posttoday

รำลึก กปปส. กับม็อบมวลมหาประชาชนครั้งสุดท้าย (จบ)

24 เมษายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

บ้างก็ว่าม็อบนำมาสู่การรัฐประหาร และบ้างก็ว่าทหารนั่นแหละที่มีการรัฐประหารอยู่ในสายเลือด

โดยส่วนตัวของผู้เขียน จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้ร่วมกับม็อบมาหลายม็อบ เชื่อว่าการรัฐประหารเป็นกระบวนการที่ถูก “เพาะบ่ม” หรือมีการพัฒนาเป็นขั้นตอนตามลำดับ โดยต้องใช้เวลาที่เหมาะสม ร่วมกับความสามารถและความพร้อมในการทำรัฐประหาร ที่ทหารเป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติอย่างครบครันนี้

ขอวิเคราะห์ด้วยม็อบ กปปส.ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นม็อบ “มวลมหาประชาชนครั้งสุดท้าย” (เพราะต่อจากนี้อาจจะไม่มีม็อบที่สามารถเรียกคนออกมาชุมนุมตามท้องถนนได้เป็นล้าน ๆ คนเป็นเวลานับเดือนแบบนี้อีก) ที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมอย่าง “เข้มข้น” เริ่มตั้งแต่ที่เข้าไปร่วมด้วย “ความรู้สึกเกลียดชังอย่างรุนแรง” ต่อความหน้าด้านของผู้มีอำนาจ ในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยพวกมากลากไป เอาชนะไปจนได้ในตอนตีสาม อย่างไม่รู้สึกอับอายอะไรทั้งสิ้น พอได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีปราศรัย ผู้เขียนก็ตอบรับในทันที และได้ไปร่วมปราศรัยในหลาย ๆ เวทีตลอดการชุมนุมนั้น

แม้บางวันไม่ได้ขึ้นปราศรัย ก็ไปร่วมชุมนุมอย่างมุ่งมั่นอยู่ทุกวัน จนถึงวันสุดท้ายที่ชุมนุมกันอยู่กลางถนนราชดำเนิน หน้าสะพานมัฆวาน ในวันที่ 20พฤษภาคม (ก่อนที่จะมีการเรียกแกนนำของกลุ่มต่าง ๆ ไปร่วมประชุมกันในสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี ในวันที่ 21 และวันที่ 22 ก็ทำการรัฐประหารในตอนท้ายการประชุมนั้น) ผู้เขียนก็ยังได้ขึ้นเวทีปราศรัยอีกครั้ง

ผู้เขียนจำได้ว่า ในตอนสาย ๆ ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กลุ่มนักวิชาการของ กปปส.ได้ไปประชุมกันที่โรงแรมปริ้นเซส ถนนหลานหลวง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้มาร่วมประชุมด้วย

ระหว่างที่หารือกันเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของรัฐสภาและรัฐบาล ที่ตอนนั้นอยู่ในภาวะ “เป็นง่อย” คือไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศได้ แล้วกลุ่มม็อบควรจะต้องทำอะไรต่อไป จู่ ๆ คุณสุเทพก็ก้มดูโทรศัพท์มือถือ เหมือนมีใครส่งข้อความอะไรบางอย่างมาให้ ก่อนที่จะขอตัวออกไปพูดคุยอะไรกับผู้ติดตาม แล้วก็กลับมาแจ้งแก่ที่ประชุมว่า พรุ่งนี้(21 พฤษภาคม 2557)จะมีการประชุมที่สโมสรทหารบก ถ้ามีอะไรจะแจ้งข่าวมาให้ทราบ จากนั้นก็หายไปสองวัน จนกระทั่งมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557ดังกล่าว

ก่อนหน้านั้นสัก 4หรือ 5 วัน ได้มีการประชุมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนสุขุมวิท มีนายทหารระดับพลเอกได้ “แวะมาเยี่ยม” กลุ่มพวกเรา โดยได้แสดงความชื่นชมถึงผลงานต่าง ๆ ที่พวกเราได้ร่วมกระทำ พวกเราบางคนก็เริ่มที่จะได้ “กลิ่นทะแม่ง ๆ” ว่าน่าจะมีอะไรเกิดขึ้น โดยหลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557ผู้เขียนได้มาประมวลรวมลำดับเหตุการณ์ จึงเกิดความเชื่อว่าเป็นการเชื่อมโยงอย่างเป็น “ลำดับขั้น” ที่นำมาสู่การรัฐประหารในครั้งนั้น และได้เชื่อมโยงไปถึงการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

