posttoday

นักการเมืองยังจะพัฒนาได้อีกไหม(2 )

27 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************

การพัฒนานักการเมืองจะต้องเริ่มจากการ “พัฒนาวิสัยทัศน์” ที่จะต้องมองไปที่ประชาชน

นักการเมืองรุ่นเก่าอีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงก็คือ นายทองหยด จิตตวีระ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี 5 สมัย โดยลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2500 จนกระทั่งมาอยู่พรรคกิจสังคมใน พ.ศ. 2522 เมื่อพรรคกิจสังคมได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลใน พ.ศ. 2523 ที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พอมีการปรับคณะรัฐมนตรีในอีก 2 ปีต่อมาก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ท่านมีความสนิทสนมกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นเนื่องด้วยท่านทองหยดเป็นคนพูดน้อยและเป็นผู้ฟังที่ดี เวลาที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปปราศรัยที่ไหน ๆ ก็ชอบตามไปฟังอยู่ข้าง ๆ เวทีโดยตลอด

ผู้เขียนสนิทสนมกับท่านทองหยดก็เพราะต้องคอยบริการเครื่องดื่มให้ท่าน เวลาที่ท่านติดตามไปฟังท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปปราศรัยตามสถานที่ต่าง ๆ นี่แหละ ช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.อยู่ด้วยนั้นท่านได้ฉายาจากสื่อมวลชนว่า “ไอ้เสือยิ้มยาก” เพราะมาจากสุพรรณที่เป็นดินแดน “ไอ้เสือ” ซึ่งเป็นดินแดนของผู้ร้ายชื่อดังในอดีต เช่น เสือดำ เสือใบ และเสือมเหศวร เป็นต้น ร่วมกับที่ท่านเป็นคนพูดน้อย(แทบจะไม่เคยพูดสัมภาษณ์สื่อมวลชนหรืออภิปรายในสภาเลย)และวางตัวเฉย ๆ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์กับใคร ทำให้ท่านได้รับฉายาดังกล่าว

ต่อมาผมได้ไปสัมภาษณ์ท่านเพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่องพรรคกิจสังคมที่บ้านพักของท่านแถวสวนอ้อย ย่านวชิรพยาบาล บ้านของท่านเป็นบ้านเก่า ๆ ครึ่งตึกครึ่งไม้ เหมือนบ้านชาวบ้านธรรมดา ๆ แต่พอได้ฟังที่ท่านเล่าให้ฟังในหลาย ๆ เรื่อง จึงมองเห็นว่าท่านไม่ใช่ “เสือเฒ่าธรรมดา ๆ” (ท่านเกิด พ.ศ. 2452ในปีที่ผมไปสัมภาษณ์ท่านเป็น พ.ศ. 2527ท่านก็มีอายุถึง 75 ปีแล้ว ท่านถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2534 ขณะอายุได้ 82 ปี)

ท่านบอกว่าที่ท่านไม่ค่อยชอบพูดมันเริ่มมาจากสมัยที่เป็น ส.ส. ครั้งแรกใน พ.ศ. 2500 นั้นแล้ว ตอนนั้นท่านเป็น ส.ส.ในนามพรรคเสรีมนังคศิลา อันเป็นพรรคที่ทหารตั้งขึ้นเพื่อค้ำจุนนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะเป็นช่วงอายุสภาสั้น ๆ เพียง 7 เดือน (เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ แล้วก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในเดือนกันยายน เนื่องจากรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้ง) แต่ก็มีการประชุมสภาอยู่หลายครั้ง มีเพื่อน ส.ส.ยุให้ท่านขึ้นพูด แต่ท่านบอกว่า “ไอ้... กูจะพูดได้ไง เสียงเหน่อเป็นคนสุพรรณอยู่อย่างนี้” นั่นก็คือท่านเขินที่จะพูดด้วยสำเนียงคนบ้านนอก อย่างที่ผู้คนในยุคนั้นชอบล้อเลียนกัน ต่อมาท่านได้เป็น ส.ส.ในปี 2512ในนามพรรคสหประชาไทย ซึ่งก็เป็นพรรคของทหารเช่นเดียวกัน ท่านก็ไม่ชอบที่จะลุกขึ้นอภิปราย โดยท่านบอกว่า “มันพูดโกหกกันทั้งนั้น พูดไปก็ขี้กลากขึ้นปากเปล่า ๆ"

