posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (13)

04 พฤษภาคม 2564

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

ในที่สุดประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤต มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันละกว่า 2 พันรายติดต่อกัน หลายวัน และรายงานผู้เสียชีวิตก็ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อ 2,438 ราย เสียชีวิต 11 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 55,460 ราย เสียชีวิตสะสม 140 ราย ขณะที่จำนวนฉีดวัคซีนสะสมได้เพียง 571,825 คน คิดเป็น 0.82% ของประชากรเท่านั้น ขณะที่สหราชอาณาจักรฉีดได้ 33.26 ล้านคน คิดเป็น 48.99% ของประชากร สหรัฐอเมริกาฉีดได้ 135 ล้านคน คิดเป็น 40.60% ของประชากร และสิงคโปร์ฉีดได้ 1.36 ล้านคน คิดเป็น 23.32% ของประชากร เป็นต้น

ขณะนี้ ภาคเอกชนพยายามกดดันรัฐบาลเพื่อให้จัดหาวัคซีนเพิ่ม และมีข่าวว่าอาจจะได้วัคซีนจาก โมเดอร์นา, สปุตนิก-5, และไฟเซอร์ แต่คงจะอีกนานแรมเดือน วัคซีนที่น่าจะได้แน่ๆ จำนวนหลักหลายล้านในเดือนมิถุนายนคือของแอสตราเซเนกาตามแผนเดิม ก่อนหน้านั้น จะมีมาเพิ่มหลักแสนโดส คือ ของซิโนแวคเจ้าเก่า ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามี “ข่าวร้าย” ที่ระยอง 6 ราย และต่อมาที่ลำปางอีกหลายราย

“ข่าวร้าย” ที่ว่า คือ มีรายงานผู้รับวัคซีนนี้เกิดอาการทางระบบประสาทคืออาการชาและแขนขาอ่อนแรง “คล้ายอัมพฤกษ์” หรือ “คล้ายสโตร๊ค” (Stroke mimic) ซึ่งกรมการแพทย์ได้ประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องและร่วมกันแถลงข่าว โดยนายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบาดวิทยา กรม ควบคุมโรค ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และแพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ นายกสมาคมประสาทวิทยา สรุปสาระสำคัญได้ว่า (1) อาการที่เกิดขึ้นเป็น “อาการทางระบบประสาท” จริง เพราะมีการตรวจทางระบบประสาทพบว่ามีการชาจริง และกล้ามเนื้อแขนขา อ่อนแรงจริง (2) อาการที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจาก “การฉีดวัคซีน” ของซิโนแวค

ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวที่ระยองเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 5 ราย อีกรายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน ทุกรายเป็นผู้หญิง อายุ 20-50 ปี เกิดขึ้นในวันที่ 1, 3, 6 และ 9 เมษายน 4 ใน 6 ราย กินยาคุมกำเนิด 1 รายเป็นผู้ป่วยมะเร็ง 2 รายน้ำหนักเกิน

ทุกรายที่เกิดอาการได้รับการตรวจสมองโดยถ่ายภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) แล้วไม่พบพยาธิสภาพของสมองและหลอดเลือดในสมอง บางรายได้รับการรักษาโดยได้รับยาละลายลิ่มเลือด ทุกรายอาการหายไปใน 1-3 วัน หลังอาการหายไปมีการถ่ายภาพเอ็มอาร์ไอซ้ำไม่พบพยาธิสภาพ ข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ อาจเกิดภาวะหลอดเลือดแดงหดตัว (vasoconstriction) ชั่วระยะหนึ่ง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองบางส่วนลดลงจึงเกิดอาการ อีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ อาจเป็น “ภาวะการทำงานผิดปกติของระบบประสาท” (Functional Neurological Disorder : FND) นั่นคือ เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีพยาธิสภาพของระบบประสาท เรียกอีกอย่างว่า “โรคอุปาทาน” นั่นเอง

ทุกรายที่ระยองฉีดวัคซีนล็อตเดียวกัน มีการตรวจสอบการตรวจก่อน “ปล่อย” วัคซีนออกไปใช้ (Lot Release) ซึ่งมีการดำเนินการในลักษณะค่อนข้างเร่งด่วน (Expedited) มีการตรวจซ้ำแล้วไม่พบความผิดปกติ ทั้งนี้วัคซีนล็อตดังกล่าวมีการส่งให้หลายจังหวัดฉีดด้วย ไม่พบรายงานลักษณะนี้ ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบจึงแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ และล็อตนี้ได้ต่อไป โดยให้มีการเฝ้าระวังเข้มงวดขึ้น และให้รายงานผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ผลิตและศึกษาติดตามเพิ่มเติมต่อไป

