posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): Enlightenment ในญี่ปุ่น

03 พฤษภาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร    

*********************

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): Enlightenment ในญี่ปุ่นคราวที่แล้วเขียนเล่าเรื่องคุณครูอ่ำ บุญไทยที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ห้าและเติบโตเรียนหนังสือในสมัยรัชกาลที่หก แต่เรียนในช่วงที่ก่อนจะมีการศึกษาภาคบังคับ เพราะการศึกษาภาคบังคับเริ่มขึ้นใปปลายสมัยรัชกาลที่หก นั่นคือ ในปี พ.ศ. 2464 แต่อย่างที่เล่าไปว่า ผมได้อ่านหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ของคุณครูอ่ำ และพบว่า ท่านมีความรู้ในทฤษฎีการเมืองและเศรษฐศาสตร์ของตะวันตกอย่างดียิ่ง แถมยังรู้เรื่องประชาธิปไตยในสมัยกรีกโบราณด้วย นับว่าเป็นหนึ่งในผลผลิตที่น่าทึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่สี่และห้าเป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน มีผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้ที่มีความรู้ในเรื่องญี่ปุ่น และติดใจเกี่ยวกับฟุคุสะวะที่เป็นคนแต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นขึ้นเป็นฉบับแรกในปี พ.ศ. 2403 ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับฟุคุสะวะมาให้ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย (เขาผู้นั้น ไม่ใช่ใครอื่นคือ รศ. ดร. ศุภชัย ศุภผล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ลูกศิษย์ผมเอง และสาเหตุที่เขาสนใจและมีความรู้เรื่องญี่ปุ่น เพราะคุณแม่ของเขาเป็นคนญี่ปุ่น และจบปริญญาตรีทางด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยฮาวาย นับเป็นสตรีญี่ปุ่นที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง)

อาจารย์ศุภชัยได้ส่งลิงค์บทความของคุณวสุ มารุมุระที่เขียนเกี่ยวกับฟุคุสะวะ โดยคุณวสุได้เริ่มจากคำว่า “ศิวิไลซ์” และโยงไปสู่ภาษาญี่ปุ่น โดยแกเล่าว่า

คำว่า ‘ศิวิไลซ์’ มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Civilized โดยมีคำนามคือ civilization หรือ อารยธรรม และคำว่า “อารยธรรม” ในคันจิภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 文明 ぶんめい  [บุนเม] อารยธรรม โดย 文 [บุน] เป็นคันจิที่มีความหมายว่า ‘วัฒนธรรม’ ‘ความรู้’ ส่วน 明 [เม] เป็นคันจิที่หมายถึง ‘ความสว่าง’

และคุณวสุได้ให้ความรู้ว่า “คำว่า 文明 [บุนเม] นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912 หรือ พ.ศ. 2411 – 2455) เป็นช่วงที่อารยธรรมจากตะวันตกเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น ทำให้ระบบและประเพณีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในช่วงสมัยเมจิตอนต้นนั้นคำว่า 文明 [บุนเม] นั้นจะมีกลิ่นอายของ ‘ค่านิยมฝั่งตะวันตก’ แต่พอมาเป็นช่วงสมัยเมจิตอนปลายคำๆ นี้ถูกเพื่อแบ่งแยกระหว่าง ‘อารยธรรมตะวันตก’ และ ‘อารยธรรมตะวันออก’ และคนที่ประดิษฐ์คำว่า 文明 [บุนเม] คือฟุคุซะวะ ยุคิจิ (福澤 諭吉: ふくざわ ゆきち)”

ขณะเดียวกัน อาจารย์ศุภชัย (ชื่อญี่ปุ่นของเขาคือ ไดอิจิ หรือคนมักเรียกว่า อาจารย์ได) บอกผมว่า 文明 อ่านว่าบุนเมะ อารยธรรม หรือ ศิวิไลซ์ เป็นคำใหม่สร้างขึ้นในสมัยปฏิรูปเมจิ โดยฟุคุซะวะ ยุคิจิ (福澤 諭吉) สร้างมาจากตัวคันจิ 文 บุน หรือมง หรืออะนะ ฟุมิ เเปลว่าตัวอักษร หรือการเขียน

เเละคำว่า 明 อะการิ หรืออะกะรุ่ย เมะ หรือมิน ฯลฯ เเปลว่าเเสงสว่าง หรือ สดใส ซึ่งคำดังกล่าวนี้จะสังเกตได้ว่า มาจากตัวคันจิที่ประกอบกันจากคันจิอีกสองคำคือ คำว่า 日 ฮิ หรือนิ ที่เเปลว่าพระอาทิตย์ ซึ่งจะเห็นคำดังกล่าวถูกใช้ในการเรียกชือประเทศญี่ปุ่นว่า 日本 นิฮง เเปลว่า ต้นกำเนิดพระอาทิตย์

อีกคำหนึ่งก็คือ 月ทสึคิ เเปลว่า พระจันทร์ เมื่อมารวมกัน ระหว่างพระจันทร์กับพระอาทิตย์ ก็คือ เเสงสว่างนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อ นำมารวมกับ 文明 จึงเเปลว่าอารายธรรม เเละศิวิไลซ์

ขณะเดียวกัน 文 ที่เเปลว่าการเขียน ที่ถูกนำมาใช้ในเเง่ของความหมายอารยธรรม เนื่องจากการเขียนคือ จุดเริ่มต้นของอารยธรรมทั้งปวงนั่นเอง อันเป็นที่มาของ 文明 ‘แสงสว่างแห่งวัฒนธรรม’ หรือ “Enlightenment” ที่เป็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด และเดินทางมาถึงญี่ปุ่นและไทยในตอนกลางศตวรรษที่สิบเก้า

และจากการที่ญี่ปุ่นรู้จัก “แสงสว่างแห่งวัฒนธรรม” หรือ “Enlightenment” การปฏิรูปบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยก็เกิดขึ้นตามมา ดังที่คณวสุได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของช่วงสมัยเมจินี้ได้แก่ ระบบเกณฑ์ทหาร, รถไฟ, โทรเลข, ไปรษณีย์, เรือไอน้ำ, อาคารสไตล์ยุโรป, อาคารอิฐ, เสาตะเกียงไฟ, โรงงานทอผ้า, การประกาศบังคับเป็นหน้าที่ที่ต้องมีนามสกุล, การไว้ทรงผมสไตล์ตะวันตก, การประกาศห้ามคนธรรมดาพกพาดาบ, เครื่องแบบทหาร, เครื่องแต่งกายสไตล์ตะวันตก, กระเป๋านักเรียนญี่ปุ่น (Randoseru), หนังสือพิมพ์, การใช้ปีคริสตศักราช”

และรวมทั้งฟุคุสะวะก็ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคโอขึ้น

จากคุณูปการที่ฟุคุสะวะทำให้คนญี่ปุ่นรู้จัก “Enlightenment” ผ่านคำว่า “文明” ทางการจึงได้พิมพ์รูปเขาไว้บนธนบัตรใบละหมื่นเยน

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): Enlightenment ในญี่ปุ่น

หลายคนคงเริ่มอยากรู้ว่า Enlightenment ในภาษาไทยใช้คำว่าอะไร ?

คงไม่ลืมว่า ผมได้เคยเทียบเคียง สอ เสถบุตร ในฐานะที่เป็นคนไทยคนแรกที่แต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยกับฟุคุสะวะ (แต่ถ้าถามว่า ใครทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยฉบับแรก คำตอบคือ นายแพทย์แซมมวล เจ. สมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ใช้เวลาทำถึง 30 ปีกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้น ท่านก็อายุ 88 ปี)

เมื่อเปิดพจนานุกรมของ สอ เสถบุตรพบว่า ท่านได้แปล Enlightenment ไว้ว่า “การตรัสรู้ ความเห็นแจ้ง, การรู้แจ้งเห็นจริง”และในศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายดังนี้ ได้แก่ enlightenment การตรัสรู้, การรู้แจ้ง [ปรัชญา ๒ มี.ค. ๒๕๔๕]Enlightenment age; Enlightenment, the ยุคเรืองปัญญา [วรรณกรรม ๖ มี.ค. ๒๕๔๕] the ยุคสว่าง [ปรัชญา ๒ มี.ค. ๒๕๔๕]Enlightenment, the; Enlightenment age ยุคเรืองปัญญา [วรรณกรรม ๖ มี.ค. ๒๕๔๕] และที่มาของชื่อของกลุ่มนิติราษฎร์ ก็มาจาก Enlightenment ด้วย นั่นคือ “นิติราษฎร์” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า enlightened-jurists

อีกทั้งคำว่า ตาสว่าง หรือ เบิกเนตร ที่ใช้กันอยู่ ก็มาจาก Enlightened และถ้าจะถามว่า คนไทยคนแรกที่ใช้คำว่า Enlightened คือใคร ?

เท่าที่ผู้เขียนสำรวจพบคือ มีคนไทยคนหนึ่งใช้คำว่า enlightened ในการเขียนจดหมายไปถึงชาวอเมริกันในปี พ.ศ. 2392 โดยข้อความที่เขาใช้คำว่า enlightened คือ “Here are many gentlemen who formerly believed in the cosmogony & cosmography according to Brahmanical works which the ole ancient Buddhist authors of the book have adopted to their system without hesitation. They took contrary contest with many subjects of European or enlightened (เน้นโดยผู้เขียน) Geography astronomy Horology navigation chemistry &c. on their first hearing or receipt.”

คนไทยที่ว่านี้คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ประเทศสยามเราก็มี รถไฟ ไปรษณีย์โทรเลข โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประมวลกฎหมาย ระบบเงินตราที่ใช้ธนบัตร โรงเรียน และการเลิกทาสที่เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): Enlightenment ในญี่ปุ่น