posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): คุณครูอ่ำ บุญไทย

26 เมษายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร  

****************

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): คุณครูอ่ำ บุญไทย

จากที่เขียนเปรียบเทียบอัตราการอ่านออกเขียนได้ของไทยกับญี่ปุ่นในช่วงแรกเริ่มการปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย หลังจากที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นต้องเผชิญกับอิทธิพลของฝรั่งในยุคล่าอาณานิคม ญี่ปุ่นมีอัตราอ่านออกเขียนได้ร้อยละ 40 ในช่วง พ.ศ.2432 ส่วนของไทย หาตัวเลขในปี พ.ศ.2432 ไม่ได้ แต่มีตัวเลขในช่วงทศวรรษ 2493 นั่นคือ คนไทยในวัยโตแล้วที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนร้อยละ 50   และญี่ปุ่นเริ่มมีพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นครั้งแรกในปี พ.ศ.2403  ส่วนของไทยเรา ปี พ.ศ.2493  และเราเริ่มมีการศึกษาภาคบังคับในปี พ.ศ.2464 แต่ยังไม่ทั่วทุกพื้นที่

แต่กระนั้น ก็มีบุคคลหนึ่งที่แม้นว่าจะโตขึ้นมาและไม่ได้เรียนหนังสือภายใต้การศึกษาภาคบังคับ และเริ่มเรียนจากบ้านนอกที่อุบลราชธานี แต่เขาผู้นี้กลับมีความรู้ที่โดดเด่นยิ่งนัก  เขาผู้นี้คือ อ่ำ บุญไทย หรือสมัยนั้นจะรู้จักกันในนามของ “ครูอ่ำ บุญไทย”

ครูอ่ำเกิดปี พ.ศ. 2445 ที่จังหวังอุบลราชธานี ดังนั้น ตอนที่เริ่มการศึกษาภาคบังคับ ครูอ่ำมีอายุได้ 19 ปีแล้ว ดังนั้น ครูอ่ำจึงศึกษาหาความรู้ตามระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิมขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 กระทรวงธรรมการ มีนโยบายขยายการกสิกรรม ได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุบลราชธานี ที่บ้านกุดเป่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และแต่งตั้งให้นายอ่ำ บุญไทย เป็นครูใหญ่คนแรก ซึ่งขณะนั้น ครูอ่ำมีอายุ 21 ปี

หนึ่งปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทางการได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน เป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม นั่นคือ ให้มีการเลือกผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลค่อยไปเลือกผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกทีหนึ่ง ครูอ่ำตัดสินในลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นด้วย และได้เขียนหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของท่าน

หนังสือเล่มนี้อุดมไปด้วยความรู้ในทางเศรษฐกิจเมืองที่ดูเหมือนว่า มีนักการเมืองแห่งดินแดนอีสานในปัจจุบันน้อยคนที่จะมีภูมิปัญญาอย่างท่าน ทั้งๆที่สมัยก่อนนี้ โอกาสในการศึกษาหาความรู้ก็ดูจะยากลำบากกว่าสมัยนี้ ด้วยสมัยนี้มีสื่ออิเลกทรอนิคและเทคโนโลยีการศึกษาที่ช่วยในการค้นหาข้อมูลความรู้อย่างสะดวกดาย แต่ก็ไม่ทราบว่า บรรดานักการเมืองลูกหลานครูอ่ำ บุญไทย เอาเวลาไปทำอะไรเสียหมด จะตระหนักรู้หรือไม่ว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อะไร ?

ถ้าไม่รู้แน่ว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อะไร ?  และควรมีลักษณะอย่างไร ?   ผมขอแนะนำว่า น่าจะลองหันกลับไปอ่านความคิดของผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรของไทยยุคแรกเริ่มในปี พ.ศ.2476 อย่างครูอ่ำ บุญไทยดูบ้าง หนังสือของครูอ่ำเป็นกระจกเงาสะท้อนนักการเมืองอีสานบ้านเราในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี !

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): คุณครูอ่ำ บุญไทย

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เก้า): คุณครูอ่ำ บุญไทย

ในหน้าที่ 11 ของหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ครูอ่ำได้กำหนด “ลักษณะผู้แทนราษฎร” ที่ควรจะเป็นไว้ 4 ประการดังนี้คือ  1) เป็นผู้เข้าใจแก่นแห่งความดี  2) เป็นผู้ทราบว่าความต้องการในที่สุดคืออะไร ? 3) เป็นผู้อ่านโลกออก 4) ลักษณะอื่นๆของผู้แทน

ครูอ่ำอธิบายความหมายของการ “เป็นผู้เข้าใจแก่นแห่งความดี” ไว้ดังนี้:  “นักปราชญ์ในทางปรัชญามักจะสร้างประเทศขึ้นในแดนแห่งความนึกว่าถ้าตนนิรมิตประเทศขึ้นได้ควรจะให้อะไรเป็นอย่างไรจึงจะดีที่สุด ท่านมหาปราชญ์เพลโตได้สร้างประเทศขึ้นอันหนึ่งเหมือนกัน ประเทศที่ท่านสร้างขึ้นนั้นมีนักปราชญ์ทั้งโลกชมว่า ประเสริฐที่สุด  ในหนังสือ ‘เรปูลิค’ (Republic)  ของเพลโต ซึ่งอธิบายถึงประเทศที่ท่านสร้างขึ้นนั้น ท่านอธิบายว่า พลเมืองดีของประเทศนั้นคือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์  นี้เป็นความจริงที่สุด ถ้าชาวนาเห็นว่าอาชีพอันเป็นหน้าที่ของตนไม่ดี อยากเป็นกษัตริย์เสียหมด ประเทศก็จะวุ่นขึ้นทันที หรือถ้าทหารเห็นว่าหน้าที่ทหารอันเป็นอาชีพของตนนั้นไม่ดี  มาเป็นพ่อค้าเสียหมด ประเทศก็จะวุ่นขึ้นทันที เพลโตเห็นว่า อาชีพของใครๆนั้นดีทั้งนั้น จงทำให้สมบูรณ์เถิด  ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีอย่าเห็นแก่สินบน  เมื่อต่างยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างเคร่งขลังแล้วไซร้ นั่นคือ ประเทศอันเลิศในโลก และนั่นคือ ความดี”

