posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดี (6)

05 มิถุนายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

รัฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เกิดจนตาย เพียงแต่ว่าเราจะสนใจมันหรือไม่

ในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ มองว่า เป็นเรื่องของ “ชีวิตไทย” ภายใต้สภาพสังคมแบบศักดินา ในระบบการเมืองการปกครองสมัยโบราณของไทย แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองไทยในปัจจุบันอยู่มาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเชื่อความคิดหลาย ๆ เรื่องของคนไทย ที่ยังเป็นแนวโบราณอยู่มาก เป็นต้นว่า เรื่องของโชควาสนา บาปบุญ และไสยศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทั้งด้านดีและด้านร้ายต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย เช่น ในด้านดี คือ ความจงรักภักดี และความกตัญญูรู้คุณ หรือในด้านร้าย ก็คือ การยอบสยบต่อผู้มีอำนาจ และการเล่นพรรคเล่นพวก เป็นต้น

เรื่องขุนช้างขุนแผนพรรณนาเกี่ยวกับชีวิตไทยไว้อย่างละเอียดตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นต้นว่า การแต่งงาน การทำบุญ การสร้างเรือน และการทำมาหากิน นักสังคมวิทยาคงได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้จากเสภาเรื่องนี้อยู่ด้วย จนกระทั่งได้สรุปความว่า คนไทยเป็นคนรักสนุก ทำงานเป็นเรื่องเล่น เอาเรื่องเล่นมาทำให้เป็นการเป็นงาน โดยผู้แต่งเสภาเรื่องนี้ที่มีอยู่หลายท่าน ในหลาย ๆ ส่วนก็แต่งให้เห็นภาพแห่งความสนุกสนานเหล่านั้น ตั้งแต่เป็นเรื่องขบขันเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงตลกโปกฮาขำกลิ้ง ออกไปในแนวสองแง่สามง่ามนั่นเลย ซึ่งเราก็คงได้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในทางการเมืองไทย

แม้ในยุคดิจิตอลที่เห็นแสดงออกกันอย่างครึกครื้นในโซเชียลมีเดีย ก็ออกไปในแนวนี้อย่างมากมาย จนดูเหมือนว่าคนไทยไม่ค่อยจริงจังในเรื่องการเมือง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด หรือมันต้องเป็นไปตามบุญตามกรรม หรือยอมรับในโชคชะตาของตน รวมถึงสถานะของตัวเองนั้นด้วย

ขุนแผนเป็นตัวอย่างของ “สำนึกไทย” ดังกล่าว ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนไว้ว่า “เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องของทหารไทยคนหนึ่ง ที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และต่อบ้านเมืองเป็นทีสุด ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะมาทำให้เสื่อมคลายได้ ... เรื่องขุนช้างขุนแผนจึงวางเค้าเรื่องให้มีการทดสอบความจงรักภักดีของขุนแผนนี้อยู่เป็นครั้งคราวไปตลอด ขึ้นต้นทีเดียวพ่อของขุนแผนถูกพระพันวษาสั่งให้ประหาร ขุนแผนและมารดาถูกริบราชบาตร ต้องหลบหนีไปแต่ตัว ได้รับความยากลำบากแสนสาหัส พอเริ่มจะได้มีความสุข ได้แต่งงานกับหญิงที่ตนรัก นอนหออยู่ด้วยกันเพียงสองคืน สมเด็จพระพันวษาก็สั่งให้คนมาเกณฑ์ให้ไปทัพเสียอีก แต่ขุนแผนก็พร้อมที่จะไปรบสนองพระเดชพระคุณและเพื่อบ้านเมือง ไม่เสื่อมความจงรักภักดี"

ขอให้สังเกตว่า “ทหารแท้ ๆ” ต้องแยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องของบ้านเมือง เป็นต้นว่า ต้องลืมความเศร้าโศกเสียใจจากการเสียพ่อที่ต้องราชอาชญา อันเป็นเรื่องความคับแค้นใจของครอบครัว ออกเสียจากเรื่องที่จะต้องไปรบทัพจับศึก อันเป็นเรื่องของการรับใช้บ้านเมือง

