posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

10 พฤษภาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร   

********************

ในการรับมือกับอิทธิพลตะวันตก ประเทศต่างๆในเอเชียจำเป็นต้องปรับตัวให้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น เพราะในศตวรรษที่สิบเก้า ฝรั่งไม่ได้ใช้วิธียกทัพเข้ามาตีเอาบ้านเอาเมืองเหมือนสมัยโบราณ แต่มักจะใช้เหตุผลทางมนุษยธรรมต่อมนุษยชาติ นั่นคือ  เข้ามาช่วยพัฒนาให้ชีวิตผู้คนได้พ้นจากความป่าเถื่อนล้าหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา และการอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาพ้นจากความยากแค้นลำเค็ญ หรืออยู่แบบตามยถากรรม ดังความตอนหนึ่งที่เจ้านายและข้าราชการไทยจำนวนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ห้าได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2428 ว่า “…..ชาติยุโรปชาติหนึ่งชาติใดจะต้องประสงค์เมืองหนึ่งเมืองใดแล้ว ต้องมีทางที่เขาเรียกว่ายุติธรรมที่จะเอาเมืองนั้นๆได้ ทางธรรมดาที่ชาติยุโรปใช้อยู่นั้นมีอยู่นั้น (คือ)

หนึ่ง อ้างว่าเป็นธรรมดาผู้มีความกรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันทั่วไป ต้องประสงค์ที่จะให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ แลได้รับความยุติธรรมเสมอทั่วกัน

สอง อ้างเอาความเจริญความศิวิไลซ์ของชาวยุโรป แลความไม่เจริญของประเทศเอเชียแล้วจึงเห็นต่อไปว่า ใช่แต่เป็นการกีดขวางความเจริญของเอเชียเท่านั้นไม่ แต่ยังเป็นทางกีดขวางของความเจริญแห่งประเทศซึ่งเดินทางศิวิไลซ์ด้วย จึงเป็นช่องให้ประเทศหนึ่งประเทศใดในยุโรปคิดเข้าเป็นผู้ปกครองจัดการบ้านเมืองนั้นให้เจริญเพื่อจะได้ประโยชน์ทั่วกัน

สาม ยกเอาว่า เคาเวอร์แมนต์ (สมัยนั้นยังใช้ทับศัพท์จากคำว่า Government—รัฐบาล) นั้นๆจัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อย จึ่งมีโจรผู้ร้ายทำอันตรายต่อชีวิต แลทรัพย์สมบัติทั้งปวง แลอันตรายนั้นมาถึงชาวยุโรป ซึ่งทำผลประโยชน์อยู่ในประเทศนั้นๆด้วย จึ่งเป็นช่องอันหนึ่งของชาวยุโรปที่จะเข้าจัดการบ้านเมืองนั้นได้ เพื่อประโยชน์ที่จะได้ให้ความสุขทั่วไปทั้งชาวยุโรปแลคนในชาตินั้นๆ แลทั้งจะกำจัดคนพาลด้วย

สี่ ชาติใดๆในประเทศยุโรปซึ่งมีความเจริญใหญ่โตมาแล้ว และจะตั้งอยู่ได้ต่อไปก็ดี ต้องอาศัยการค้าขายเป็นกำลัง เหตุฉะนั้นบ้านเมืองใดซึ่งมีสินค้าแลทรัพย์แผ่นดิน แต่หาได้เปิดแลคิดเป็นทางค้าชาย เพื่อเป็นกำลังแลประโยชน์ต่อตนและท่านไม่ ก็เป็นช่องที่ชาวยุโรปจะมาเปิดบ้านเมืองให้เป็นทางค้าขาย แลทำบ่อแร่บ่อทองให้เป็นประโยชน์ขึ้น              

