้าสองขี้เมามีจุดยืนต่างกัน คนอ่านที่ชอบจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งของหนึ่งในสองคนนั้น ก็อาจจะลุ้นเชียร์คนหนึ่ง แต่ก็จะได้รับฟังเหตุผลโต้แย้งจากอีกคนหนึ่ง เป็นการลับสมองลองปัญญาคิดหาทางแก้ต่างตามไปด้วย  หรือถ้าไม่ชอบใครเลย ก็อาจจะอ่านต่อไปเพื่ออยากจะรู้ว่าตกลงแล้วใครมีเหตุผลดีกว่าใคร

แต่กระนั้น ลองคิดดูว่า เมื่อสองคนเมาคุยการเมืองและมีความเห็นต่างกัน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีคนกลางอย่างอาจารย์นันไค ?  

   

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบห้า) :รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

                    

โชมินจึงให้อาจารย์นันไคมีสิ่งที่เขารักที่สุดในชีวิตเหนือสิ่งอื่นใดอยู่สองอย่าง  อย่างแรกคือ สุรา อย่างที่สองคือ การเมือง ! อีกทั้งการที่นันไคได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์ ก็เพราะนอกจากจะมีคุณสมบัติอื่นๆแล้ว  โชมินยังให้เขาเป็นคนที่ใจเย็นมากๆด้วย ซึ่งคุณสมบัติของท่านอาจารย์นันไคเหมาะสมที่สุดที่จะมาเป็นบุคคลที่สาม นั่นคือ รักการดื่ม ดื่มด่ำในการสนทนาเรื่องการเมืองและใจเย็นเป็นที่สุด  เพราะอีกสองคนนั้นแรงทั้งคู่ ทั้งคนที่ศรัทธาในคุณค่าแบบตะวันตกและคนที่ยึดมั่นในวิถีแห่งซามูไร

สามคนเมากำลังดี สี่คนเมาอาจแยกเป็นคู่ ห้าคนจับความไม่ทัน หกคนใครจะเป็นคนกลาง เจ็ดคนกว่าจะวนกลับ คนแรกก็เมาพับไปแล้ว !