แต่ที่สำคัญคือความจงรักภักดี ความเทิดทูนในพระมหากษัตริย์ ที่ทหารต้องยึดถือเหนือชีวิต และจะเลี่ยงหรือปฏิเสธในหน้าที่การรบทัพจับศึกเพื่อชาติบ้านเมืองนั้นไม่ได้ เพราะเหนืออื่นใด เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเชิดชูพระบรมเดชานุภาพ อันเป็น “พลังอำนาจ” ที่สำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ เพราะถ้าศัตรูยกทัพมารุกรานและไม่สามารถป้องกันประเทศไว้ได้ พระมหากษัตริย์ก็จะสูญสิ้นพระบรมเดชานุภาพ ที่แปลตรง ๆ ว่า “ความน่าเคารพยำเกรง” สิ้นความเป็นชาตินั้นเลยทีเดียว

ถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงวันเก่า ๆ ที่ใต้ถุนบ้านสวนพลู เมื่อมีการรัฐประหารในครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 ที่เรียกว่ากรณี “กบฏเมษาฮาวาย” เพราะการทำรัฐประหารไม่สำเร็จ กลายเป็นเรื่องล้อกันเล่นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า April Fool

มีลูกศิษย์คนหนึ่งถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า พวกกบฏเขาคิดอย่างไรของเขานะ ไหนว่าทหารต้องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ แต่นี่มีการสู้รบกันเพื่อแย่งชิงองค์พระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ต้องอพยพหลบภัยเหมือนว่าหนีศึกสงครามมกระนั้น จะไม่เป็นการเสื่อมพระบรมเดชานุภาพหรือ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอบยิ้ม ๆ ด้วยอารมณ์เย็น ๆ ว่า นี่แสดงว่าพระมหากษัตริย์นั่นเองแหละที่ทรงรักชาติบ้านเมืองเป็นที่ยิ่ง ไม่ได้ห่วงเรื่องส่วนพระองค์

หากเป็นกษัตริย์โบราณก็จะต้องออกหน้าทัพบัญชาการศึกอย่างองอาจ แต่กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ท่านก็ต้องอยู่ข้างประชาชน รัฐบาลของประชาชนมากราบบังคมทูลให้ทำอย่างใดก็ต้องทำอย่างนั้น นี่พลเอกเปรมท่านเป็นรัฐบาลของประชาชน ท่านก็มีอำนาจที่จะต้องปกป้องพระมหากษัตริย์ของประชาชนนั้นด้วย

ใครจะมองว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พูดขึ้นมาเพื่อให้สบายใจก็ตามที แต่ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ที่สอนวิชารัฐศาสตร์ กลับไม่ค่อยรู้สึกสบายใจเท่าไรนัก นี่แสดงว่าทหารจะทำอะไรกับพระมหากษัตริย์ก็ได้ เพราะถ้าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ แล้ว ทหารที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยนั้น แค่ทึกทักเอาว่านี่คือเสียงเรียกร้องจากประชาชน ก็อาจจะทำการใด ๆ อันเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หรือทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ อย่างที่โบราณเรียกว่า “พระบรมเดชานุภาพ” นั้นได้

กลับไปพูดถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ขุนแผนถูกเกณฑ์ไปทัพที่เชียงใหม่นี้อีกสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการเกริ่นนำ ก่อนที่จะไปพูดถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า นั่นก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกองทัพในเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่เป็นเรื่องใหญ่มาแต่โบราณ และยังคงเป็นเรื่องใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นเรื่องของทหารเกณฑ์ที่ถูกระดมไปทำการศึก ภายใต้ความสับสนในความคิดที่ว่าพวกเขา “รบเพื่อใคร”

รบเพื่อชาติ ประชาชน หรือเจ้านาย และเป็น “เจ้านาย” คนไหน?

************************