ลองคิดดูซิครับว่า  คำอธิบายเรื่อง “ความเข้าใจในแก่นแห่งความดี” ของผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชอย่างครูอ่ำ บุญไทย ในปี พ.ศ.2476 นี้ทำให้นักการเมืองอีสานของไทยไม่น้อยหน้าสากลโลกเลย กล่าวได้ว่า ถ้าในสมัยนั้น มีใครแปลหนังสือเล่มนี้ของครูอ่ำเป็นภาษาอังกฤษ และส่งถึงมือสื่อมวลชนตะวันตกในสมัยนั้น เชื่อว่า บรรดาสื่อต่างชาติเหล่านั้นย่อมต้องยกนิ้วให้นักการเมืองไทยถิ่นอีสานผู้นี้ว่าทรงภูมิยิ่งนัก ขนาดอ่านปรัชญาการเมืองชิ้นสำคัญอย่าง “Republic” ของเพลโต ผู้เป็นมหาปราชญ์ของชาวตะวันตก

ครูอ่ำอ่านปรัชญาการเมืองของเพลโต และเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของแต่ละสาขาอาชีพ  และถ้าแต่ละคนในประเทศ “ยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างขลังแล้ว” ประเทศนั้นก็จะเป็นเลิศในโลกเลยทีเดียว 

แม้ว่าเพลโตจะพูดถึงชาวนา ทหารและพ่อค้า แต่ไม่ได้พูดถึงผู้พิพากษา แต่ครูอ่ำก็นำหลักการเรื่องสำนึกในหน้าที่ของเพลโตมาประยุกต์เรียกร้องให้ “ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีอย่าเห็นแก่สินบน”  เพราะครูอ่ำเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของสถาบันตุลาการในสังคมการเมือง เพราะผู้คนในสังคมจะได้มีชีวิตอยู่อย่างได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาในสังคมนั้นว่าจะ “ยอมตายเพื่อหน้าที่อย่างเคร่งขลัง” เป็นสำคัญหรือไม่ ?    

ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนราษฎร ครูอ่ำได้เน้นไปที่หลักการ “ความเข้าใจในแก่นของความดี” ซึ่งแน่นอนว่า การประยุกต์ดังกล่าวนี้เป็นการตีความและการประดิษฐ์ทางความคิดของครูอ่ำเอง เพราะในงานของเพลโต ไม่ได้มีการกล่าวถึงอาชีพ “ผู้แทนราษฎร”

ครูอ่ำกล่าวว่า “ผู้แทนราษฎรถ้าไม่รู้จักแก่นแห่งความดี ก็จะทำเอารัฐสภาเหลวหมด ต้องยอมเสียสละเพื่อหน้าที่ของตน  จะมัวกลัวฝ่ายปรปักษ์อื่นๆไม่ได้ หรือจะเห็นแก่สินบนขายชาติไม่ได้ เมื่อเห็นอย่างไรว่าจะพาชาติให้ก้าวหน้า ต้องพากเพียรทำ นี่ควรจะเป็นลักษณะอันแรกของผู้แทนราษฎร” 

การรู้จักแก่นแห่งความดีของผู้แทนราษฎรคือ การเข้าใจถึงหน้าที่ของความเป็นผู้แทนราษฎรอย่างถ่องแท้ ยึดมั่นกล้าหาญและเสียสละในการทำหน้าที่ของตนอย่างถึงที่สุด  

อย่างไรก็ตาม ครูอ่ำได้กล่าวด้วยความเข้าใจในการเมืองไทยอย่างดีว่า “ในสมัยที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความ ‘ป.จ.’ มนุษย์ที่มีลักษณะเช่นนี้ (มีคุณสมบัติตามลักษณะข้อแรกของผู้แทนราษฎร---ผู้เขียน)  มักจะมีผู้เกลียดชัง  และมักจะไม่ได้ดิบได้ดี แต่จะเห็นว่างานในหน้าที่ของเขาประเสริฐมาก มนุษย์เช่นนี้ต้องเป็นผู้ที่ 1) มีความคิดของตนเอง 2) สามารถบังคับตัวเองได้  3) รู้จักตัวเองดี”

ฟังๆแล้ว  ดูจากพฤติกรรมของเหล่านักการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ไม่เพียงแต่นักการเมืองอีสาน แต่รวมถึงนักการเมืองในภาคอื่นด้วย น้อยคนนักที่จะ “มีความคิดของตนเอง—สามารถบังคับตัวเองได้และรู้จักตัวเองดี”  !  ตกลงแล้ว นักการเมืองไทยเราตกต่ำลงหรืออย่างไร ?    นักการเมืองแบบครูอ่ำหายไปไหนหมด ?

(ผู้อ่านที่อ่านผ่านทางเฟสบุ๊คท่านใดทราบความหมายหรือจะช่วยกรุณาตีความอักษรย่อ  “ป.จ.” ที่ครูอ่ำเขียนไว้ในข้อความข้างต้น ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ส่งคำตอบมาได้ครับ)