posttoday

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

22 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร         

*********************

ครูสอนศิลปะมีความเหมือนกับครูสอนพลศึกษาอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทั้งสองสอนนักเรียนหลายชั้นในเวลาเดียวกัน  โดยเฉพาะชั้นประถม-มัธยมต้น  เพราะทางโรงเรียนคงไม่มีความจำเป็นต้องจ้างครูศิลปะที่สอนเฉพาะประถม 1 หรือเฉพาะประถม 2 ส่วนวิชาอื่นๆ ครูคนหนึ่งก็สอนไปในแต่ละชั้น บางท่านสอนหลายวิชาสำหรับชั้นหนึ่ง เช่น สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ให้นักเรียนชั้นประถม 1 แต่ครูศิลปะต้องสอนวิชาศิลปะให้นักเรียนทุกชั้นหรือเกือบทุกชั้นก็ว่าได้

นอกจากครูสอนศิลปะจะเหมือนกับครูสอนพละในประเด็นดังกล่าวแล้ว  ในประสบการณ์ส่วนตัวของผมตอนสมัยเรียนประถมต้น ครูศิลปะกับครูพละดันเป็นคนเดียวกันเสียอีก (อย่างที่เคยเล่าและระบุรูปพรรณสัณฐานไปแล้ว ! https://www.posttoday.com/politic/columnist/644785 ) นั่นน่าจะเป็นเพราะว่า โรงเรียนต้องการประหยัดจัด โดยคิดว่าถ้าจ้างครูมาสอนศิลปะเป็นการเฉพาะ น่าจะเป็นการฟุ่มเฟือยจนเกินไป ไม่มีความจำเป็น

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สมัยนั้น โรงเรียนเขาสามารถหาครูที่มีความเชี่ยวชาญทั้งศิลปะและพลศึกษาพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกันในตัวคนๆเดียวกันได้อย่างไร  แต่มันก็เป็นไปแล้ว  และผมก็ตระหนักว่า ครูท่านมีความสามารถทั้งสองอย่างจริงๆ อย่างน้อยก็มีความสามารถมากกว่าผมที่ขณะนั้น อยู่แค่ประถมต้นๆ เพราะผมเป็นนักเรียนที่ไม่เคยเก่งเรื่องตีลังกาหกคะเมน วิ่งแข่ง เตะฟุตบอล แชร์บอล อีกทั้งการวาดรูป ระบายสี หรือเลื่อยไม้ ฉลุลายก็ไม่ได้เรื่องเอาจริงๆ แต่ถ้าให้ตัดแปะเป็นศิลปะประหลาดๆ ก็พอทำให้ ถึงขนาดได้ติดแสดงผลงานเหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นตอนมัธยม ซึ่งเปลี่ยนโรงเรียนไปแล้ว

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

มานั่งนึกๆดูย้อนอดีตวันหวานในวัยเด็ก ครูสอนศิลปะ (ซึ่งเป็นครูพละในเวลาเดียวกัน) ไม่ค่อยจะชอบขี้หน้าผมเท่าไร อาจจะเป็นเพราะแกไม่ชอบผมจากวิชาพละ ซึ่งผมเป็นนักเรียนที่ไม่ได้เรื่องในการพลศึกษาอย่างจริงจัง อีกทั้งก็เป็นนักเรียนที่สีหน้าและแววตาที่ครูบางคนในเวลาต่อมาเห็นพ้องต้องกันว่า “ปากยิ้ม แต่ตาด่า” ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน ลองส่องกระจกดูก็ไม่เห็นเป็นตามข้อกล่าวหา ซึ่งเพื่อนบางคนบอกว่า มึงกำลังมองตัวมึงเอง ไม่ได้มองครูคนนั้นอยู่  มึงถึงไม่ได้ต้องทำ “ปากยิ้ม แต่ตาด่า” ใส่ตัวเอง ตกลงแล้ว นอกจากครูบางคน แล้วเพื่อนบางคนก็ยังมีความคิดเหมือนครูบางคนนั้นอีกด้วย

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

จำได้ว่า ตอนเริ่มต้นประถม 1 ครูศิลปะท่านได้สั่งให้นักเรียนไปเลื่อยไม้มา โดยให้เลื่อยตามลายง่ายๆ เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม เป็นต้น โดยครูได้สอนให้รู้จักเลื่อย ใบเลื่อย การใส่ใบเลื่อย และวิธีการเลื่อย สอนอย่างรวดเร็ว มันดูเป็นเรื่องง่ายสำหรับครูซึ่งโตแล้ว และผ่านสิ่งเหล่านี้มานับไม่ถ้วน

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ผมจำได้ว่า ตัวเองมีความตื่นเต้นดีใจกับการได้ซื้ออุปกรณ์เลื่อย ใบเลื่อย และไม้อัดบางๆ 1 แผ่น  ไม่ต่างจากที่ผมมีความตื่นเต้นและเห่อกับชุดพละ รองเท้าผ้าใบสีขาวในวิชาพละ  ผมบรรจงวาดรูปวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมจากต้นแบบลงไปบนไม้โดยผ่านกระดาษก๊อปปี้  ก็ปรากฏเป็นลายเส้นบนไม้พร้อมให้เลื่อยออกมาเป็นรูปร่างตามนั้น แต่พอลงมือเลื่อยเข้าจริงๆ ปรากฏว่าเกิดปัญหาหลายอย่าง เพราะการเลื่อยต้องใช้ทักษะมากกว่าความรู้ ในขณะที่วิชาสังคมศึกษานั้น เมื่อครูบอกว่า พันท้ายนรสิงห์เป็นคนซื่อสัตย์ ทำผิดแล้วต้องการรับผิด เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าคลองจะคดเคี้ยวเหลือวิสัย พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงอภัยโทษให้ แต่พันท้ายฯก็ไม่ยอม เมื่อผมรับฟังจากครู ผมก็จำได้ และก็สามารถใช้ความรู้นั้นบอกเล่าต่อๆไปได้ทันที  หากผมไม่ลืมมันไปเสียก่อน ผมไม่ต้องการทักษะอะไรมากในการแสดงความรู้เรื่องพันท้ายนรสิงห์

แต่ในการเลื่อยไม้นั้น ผมก็จำที่ครูสอนได้หมด เช่น ต้องตั้งท่าเลื่อยอย่างไร ต้องเลื่อยแรงขนาดไหน ระวังใบเลื่อยร้อนอาจจะขาดได้ แต่เมื่อลงมือเลื่อย ผมกลับไม่สามารถบังคับมือของผมเป็นไปตามทฤษฎีการเลื่อยที่ครูสอน และเสียงบอกเล่าสั่งสอนของครูก็ยังก้องอยู่ให้รูหูทั้งสองของผม ของแบบนี้ มันต้องการทักษะความชำนาญในการใช้มือของเรามาก ซึ่งผมไม่มี และเข้าใจว่าลูกชายผมก็ไม่มีด้วย หลังจากสังเกตการการใช้มือของเขามาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่หนึ่งจนมัธยมปีที่สองแต่ลูกสาวผมมี และมีได้ยังไง ไม่ทราบ และยังสามารถพัฒนาทั้งความรู้และทักษะทางศิลปะและการออกแบบจนจบปริญญาเอกสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมไทยที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ

กลับมาที่ตัวผมตอนประถม 1

เย็นวันที่ผมต้องทำการบ้านเลื่อยไม้เป็นรูปทรงพื้นฐานทางเรขาคณิตเพื่อส่งครูในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่า มีความทุกข์ยากลำเค็ญเกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส  นั่นคือ หนึ่ง เลื่อยไม่ตรง เฉไปเฉมา ทำให้เสียพื้นที่บนแผ่นไม้ไป  จนหมดไปแผ่นหนึ่งแล้ว ก็ยังเลื่อยไม่ตรง ต้องไปซื้อไม้มาอีกแผ่นหนึ่ง สอง เลื่อยไปเลื่อยมา ใบเลื่อยขาด เพราะรีบเลื่อย ด้วยเวลาที่ยามเย็นกำลังเปลี่ยนเป็นสนธยา การบ้านวิชาอื่นก็ยังไม่ได้ทำ เริ่มเบื่อ เริ่มเพลีย ขณะที่ภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องโปรดตอนหัวค่ำกำลังจะมาแล้ว  สาม ปัญหาวนเวียนไปมาระหว่างข้อหนึ่งและข้อสอง และดีกรีหนักขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ต้องซื้อไม้แผ่นที่สามและสี่ ต้องซื้อใบเลื่อยใหม่ เพราะเกิดอาการรีบร้อนลนลานที่จะทำงานให้เสร็จ