ภายหลังที่ทหารได้ส่งสัญญาณให้ม็อบเสื้อเหลืองกับม็อบเสื้อแดงให้ยุติการเผชิญหน้ากัน แต่ครั้นพอห้ามไม่ได้ ทหารก็ออกมาทำรัฐประหารในที่สุด โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ออกมาเปิดเผยต่อหน้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ในครั้งหนึ่งว่า “ผมทำไปด้วยตกกระไดพลอยโจน” แต่กระนั้นก็มีหลายคนเชื่อว่า สถานการณ์ความวุ่นวายตามท้องถนนนั่นแหละที่นำมาสู่การทำรัฐประหาร

ผู้เขียนอยากจะยุติความเห็นที่อาจจะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ว่าทหารทำรัฐประหาร “ด้วยความจำเป็น” หรือเป็นเพราะทหาร “ชอบทำรัฐประหารอยู่แล้ว” ด้วยความคิดเห็นของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในตอนที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2527 เมื่อต้องตอบคำถามที่ผู้เขียนถามถึงอนาคตการเมืองไทย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน ที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนนั้น ซึ่งคำถามหนึ่งผู้เขียนได้ถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า “ทหารควรจะต้องเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่” และก็ได้คำตอบที่ชัดเจน ดังนี้

“เขาว่าเป็นประชาธิปไตยได้ ทหารต้องเป็นกลาง นั่นเป็นหลักการที่เขายึดถือกันมานาน ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วยว่าจะต้องยึดถือหลักนั้น ประเทศใดจะยึดถือหลักใดมันแล้วแต่ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของไทยทหารเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นก็รักษากันไว้ด้วยกำลังทหาร เพราะฉะนั้นถ้าทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ไม่ให้ลัทธิอื่นเข้ามาแย่งชิงได้ นั่นก็เป็นการกระทำที่ถูก หรือในบางครั้งที่ทหารต้องเข้ามารักษาอำนาจด้วยตนเอง เพื่อรักษาสถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้ยุ่ง วุ่นวายจลาจล อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้"

สถานการณ์ที่จะให้ทหารเข้ายึด ให้เข้ามามีอำนาจได้หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่ทหาร มันอยู่ที่พลเรือน นักการเมือง ประชาชน มันอยู่ที่กลุ่มกำลังต่าง ๆ ที่คิดจะมีอำนาจวาสนากัน ว่าจะก่อให้เกิดการจลาจลหรือไม่ จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายขนาดไหน ถ้าทุกฝ่ายเป็นประชาธิปไตยแล้ว ผมว่าทหารเขาก็ไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ว่าหลายฝ่ายก็ว่าจะทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างนักศึกษาเองก็คิดที่จะใช้พลังนักศึกษา ก่อความไม่สงบต่าง ๆ ทำความรุนแรง อย่างนี้ก็เท่ากับเชื้อเชิญให้เขาเข้ามา บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ทหารที่ไหนเขาจะทนอยู่ได้

ถ้าเราจะทำอย่างประชาธิปไตย พูดกันด้วยเหตุด้วยผล พูดกันอย่างคนไทยด้วยกัน มันก็พอจะพูดกันได้ ผมว่าสถานการณ์ที่จะทำให้ทหารเข้ามายุ่ง ไม่ได้อยู่ที่ทหารเลย อยู่ที่คนอื่นทั้งนั้น คนอื่นทำขึ้นเอง ถ้าบ้านเมืองจลาจล ทหารเขาจำเป็นต้องเข้ามา เขาปล่อยไม่ได้ และทหารเขาก็มีหน้าที่ต้องรักษาความสงบของบ้านเมือง

และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุด ทหารมีหน้าที่ต้องรักษาราชบัลลังก์ ทหารไทยต้องรักษาพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าอยู่หัว ใครมาทำอะไรเขาสู้ อันนี้ขอให้เข้าใจเถอะ หน้าที่พลเรือนก็ทำไปตามระบอบประชาธิปไตย มันก็ต้องพิสูจน์ว่า ประชาธิปไตยมันสามารถรักษาความสงบได้ สามารถระงับจลาจลได้ พิสูจน์ให้ผู้เลือกตั้งรู้ พิสูจน์ให้ทหารเข้าใจด้วย ว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะระบอบประชาธิปไตยมันจะแก้ปัญหาของมันเองได้ในที่สุด

อย่าไปเห็นว่าใครเป็นศัตรูใคร ทุกคนหวังดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้แทนก็อย่าวุ่นวาย อย่าแก่งแย่งกัน แย่งชิงอำนาจกัน ทำตัวให้คนเขานับถือ ถ้าเขาจะยึดก็แสดงว่า สภาผู้แทนมันใช้ไม่ได้แล้ว มันเละ ไม่มีใครนับถือ เขาก็ไม่ปล่อยให้มันอยู่

” มิน่าหละม็อบทุกม็อบจึงต้องสร้างความวุ่นวายให้ถึงที่สุด เพราะรู้ว่าทหารรอโอกาสอยู่นี่เอง !"

*******************************