ท่านเล่าถึงเพื่อน ส.ส.ในยุคเดียวกันหลาย ๆ คนว่า สมัยนั้นยังไม่มีดาวสภามากนัก วิทยุก็ไม่ค่อยทำข่าวการเมือง โทรทัศน์ก็ยังไม่แพร่หลาย มีแต่หนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายที่สุด ทำให้ ส.ส.ที่อยากจะเป็นข่าวต้อง “สร้างข่าว” เอาเอง บางคนก็เสี่ยงภัยไปพูดให้มีเรื่องมีราว มีการทำร้ายกันถึงบาดเจ็บและพิการก็มี โดยเฉพาะพวกที่ชอบไปแขวะผู้นำทหาร ใน พ.ศ. 2518 ท่านลงเลือกตั้งในนามพรรคธรรมสังคม พรรคพวกส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองในยุคเก่า ๆ นั้น

แต่พอได้มารู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงรู้สึกว่าเป็นนักการเมืองที่ทันสมัยและแตกต่างกับนักการเมืองที่ท่านรู้จักโดยสิ้นเชิง จึงได้ย้ายมาอยู่กับพรรคกิจสังคมในการเลือกตั้งปีต่อมา ใน พ.ศ. 2519 จนถึงการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของท่านใน พ.ศ. 2531 ที่ท่านหลีกทางให้ “หลงจู๊” คนดังเมืองสุพรรณ ไปลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดระนอง ซึ่งก็ชนะเลือกตั้ง และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งถูกรัฐประหาร ใน พ.ศ. 2534 แล้วท่านก็กลับมาอยู่บ้านจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวใน พ.ศ. 2534 ดังกล่าว

ผู้เขียนถามท่านเรื่องหนึ่งในการสัมภาษณ์ครั้งนั้นว่า ท่านทำงานการเมืองมาค่อนชีวิต (ลืมบอกไปว่าท่านทองหยดโดดเด่นมาจากการที่ท่านได้เป็นนายกสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ที่เป็น “นายกเทศมนตรีหนุ่ม” เมืองสุพรรณในช่วงหลังสงรามโลกครั้งที่ 2 ด้วยอายุเพียง 30 เศษ ๆ แล้วยังเป็นนายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคกลาง ในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลกำลังบุกเบิกและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ท่านมีความเห็นอย่างไรกับ “คุณภาพของนักการเมือง” ในทุกวันนี้ว่าดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร (สมัยนั้นใน พ.ศ. 2527 เป็นยุคธนาธิปไตย คือมีการใช้เงินแสวงหาอำนาจทางการเมือง ตั้งแต่ซื้อเสียงจากประชาชนเข้ามาเป็น ส.ส. พอเป็น ส.ส.แล้วก็กวาดต้อนกันเข้ามาสร้างพวกเป็น “ก๊วน” เพื่อจัดสรรโควตารัฐมนตรี แล้วก็ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรี “ถอนทุน” สร้างอิทธิพลทางการเมือง เป็นวงจรอุบาทว์ไปเรื่อย ๆ)

ท่านทองหยดไม่ตอบตรง ๆ แต่ให้ข้อคิดว่า “ส.ส.คงจะดีไปกว่านี้ได้ยาก เพราะตราบใดที่ ส.ส.ไม่ได้ยึดติดกับประชาชน แต่ไปยึดติดกับตำแหน่งรัฐมนตรีและการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง มันก็มีแต่จะแย่ลง”

ในเดือนเมษายน2533 ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตเพียงปีเดียว ท่านก็ได้มาอวยพรวันเกิดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดังที่เคยทำมา ผู้เขียนแอบถามท่านว่าทำไมจึงหลบไปลงเลือกตั้งที่ระนอง ไม่ลงที่สุพรรณอีกนั้นมีปัญหาอะไรหรือ ท่านบอกว่า “สู้เขาไม่ไหว” ผู้เขียนจึงแซวอย่างนอบน้อมว่า “เขาคงซื้อชาวบ้านทั้งจังหวัดไว้ทั้งหมดใช่ไหมครับ” แต่คำตอบที่ท่านทองหยดตอบช่างแสดงให้เห็นความเป็น “คนจริงสิงห์สุพรรณ” ที่ไม่ได้ทำให้คู่ต่อสู้เสื่อมเสียแม้แต่น้อย

“คุณบรรหารนะหรือ ท่านชนะใจคนสุพรรณโดยแท้ คนสุพรรณเขาชอบคนที่เอาอกเอาใจจนถึงก้นครัว ผมแก่แล้ว ผมสู้เขาไม่ได้หรอก แล้วลูกหลานผมก็ไม่เหมือนลูกหลานเขา ที่หนักเอาเบาสู้เอาอกเอาใจชาวบ้านได้อย่างประทับใจเหมือนที่เตี่ยเขาทำมา ผมยกจังหวัดให้เขาไปหมดแล้ว และหวังว่าชาวสุพรรณจะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย”

ท่านทองหยดอาจจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าใคร ๆ แต่ก็เป็น “ชาติเสือที่ไว้ลาย” โดยแท้

*******************************