มีข้อมูลต่อมาว่า วัคซีนที่ฉีดที่ลำปาง และมีรายงานอาการคล้ายกันอีกหลายราย เป็นคนละล็อตกับที่ฉีดที่ระยอง ที่ระยองเป็นล็อตหมายเลข j202103001 ที่ลำปางล็อตหมายเลข j 202103002

พร้อมกับข่าวร้าย ก็มี “ข่าวดี” ของวัคซีนของซิโนแวค เป็นข่าวดีจากชิลี สรุปว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 ได้ดีพอสมควร

ข่าวนี้รายงานโดยเดฟว์ เชอร์วูด (Dave Sherwood) และไอส์ลินน์ เหลง (Aislinn Laing) จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ณ กรุงซานติเอโก เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 พาดหัวข่าวว่า “วัคซีนซิโนแวคของจีนมีประสิทธิผลป้องกันผู้ติดเชื้อที่มีอาการ (symptomatic infection) 67% : รายงานของชิลี”

เป็น “รายงานของชิลี” (Chile report) เพราะแถลงโดยรัฐบาลชิลี อ้างรายงานของกระทรวงสาธารณสุขชิลีว่าวัคซีนนี้ป้องกันการต้องนอนโรงพยาบาล 85% และป้องกันการเสียชีวิต 80%

ชิลีมีประชากร 17.5 ล้านคน ฉีดวัคซีนไปแล้ว 10.5 ล้านคน 90% เป็นวัคซีนของซิโนแวค โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน

ข้อมูลนี้ แตกต่างจากข้อมูลก่อนหน้าของวัคซีนนี้ โดยข้อมูลจากการศึกษาในบราซิล แถลงเมื่อเดือนมกราคม 2564 พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการได้เพียง 50.4% รายงานต่อมาตีพิมพ์ในเดือนเมษายน พบว่าป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการได้ 50.7% แต่ป้องกันผู้ป่วยที่ต้องการรับรักษา 83.7% และป้องกันรายที่อาการปานกลางและรุนแรงได้ 100%

ข้อมูลจากอินโดนีเซียที่รับขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้เพื่อใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยสรุปข้อมูลจากการวิเคราะห์ระหว่างทาง (Interim analysis) พบประสิทธิผล 65%

การศึกษาวิจัยในคนที่ตุรกี พบวัคซีนนี้ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 83.5% และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและต้องนอนโรงพยาบาลได้ 100%

รายงานจากชิลีครั้งนี้ แตกต่างจากรายงานที่บราซิลและตุรกีซึ่งเป็นผลการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งเท่านั้น รายจากงานชิลีเป็นการศึกษาผลกระทบ (impact) จากการใช้วัคซีนจริงในประชากรที่ได้รับวัคซีนในช่วง 2 กุมภาพันธ์ – 1 เมษายน 2564 เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน โดยมีการปรับกลุ่มเปรียบให้ใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ทั้งในเรื่องช่วงอายุ ภาวะการเจ็บป่วยร่วม ระดับรายได้ และสัญชาติ

มีการเปรียบเทียบประชากรกลุ่มย่อย ระหว่างกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับเข็มเดียว 14 วันขึ้นไป และที่ได้รับ 2 เข็ม 14 วันขึ้นไป ซึ่งพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียว มีผลการป้องกันต่ำกว่าผู้ที่ได้รับ 2 เข็มอย่างชัดเจน

ผลการศึกษาในชิลีพบว่าประสิทธิผลในการป้องกันการตายต่ำกว่า ผลจากการวิจัยที่อินโดนีเซียและตุรกี ผู้รายงานอธิบายว่า เพราะการระบาดระลอกสองในชิลีรุนแรงกว่าระลอกแรกมาก

รายงานนี้ระบุว่า รายงานโดยเดฟว์ เชอร์วูด เขียนโดยไอส์ลินน์ เหลง และมีบรรณาธิการคือ แดน เกรปเลอร์ (Dan Grebler) และเดวิด โฮล์มส์ (David Holmes)

ข่าวดีอีกข่าวหนึ่งคือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ตรวจระดับภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มพบว่าภูมิคุ้มกันสูงพอๆ กับ ผู้ที่หายจากการป่วย

ตลอดเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาวัคซีนเพียงชนิดเดียวของซิโนแวค จึงต้องติดตามทั้งข่าวร้ายและข่าวดีของวัคซีนนี้โดยใกล้ชิดต่อไป โดยสรุป ข่าวร้ายของวัคซีนซิโนแวค คือ ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ส่วนข่าวดีคือการยืนยันเรื่องประสิทธิผล

********************