posttoday

“คนกลางคืน” ต้องอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรี

24 เมษายน 2564

โดย...ชยันต์ ไชยพร

*************

เมื่อครั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรก ทุกอาชีพล้วนได้รับผลกระทบต่อการทำมาหากินอย่างเท่าเทียมกัน ต่อมาเมื่อมีการระบาดระลอกที่สองและสาม ทำให้ต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง ในขณะที่บางอาชีพยังสามารถทำงานหรือประกอบธุรกิจต่อไปได้บ้าง แต่สำหรับกลุ่มอาชีพที่เรียกว่า "คนกลางคืน" รายได้ต่อวันกลายเป็นศูนย์ทันทีทุกครั้ง คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่บอบช้ำที่สุดกลุ่มหนึ่ง ยิ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้ พุ่งทะยานขึ้นเกือบเท่าตัว ล่าสุดเกือบ 3 พันรายต่อวัน ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไหร่ กว่าจะถึงตอนนั้นไม่แน่ว่า "คนกลางคืน" จะช้ำตายกันหมดแล้วหรือไม่ทั้งวงการ

ในประเทศไทยมีกลุ่มอาชีพ “คนกลางคืน” อยู่ประมาณ 5-7 ล้านกว่าคน ประกอบด้วย กลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรี แดนเซอร์ รวมถึงเจ้าของผับบาร์และร้านอาหาร ในยามปกติ คนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยถึงเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่ในยามวิกฤติ พวกเขากลับถูกทอดทิ้ง และทำราวกับว่าไม่มีตัวตน

บางคนอาจจะมองว่าพวกเขาเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ "คนกลางคืน" ทุกคนเป็นตัวแพร่เชื้อ ร้านที่ปฏิบัติตัวถูกต้องตามมาตรการของ ศบค. ก็มีและอาจจะมากกว่าร้านที่ทำผิดด้วยซ้ำไป จะเหมารวมพวกเขาทั้งหมดให้กลายเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งได้หรือ

“คนกลางคืน” ต้องอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรี

บางประเทศเข้าใจและเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ เพราะหากเปิดใจให้กว้าง คนกลางคืนก็คือจุดเด่นหนึ่งของประเทศ ทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้เป็นจำนวนไม่น้อย มีส่วนส่งเสริมวงการบันเทิงและดนตรีไทย และเป็น Soft power (อำนาจอ่อน) ของประเทศไทยประการหนึ่ง ในยามที่พวกเขาลำบากก็ต้องช่วยเหลือประคับประคองให้อยู่ได้ เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ พวกเขาจะได้กลับมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี รัฐบาลท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ “คนกลางคืน” โดยตรง ด้วยการแจกเงินให้ศิลปินและผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นจำนวน 190,000 บาทต่อคน และให้สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม สถานบันเทิง และจัดอีเวนท์ เป็นจำนวน 560,000 บาทต่อราย

ในออสเตรเลีย รัฐบาลกลางพึ่งยืนยันวงเงินช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจดนตรีไปกว่า 5,000 ล้านบาท

หรือกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และ กีฬา ของสหราชอาณาจักร ก็มีโครงการให้เงินช่วยเหลือนักดนตรีที่ทำการแสดงสด ครั้งละตั้งแต่ 40,000 บาทถึงเกือบ 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่มีรัฐบาลของประเทศใดสามารถช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ “คนกลางคืน” ของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่รัฐบาลของประเทศเราได้พยายามไปแล้วมากน้อยแค่ไหนเพื่อช่วยเหลือ “คนกลางคืน” ของพวกเรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้ลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง

ความช่วยเหลือที่ไม่มีหรือมาไม่ถึง ทำให้ "คนกลางคืน" หลายคนรู้สึกน้อยใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหากใครติดตามข่าวสาร ก็คงจะเห็นกลุ่ม ‘คนหาค่ำกินเช้า’ เหล่านี้ ออกมาเรียกร้องความเห็นใจรายวัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ประธานสมาพันธ์คนบันเทิงอาชีพ ที่เข้าพบหนังสือถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อยื่นหนังสือนำความเดือดร้อนของคนบันเทิงและเรียกร้องให้มีการเยียวยา หรือกลุ่มนักดนตรีอิสระ ที่เคยทำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอโอกาสให้นักดนตรีได้กลับไปทำงาน

จนถึงตอนนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเห็นด้วยแล้วว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถกกันถึงวิธีช่วยเหลือ "คนกลางคืน" อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกองทุนของรัฐหรือเอกชน โดยวัตถุประสงค์ต้องไม่ใช่เพียงแค่ให้พวกเขาพออยู่ได้ แต่เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทำมาหากินกับสิ่งที่พวกเขาหลงใหล และร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป