posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ห้า): ปัจจัยเกื้อหนุนของญี่ปุ่น

29 มีนาคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร             

********************

ญี่ปุ่นกับไทยเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองในช่วงไล่เลี่ยกัน  การปฏิรูปของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันนามของ การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration)   ที่เริ่มในปี พ.ศ. 2411 (อันเป็นปีที่เริ่มรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  และหนึ่งในการปฏิรูปเมจิคือ ญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามแบบตะวันตกในปี พ.ศ. 2432 และกำหนดให้มีสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญเร็วกว่าไทยถึง  43 ปี โดยกลุ่มที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ อันได้แก่ สถาบันจักรพรรดิ ชนชั้นซามูไรระดับกลางและล่าง และพ่อค้า  โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยเพื่อรับมือกับมหาอำนาจตะวันตก

เมื่อกล่าวถึงชนชั้นซามูไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปการเมือง หลายคนอาจนึกถึงซามูไรที่ฟันดาบ แต่จริงๆแล้ว ในช่วงก่อนปฏิรูปเมจิ ญี่ปุ่นในยุคโชกุนโทะกุงะวะ และในยุคดังกล่าวนี้เอง ญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะที่มีความสงบสันติ ปราศจากสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นเวลากว่า 250 ปี  เมื่อไม่มีศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก ซามูไรก็แปลงโฉมจากนักรบเป็นผู้บริหาร ข้าราชการ อีกทั้งนอกจากซามูไรจะได้รับการศึกษาแบบดั้งเดิมนั่นคือ การศึกษาลัทธิขงจื๊อแล้ว ยังได้รับการศึกษาในแบบตะวันตกด้วย แม้ว่าญี่ปุ่นจะขับไล่ฝรั่งออกไปและปิดประเทศเก็บตัวไม่คบฝรั่งตั้งแต่ พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639)  แต่ญี่ปุ่นยังคบค้ากับดัทช์ เพราะฝรั่งชาตินี้ไม่มีนโยบายแทรกแซงครอบงำทางการเมือง แต่มุ่งค้าขายอย่างเดียว และในช่วงที่ดัทช์ติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น ดัทช์ก็ผ่านประสบการณ์การปกครองทั้งแบบสาธารณรัฐและราชาธิปไตย

การที่ญี่ปุ่นคบค้ากับดัทช์ ทำให้ญี่ปุ่นได้รับการศึกษาแบบตะวันตกผ่านดัทช์ ซามูไรญี่ปุ่นจึงเป็นผู้ที่มีความรู้และมีการศึกษาสูงสุดในสังคม และเมื่อมีความรู้มีการศึกษาดีกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ซามูไรจึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารและปรับปรุงประเทศทั้งในสมัยโทะกุงะวะและต่อจากนั้น  และสายสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานระหว่างญีปุ่นกับดัทช์นี้เอง ก่อนที่ญี่ปุ่นเริ่มจะเข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างเต็มตัว  ได้ส่งคนไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ ดังที่ได้กล่าวถึงกรณีของ นิฌิ อะมะเนะ (Nishi Amane) ที่มาจากครอบครัวซามูไรและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเขาไปเรียนรัฐศาสตร์และกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเลย์เดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2405

แม้ว่าซามูไรจะมีการศึกษาดี แต่ฐานะไม่ดี เพราะไม่มีทรัพย์สินที่ดินเป็นของตัวเอง ดำรงชีพจากค่าตอบแทนที่เป็นข้าว  และเมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นสูงในจีนในช่วงเวลาเดียวกัน จะพบว่า ชนชั้นผู้ดีในจีนจะมีฐานะดีกว่า เพราะมีที่ดินและทรัพย์สินเป็นของตัวเอง  ดังนั้น ซามูไรจึงเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคม มีการศึกษา มีเกียรติมาก แต่ไม่ร่ำรวยเหมือนชนชั้นอื่นๆในญี่ปุ่น อันได้แก่ ชนชั้นพ่อค้า  ซามูไรจึงเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจเปราะบางกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

ฟังๆดูแล้ว ชีวิตซามูไรก็น่าจะลำบากอยู่ เพราะมีสถานะทางสังคมเป็นคนมีเกียรติ แต่ไม่มีทรัพย์สิน จึงต้องมีความหยิ่งทรนงจริงๆถึงจะมีชีวิตอย่างซามูไรได้

ในตอนปลายสมัยโทะกุงะวะ เมื่อโชกุนไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้ซามูไร ทำให้ฐานะซามูไรที่ไม่มีอะไรอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงเข้าไปอีก ซามูไรต้องหันไปกู้ยืมเงินพ่อค้า และถึงขนาดต้องขายตำแหน่งซามูไรด้วย  การขายตำแหน่งที่ว่านี้ คือ ขายของประจำตระกูล เช่น เสื้อ มีดพก   ซึ่งของประจำตระกูลนี้มีคุณค่าและความหมายต่อผู้ที่เป็นซามูไรอย่างยิ่ง เพราะการสืบทอดตำแหน่งซามูไร คือ บุตรชายคนโต และการสืบทอดตำแหน่งซามูไรคือการสืบทอดตำแหน่งทางราชการไปในตัวด้วย   ในขณะที่ชนชั้นสูงในสังคมจีนไม่ได้รับตำแหน่งราชการสืบทอดจากบิดาอย่างซามูไรในญี่ปุ่น แต่อย่างที่รู้ๆกัน คนจะเป็นข้าราชการได้จะต้องผ่านการสอบจอหงวน  ดังนั้น ข้าราชการจีนในสังคมดั้งเดิมจึงมีพื้นฐานมาจากคนหลากหลายในสังคม ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวพ่อค้าหรือชาวนา  หรือในสังคมเกาหลีก็คล้ายๆกับจีน นั่นคือ จะรับราชการ ก็ต้องสอบเข้า ในขณะที่ในญี่ปุ่น สืบทอดกันทางสายโลหิตและต้องเป็นบุตรชายคนโตในครอบครัวซามูไร

ดังนั้น ซามูไรหรือข้าราชการจึงเป็นชนชั้นที่ค่อนข้างตายตัว ไม่มีการสอบเลื่อนชั้นทางสังคม เมื่อเทียบกับจีนและเกาหลี

แต่การที่ซามูไรเป็นชนชั้นราชการที่ตายตัวในสังคมญี่ปุ่นและมีการศึกษาดีกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ซามูไรย่อมเป็นพลังสำคัญในการปรับปรุงประเทศหลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศในสมัยเมจิ และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาก้าวหน้ารอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 19

มีคนคงอยากรู้ว่า อะไรคือความรู้ของตะวันตกที่ซามูไรศึกษาเล่าเรียนเผื่อจะได้เปรียบเทียบกับเจ้านายและขุนนางไทยในช่วงเวลาที่ต่างเริ่มการปฏิรูปการเมืองการปกครองในเวลาไล่เลี่ยกัน ?

ซามูไรเริ่มศึกษาหาความรู้แบบตะวันตก หรือที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า การศึกษาฮอลันดา (Dutch Learning)  ในราวศตวรรษที่ 18 และเริ่มต้นที่เกาะเดฌิมะ (Dejima) ทางใต้ของเมืองนางาซากิ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น   สาเหตุที่ญี่ปุ่นเริ่มการศึกษาฮอลันดาที่เดฌิมะ เพราะน่าจะเป็นบริเวณที่พ่อค้าชาวดัทช์แล่นเรือมาขึ้นฝั่ง และญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้พ่อค้าชาวดัทช์ทำการค้าขายได้ที่เกาะนี้

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ห้า): ปัจจัยเกื้อหนุนของญี่ปุ่น

ในช่วงแรกๆ การศึกษาหาความรู้ของตะวันตกผ่านดัทช์เป็นเรื่องต้องห้าม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมรับ เรียกการศึกษาของดัทช์ว่าเป็นการศึกษาของพวกอานารยชน  พวกซามูไรจึงต้องแอบเรียน ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิกข้อห้ามนำหนังสือตะวันตกเข้าประเทศ  จึงได้เกิดกลุ่มผู้รักในความรู้ขึ้นเรียกว่า “กลุ่มศึกษาฮอลันดา” โดยความรู้ที่เรียนกัน ได้แก่ ดาราศาสตร์ การแพทย์ พฤกษศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ

การศึกษาฮอลันดาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยของโชกุน โยะฌิมุเนะ ด้วยโชกุนนี้มีความสนใจในวิชาดาราศาสตร์ การทำนาฬิกาและภูมิศาสตร์   จนในปี พ.ศ. 2263 (ตรงกับสมัยของพระเจ้าท้ายสระ อาณาจักรอยุธยา)  โชกุนได้อนุญาตให้มีการเผยแพร่หนังสือตะวันตกและหนังสือแปลภาษาจีนได้โดยเสรี และยังสนับสนุนเอกชนที่สนใจศึกษาภาษาฮอลันดาและความรู้ดาราศาสตร์และการทหาร และยังสนับสนุนให้มีการแปลหนังสือตะวันตกเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายด้วย มีการแปลตำราสรีรวิทยา (Anatomy) ของฮอลันดาตั้งแต่ พ.ศ. 2314 (ตอนนั้น บ้านเรายังอยู่ในสภาวะสงครามบ้านแตกสาแหรกขาดอยู่ !) และแปลตำราฟิสิกซ์ด้วย

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ห้า): ปัจจัยเกื้อหนุนของญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนที่สนใจใคร่รู้ในวิทยาการตะวันตกคือ กลุ่มซามูไรไร้นาย หรือที่เรารู้จักกันในนามของโรนิน  บรรดาโรนินมีความอยากรู้อยากเห็นในวิทยาการที่ก้าวหน้าและการทหารเพื่อป้องกันประเทศ  ผู้เขียนยังไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมโรนินถึงรักในความรู้กว่าซามูไรที่มีสังกัด  เดาเอาเองว่า น่าจะเป็นเพราะมีเวลามากกว่าซามูไร และเมื่ออยู่ในสภาพไร้นาย ก็คงคิดขวนขวายหาความรู้ไว้ และโดยค่านิยมและสถานะทางสังคม ซามูไรเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการยกย่องและคาดหวังว่าเป็นผู้รู้มีการศึกษา               

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ห้า): ปัจจัยเกื้อหนุนของญี่ปุ่น

                                                      

                     

ต่อมา รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งมั่นสนับสนุนการศึกษาความรู้ตะวันตกผ่านฮอลันดาอย่างจริงจัง โดยตั้งโรงเรียนศึกษาภาษาฮอลันดาขึ้นที่กรุงเอะโดะในช่วงระหว่าง พ.ศ.2341 จนถึง พ.ศ.2369 มีบันทึกว่ามีนักเรียน 94 คน และนักเรียนเหล่านี้สนใจศึกษาวิชาการแพทย์และสาขาอาชึพอื่นๆ การศึกษาฮอลันดาที่เริ่มต้นแพร่หลายในส่วนกลางได้ขยายไปสู่แคว้นต่างๆ

และเมื่อนายพลเรือชาวอเมริกัน แมทธิว ซี. เเพร์รี มาพร้อมกับเรือปืนและบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2396 (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่สี่) รัฐบาลได้ส่งเสริมการศึกษาตามแบบตะวันตกให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยได้ตั้งโรงเรียนเพื่อศึกษาตะวันตกชื่อว่า โรงเรียนศึกษาตะวันตกในปี พ.ศ. 2398  โดยพัฒนามาจากสถาบันที่ศึกษาผ่านการแปลหนังสือมาก่อน โรงเรียนดังกล่าวนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปีแรกมีนักเรียนถึง 200 คน ซึ่งต่อมา สิบหกคนจากนักเรียน 200 คนนี้ได้กลายเป็นผู้นำสังคมญี่ปุ่นในการรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยเมจิ

จากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อหนุนให้ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปพัฒนาการเมืองจนมีรัฐธรรมนูญและมีสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง คือ หนึ่ง สภาวะสงบสันติที่ประเทศปลอดสงครามทั้งภายในและภายนอกต่อเนื่องยาวนาน สอง จากเงื่อนไขปลอดสงคราม ซามูไรได้ผันตัวจากการเป็นนักรบมาเป็นนักเรียนสนใจศึกษาหาความรู้  เป็นชนชั้นที่มีสถานะทางสังคมสูงแต่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ สาม ญี่ปุ่นยังติดต่อกับฝรั่งฮอลันดา ทำให้มีการเผยแพร่ความรู้แบบตะวันตกสู่สังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะซามูไรและโรนิน สี่ การศึกษาหาความรู้ตามแบบตะวันตกในญี่ปุ่นเกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องยาวนานอย่างจริงจัง ห้า จะสังเกตว่า การศึกษาความรู้ตะวันตกของญี่ปุ่นเน้นไปที่การแปลตำราจากภาษาตะวันตกเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ความรู้แผ่กระจายตามตัวหนังสือ ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่เฉพาะในห้องเรียน การแปลหนังสือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการศึกษาความรู้ตะวันตกของญี่ปุ่น และมีจารีตการแปลมาอย่างช้าที่สุดก็ตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ญี่ปุ่นมีการแปลหนังสือของ ฌอง ฌาค รุสโซ (Rousseau) นักคิดทางการเมืองคนสำคัญชาวฝรั่งเศส หนึ่งในนักคิดทฤษฎีสัญญาประชาคมและอำนาจอธิปไตยปวงชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2425 โดย นะคะอิ โทะคุซุ ที่คนญี่ปุ่นในยุคนั้นเรียกเขาว่า “รุสโซแห่งตะวันออก” ส่วนของไทยเรานั้น มีหลักฐานว่า เริ่มมีการแปลสัญญาประชาคมเป็นตอนๆลงหนังสือพิมพ์ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475  แต่ที่เป็นหนังสือแปลฉบับสมบูรณ์โดยคุณ จินดา จินตนเสรี (ผู้สนับสนุนคณะราษฎร) ได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2517 ห่างจากของญี่ปุ่นเกือบหนึ่งร้อยปี ทั้งๆที่เริ่มส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน

ปัจจุบัน เป็นที่ทราบดีว่า การแปลตำรา หนังสือจากภาษาตะวันตกเป็นภาษาญี่ปุ่นนั้นโดดเด่นมาก หนังสือสำคัญของนักคิดฝรั่งบางเล่มมีการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นมากกว่าหนึ่งสำนวน

พอกล่าวสรุปได้ว่า เงื่อนไขสำคัญของญี่ปุ่นก่อนการปฏิรูปใหญ่คือ ภาวะปลอดสงคราม และการผันจากนักรบไปเป็นนักเรียนของซามูไร และเข้าใจว่า ด้วยวิญญาณความเป็นซามูไร ก็คงตั้งใจเรียน ! และการแปลเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปในวงกว้าง

ภาวะปลอดสงครามนี่น่าจะสำคัญ เพราะอย่างในกรณีของสวีเดนที่ทำสงครามต่อเนื่องยาวนาน เพราะยุโรปเต็มไปด้วยสงครามต่อเนื่องเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่หลังจาก ค.ศ.1815 สวีเดนปลอดสงครามมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีเวลาพัฒนาบ้านเมืองอย่างจริงจัง แม้ว่าประชากรจะน้อย สภาพภูมิประเทศจะไม่เอื้ออำนวย แต่ก็สามารถพัฒนากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำประเทศหนึ่งของโลกได้

ส่วนของไทยเรา นอกจากจะรบกับพม่าและประเทศเพื่อนบ้านมาตลอดสมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่สาม ภายในเองก็เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กัน มิพักต้องพูดถึงการแสวงหาความรู้ตะวันตกอย่างจริงจังโดยกลุ่มคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ

(ข้อเขียนนี้ ผู้เขียนคัดลอก เรียบเรียงและใส่ความเห็นของผู้เขียนไปด้วย ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รศ. ดร. ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อดีตอาจารย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของตำรา “ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่” และ รศ.ยุพา คลังสุวรรณ อดีตอาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   เจ้าของบทความ “พ่อค้าเอโดะ”)