posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (18)

08 มิถุนายน 2564

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒน

******************

วัคซีนโควิด-19 ชนิดแรกที่ “ประสบความสำเร็จ” ไม่เพียงประสบความสำเร็จในเรื่องที่มีความปลอดภัยและได้ผลธรรมดา แต่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามในทุกด้าน เพราะ

(1) ได้ผลดีเกินคาด คือมีประสิทธิศักย์ในการป้องกัน “โรค” สูงถึง 94-95%

(2) สามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างรวดเร็ว หลังปรากฏผลการทดสอบเพียง 24 วัน โดยสหราชอาณาจักรรับขึ้นทะเบียนเป็นประเทศแรก หลังจากนั้นก็มีประเทศต่างๆ รับขึ้นทะเบียนตามมานับสิบประเทศในเวลาเพียงเดือนเดียว

(3) สามารถมีวัคซีนให้เริ่มฉีดได้ในเวลาเพียง 6 วัน หลังการขึ้นทะเบียน

(4) แม้จะมีการ “เร่งรัด” ทุกขั้นตอน แต่วัคซีนก็มีความปลอดภัยจริง เพราะประเดิมฉีดให้แก่คนชราอายุถึง 90 ปี เป็นคนแรก และภายใน 2 สัปดาห์ที่ฉีดไปถึง 521,594 คน ก็พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย โดยในจำนวนนั้นฉีดให้คนอายุ 80 ปี ขึ้นไปถึง 70%

ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และงดงามนี้ เกิดจากการวางแผนอย่างเป็นระบบและความร่วมมืออย่างดียิ่งของหลายฝ่าย ทั้งนักวิจัย นักวิชาการ ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ บุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุด คือ อัลเบิร์ต โบร์ลา (Albert Bourla) ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chairman and chief executive officer) ของบริษัทไฟเซอร์ และอูเกอร์ ซาฮิน (Uger Sahin) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech)

น่ายินดีที่อัลเบิร์ต โบร์ลา ได้เขียนบทความสรุปบทเรียนเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งในวารสาร “ธุรกิจปริทัศน์ของฮาร์วาร์ด” (Harvard Business Review) ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ชื่อเรื่อง “เราทำได้อย่างไร” (How We Did It) สมควรนำมาศึกษา วิเคราะห์ และขยายความ เพื่อเป็นกรณีศึกษา และเป็นบทเรียนสำหรับทุกฝ่ายในประเทศไทย

ดร.อัลเบิร์ต โบร์ลา เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2504ใน “ชุมชนแออัด” (ghetto) ในเมืองเธสซาโลนิกิ ประเทศกรีซ พ่อแม่เป็นชาวยิวในจำนวนราว 2 พันคน จากจำนวนราว 5 หมื่นคนในเมืองนี้ที่รอดชีวิตจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกองทัพนาซีของเยอรมนี โดยแม่รอดชีวิตเพราะพี่เขยซึ่งไม่ใช่คนยิวจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่พรรคนาซี

ขณะที่พ่อไม่อยู่ในหมู่บ้านและหนีไปหลบซ่อนขณะที่ชาวยิวถูกกวาดต้อนไปเข้าค่ายกักกันที่เอาท์ชวิตซ์ โบร์ลา เรียนจบเป็นสัตวแพทย์และได้ปริญญาเอกทางเทคโนโลยีชีวภาพจากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยอริสโตเติล ในเมืองเธสซาโลนิกิ เมื่อ พ.ศ. 2528

ดร.โบร์ลา เข้าทำงานกับไฟเซอร์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2536 ในตำแหน่งสัตวแพทย์และผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพสัตว์ของบริษัทในกรีซ เขาและครอบครัวอพยพไปอยู่สหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยได้รับตำแหน่งทางบริหารหลายตำแหน่ง ช่วง พ.ศ. 2548-2552 เขาเป็นประธานภาคด้านสุขภาพสัตว์ในยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ช่วงนั้นเขาได้ควบรวมกิจการด้านสุขภาพสัตว์ของบริษัทไวเอธ (Wyeth) เข้ากับไฟเซอร์ในภูมิภาคนั้น

ช่วง พ.ศ. 2553-2556 ได้รับตำแหน่งประธานและผู้จัดการใหญ่ของหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มั่นคงแล้วของไฟเซอร์ (Pfizer’s Established Products Business Unit) มีหน้าที่ดูแลธุรกิจยาที่เพิ่งหมดสิทธิบัตรของบริษัท