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

แต่ทางทั้ง 4 ข้อซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณานี้ ต้องมารวมอยู่ในข้อเดียวว่า ทางให้ความสุขแก่มนุษย์เสมอกันก็ดี อ้างความเจริญของประเทศยุโรปก็ดี ทางระงับโจรผู้ร้ายฤาเปิดทางค้าขายก็ดี ต้องประกอบไปด้วยการปกครองรักษาแผ่นดินของเมืองนั้นๆทั้งสิ้น เมื่อเมืองใดนั้นไม่มีอำนาจแลความคิดที่จะจัดแจงปกครองบ้านเมืองของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนแลท่านได้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะยึดเหนี่ยวเอาแผ่นดิน แลทรัพย์ ซึ่งเป็นของสำหรับให้มนุษย์ทั้งโลกได้ส่วนประโยชน์แลความสุขในนั้นด้วยให้ไปเสียๆเปล่าๆ  ความซึ่งยุโรปคิดดังนี้ เป็นการถูกโดยทางยุติธรรมของโลกอันยิ่งเหมือนหนึ่งกฎหมายไทยซึ่งมีอยู่ข้อ 1 ว่าถ้าจับจองไร่นาไว้มิอาจสามารถที่จะทำให้เป็นผลประโยชน์ได้ เมื่อพ้นพระราชกำหนดแล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาจับจองไปทำให้เป็นประโยชน์ ผู้ที่เป็นเจ้าของเดิมก็ไม่มีอำนาจที่จะขัดขืนได้ ฉันใด การที่ประเทศยุโรปได้เที่ยวครอบครองบ้านเมืองน้อยใหญ่ในประเทศเอเชีย มีโกโลนี (ใช้ทับศัพท์จากคำว่า colony – อาณานิคมหรือเมืองขึ้น) ของอังกฤษแลฝรั่งเศส เป็นต้น แลการที่เข้าครอบครองนั้นได้ด้วยสาเหตุพาลฤาอย่างใดๆก็ดี ไม่มีชาติใดว่ากล่าวติเตียนว่าเป็นอยุติธรรมไม่ เพราะสาเหตุนั้นจะมีพอฤาไม่ที่จะพาลรบ ฤาเข้าครอบครองด้วยอุบายอย่างใดก็ดี  แต่ความประสงค์ของยุโรปนั้นมีอยู่อย่างเดียวแต่ที่จะบำรุงความเจริญ ‘ศิวิไลเซชั่น’ ของโลกให้มนุษย์มีความสุขเสมอทั่วกัน ดังที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณามาข้างต้นนี้แล้ว

ฟังดูแล้ว เหตุผลสี่ข้อที่เจ้านายและข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ห้าได้สรุปไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ก็ดูจะยังทันสมัยอยู่ ฝรั่งทุกวันนี้ ก็ยังวนเวียนอยู่ในเหตุผลสี่ข้อนี้ในการเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

และในคำกราบบังคมทูลฯนั้น ได้กล่าวไว้ว่า “การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตราย ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปกครองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยทางยุติธรรมฤาอยุติธรรมก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว...นับเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้” 

แปลว่าในความคิดริเริ่มการปฏิรูปการเมืองของไทยในสมัยรัชกาลที่ห้า บรรดาเจ้านายและข้าราชการเหล่านั้นมองญี่ปุ่นเป็นตัวแบบสำหรับประเทศในเอเชียที่ปรับตัวรับมือกับฝรั่ง

ญี่ปุ่นได้เริ่มปฏิรูปการเมืองไปตั้งแต่ พ.ศ. 2411 เป็นเวลา 17 ปีก่อนที่เจ้านายและข้าราชการจะร่วมกันเขียนคำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน โดยในปี พ.ศ. 2411 สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ ได้ประกาศปฏิญญาสร้างชาติ โดยสาระสำคัญคือ    หนึ่ง จะให้มีการตั้งรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สอง จะให้ประชาชนทุกชั้นร่วมมือกันปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล สาม จะให้สิทธิเสรีภาพแก่คนทุกชั้น และ สี่ จะยกเลิกวัฒนธรรมที่ล้าสมัย

อย่างไรก็ดี หลังคำกราบบังคมทูลฯ 4 ปี ญี่ปุ่นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2432 และในปีต่อมา ญี่ปุ่นก็จัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกขึ้น ซึ่งในขณะนั้น คนญี่ปุ่นที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนถึงร้อยละ 40 และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น พ.ศ. 2432 ให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ประชาชนเฉพาะพลเมืองเพศชายที่มีทรัพย์สินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น อันหมายความว่า พลเมืองญี่ปุ่นที่มีสิทธิ์และใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเป็นพลเมืองที่นับได้ว่ามีคุณภาพทั้งในแง่ของความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและมีความรู้พอสมควร

พลเมืองญี่ปุ่นที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรกคือ พลเมืองชายอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปและต้องเป็นพลเมืองที่เสียภาษีตั้งแต่ 15 เยนขึ้นไป และต้องพำนักอาศัยอยู่ในถิ่นฐาน เช่น อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี  จากเกณฑ์ดังกล่าวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พบว่า มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2433 มีจำนวน 450,872 คนจากประชากรทั้งสิ้น 39,993,478 คน คิดเป็นร้อยละ 1.13  และคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพราะจ่ายภาษีได้ตามที่กำหนดไว้ได้แก่ พวกเจ้าที่ดินในต่างจังหวัดและผู้ประกอบการในเมือง และในร้อยละ 1.13 นี้เป็นสามัญชนร้อยละ 91 ส่วนอีกร้อยละ 9 เป็นพวกที่เคยเป็นซามูไรมาก่อน ส่วนพลเมืองที่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง คือ พลเมืองชายทุกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ยกเว้นพลเมืองชายที่อายุ 30 ปีขึ้นไปที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของสมาชิกสภาสูงหรือเป็นสมาชิกในราชวงศ์จักรพรรดิ จะไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง                                                                                                                                                                                       จำนวนที่นั่งในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรคือ 300 แบ่งออกเป็น 214 ที่นั่งสำหรับเขตที่มีผู้แทนหนึ่งคน และ 43 เขตที่มีผู้แทน 2 คน  ในการเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่น มีผู้ลงสมัครแข่งขันจำนวน 1243 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิ์  422,594 คนจากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 450,872 คน ดังนั้น ผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกมีจำนวนมากถึงร้อยละ 93.73

มีรายงานว่า การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่เกินความรุนแรงอะไร และตามข้อมูลที่ค้นได้ พบว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่น บรรดาผู้สมัครจับกลุ่มกันเป็นพรรคการเมืองแล้ว มีทั้งหมด 4 พรรคและมีที่ไม่สังกัดพรรค หรือเป็นผู้แทนอิสระ พรรคการเมืองทั้งสี่นี้ได้แก่ Jiyuto หรือพรรคเสรีนิยมมี ส.ส. ถึง 130 คน

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบ):การเลือกตั้งครั้งแรกของญี่ปุ่นค.ศ.1890

ลำดับต่อมาคือ พรรค Taiseikai หรือ “Great Achievement Society”  (สังคมที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่) เป็นพรรคที่ไม่ได้มีอุดมการ์อะไรชัดเจนนัก พรรคนี้ได้มา 79 ที่นั่ง ต่อมาคือพรรค Rikken Kaishinto หรือ “Constitutional Reform” (พรรคปฏิรูปการปกครอง) ได้ 41 ที่นั่ง และต่อมาคือ พรรค Kokumin Jiyuto หรือ “National Liberal Party” (พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ) เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมจัดๆ ได้ 5 ที่นั่ง นอกนั้นเป็น ส.ส. ไม่สังกัดพรรคอีก 45 คน

จากสถิติผู้ลงคะแนนก็ดี การตื่นตัวถึงระดับมีการจัดตั้งพรรคการเมืองก็ดี และการเลือกตั้งที่ผ่านไปอย่างราบรื่นในการเลือกตั้งครั้งแรก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองของญี่ปุ่นที่ถือเป็นแนวโน้มที่ดีและให้ความมั่นใจพอสมควรต่ออนาคตทางการเมืองของญี่ปุ่น

หลายคนคงสงสัยว่า พรรคการเมืองแรกๆของญี่ปุ่นทั้งสี่นี้มีอุดมการณ์และนโยบายอะไร นอกเหนือไปจากชื่อพรรคแล้ว โปรดติดตามตอนต่อไป