ตั้งแต่ มกราคม 2557 – มกราคม 2559 โบร์ลาดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มวัคซีน , ยามะเร็ง และธุรกิจด้านดูแลสุขภาพผู้บริโภคทั่วโลกของไฟเซอร์ (Pfizer’s Global Vaccine, Oncology and Consumer Healthcare Business) มีหน้าที่ดูแลยามะเร็ง ยาหัวใจ และยาละลายลิ่มเลือด ช่วง กุมภาพันธ์ 2559-ธันวาคม 2560 ได้เลื่อนเป็นประธานกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพ (Innovative Health) ซึ่งเขาสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นถึง 11% ต่อมาเขาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (Chief Operating Officer : COO)

เมื่อ 1 มกราคม 2562 มีหน้าที่ดูแลด้านการพัฒนายา (drug development) , การผลิต (manufacturing) , การจำหน่าย (sales), และยุทธศาสตร์ (strategy) ในตำแหน่งดังกล่าว เขาปรับโครงสร้างบริษัท และแยกส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพออกไป และในเดือนตุลาคม 2561 เขาได้เลื่อนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer : CEO) ของบริษัทเมื่อเดือนตุลาคม 2561 ต่อจากเอียน รีด (Ian Read) “ครู” (mentor) ของเขาโดยให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2562 แปลว่าเขามีเวลา 2 เดือนเศษ ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัท คล้ายประเพณีปฏิบัติของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ เช่น โจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 แต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 มกราคม 2564

สามเดือนเศษหลังเข้ารับตำแหน่ง โบร์ลา ได้รับรางวัล “ผู้นำกรีกที่โดดเด่น” (Preeminent Greek Leader) ในสาขาธุรกิจยาทั่วโลก โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรีซเป็นผู้มอบ เมื่อเดือนเมษายน 2562

โบร์ลา เป็น “ลูกหม้อ” ของไฟเซอร์ ที่มีประสบการณ์ทั้งทางวิชาการและบริหารเป็นเวลาราว 27 ปี ก่อนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในวัคซีนโควิด-19 โดยในปี 2563 เขาได้รับตำแหน่ง “สุดยอดประธานเจ้าหน้าที่บริหารในอุตสาหกรรมยา” โดยวารสาร “นักลงทุนสถาบัน” (Institutional Investor)

ในการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ออกมาจนสำเร็จนั้น โบร์ลา เล่าว่า เขาเริ่ม “ท้าทาย” ทุกคนในบริษัทไฟเซอร์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ให้ “ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” (make the impossible possible) โดยการ “พัฒนา” (develop) วัคซีนให้สำเร็จโดยรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งกำหนดเวลาตาม “อุดมคติ” ก็คือภายใน 6 เดือน โดยแน่นอนว่าต้องให้สำเร็จก่อนสิ้นปี 2563 ซึ่งพวกเขาทำได้จริงๆ โดยสามารถพิสูจน์ความสำเร็จในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563 รวมเวลาเพียง 7 เดือน 20 วัน

การวิจัย (research) และการพัฒนา (development) วัคซีนนั้น ส่วนของการวิจัยจะดำเนินการในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง ส่วนการพัฒนา คือ การทดสอบในมนุษย์ ซึ่งจะต้องทำ 3 ระยะตามลำดับ วัคซีน โควิด-19 ของไฟเซอร์นี้ ขั้นตอนการวิจัยดำเนินการโดยบริษัทไบโอเอ็นเทคของอูเกอร์ ซาฮิน (Uger Sahin)แห่งเยอรมนี ไฟเซอร์รับช่วงมาเป็นผู้ “พัฒนา” ซึ่งปกติการวิจัยในคนระยะที่ 1 หากดำเนินการไปตาม “ปกติ” จะต้องใช้เวลากว่า 1 ปี จึงจะเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์

แต่วัคซีนนี้ ดำเนินการทั้งในระยะที่ 1 , 2 และ 3 และสามารถประกาศ “ความสำเร็จ” ซึ่งพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับโดย อย.หลายประเทศทั่วโลกว่าเป็น “ความสำเร็จ” อย่างแท้จริง มิใช่ “ราคาคุย” โดยใช้เวลาดำเนินการเพียง 7 เดือน 20 วัน

พวกเขาทำได้อย่างไร

******************