ในที่สุด ก็ไม่สำเร็จและไม่เสร็จ พักมากินข้าวเย็น ทำการบ้านวิชาอื่นจนเสร็จ สองทุ่มครึ่งยังไม่ได้อาบน้ำ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็อดดูไป หันกลับมาเลื่อยไม้อีก เพราะถ้าไปอาบน้ำแล้วกลับมาเลื่อย ขี้เลื่อยก็จะเลอะเต็มชุดนอนสกปรก ถ้าไปนอนทั้งชุด แม้จะปัดฝุ่นผงเลื่อยออก ก็คงไม่หมดง่ายๆ กลับมานั่งเลื่อยๆๆๆๆๆ เฉๆๆๆๆๆๆ ใบเลื่อยขาดๆๆๆๆ วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนแม่เกิดเห็นใจว่า ลูกมันได้พยายามแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ด้วยความกลัวลูกจะถูกครูดุด่าว่าตี เพราะไม่มีการบ้านงานไม้ไปส่ง กลัวลูกจะนอนดึกแล้วตื่นสาย ไปขึ้นรถรับจ้างที่จ้างประจำรวมกับนักเรียนคนอื่นไม่ทัน แม่จึงออกปากบอกพี่ชายให้ช่วยมาเลื่อยแทนให้ แล้วก็ไล่ผมไปอาบน้ำกินนมนอนเสีย

รุ่งเช้า ตื่นมา พบแผ่นไม้รูปวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมวางอยู่บนโต๊ะกินข้าว เป็นวงกลมที่กลม เป็นเหลี่ยมที่เหลี่ยม ขอบของมันทุกชิ้นเรียบตรง หรือโค้งเรียบร้อย คล้ายวงกลมที่สมบูรณ์แบบในโลกของแบบอันสมบูรณ์ในปรัชญาการเมืองของเพลโต  ผมดีใจมาก แต่ก็รู้สึกกริ่งเกรงว่า ครูอาจจะรู้ว่า เราไม่ได้ทำเอง  แต่ก็คิดว่า ดีกว่าไม่มีส่งก็แล้วกัน

เมื่อไปถึงโรงเรียนก็พบว่า เพื่อนทุกคนมีงานมาส่งกันหมดเช่นเดียวกันกับผม  ของบางคนนั้นดูน่าเกลียดมาก  เป็นวงกลมที่ไม่กลม บูดๆเบี้ยวๆ  ส่วนสามและสี่เหลี่ยมก็เลี้ยวลดคดเคี้ยวเหมือนคลองที่พันท้ายนรสิงห์ต้องคัดท้ายเรือพระที่นั่งด้วยความยากลำบาก จนถึงขนาดทำหัวเรือหัก ต้องโทษประหารชีวิต  แต่ก็มีของบางคนที่ดูพอใช้ได้ แต่ก็ไม่มีของใครเนี๊ยบเหมือนของผม ! เพื่อนๆมามุงดูงานไม้ของผม  ทำให้ผมรู้สึกได้หน้าและภาคภูมิใจไปพร้อมๆกับละอายใจในเวลาเดียวกัน เพื่อนๆเหล่านั้นพากันมองหน้าผม แต่พวกเขาก็ไม่ได้พูดอะไรสักคำ  แล้วก็พากันแยกย้ายกระจายตัวไป

ผลงานเลื่อยไม้ของเพื่อนๆผม บกพร่อง บูดเบี้ยว แต่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจะเรียกรวมๆได้ว่าเป็นผลงานการเลื่อยไม้รูปวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมที่บกพร่องบูดเบี้ยว แต่ความบกพร่องนี้ก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไป  ผิดกับผลงานการเลื่อยวงกลมหรือสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมที่ดูดีเป็นวงกลมที่สมบูรณ์แบบที่ดูจะไม่แตกต่างกันเลย มีความเหมือนกันมากกว่าจะต่างกัน ทำให้เมื่อโตๆมาเรียนปรัชญาการเมืองของเพลโต จึงเริ่มเข้าใจว่า ทำไมเพลโตจึงบอกว่า ความดีที่สมบูรณ์แบบนั้นมีหนึ่งเดียว แต่ความบกพร่องมีได้หลากหลายแบบ !

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ตกบ่าย  ครูศิลปะเข้ามาในห้อง และเริ่มตรวจงาน เด็กนักเรียนเล็กๆชั้นประถม 1 ต่างก็เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ มือถืองานไม้สามชิ้น เด็กๆต่างก็วิจารณ์ให้ความเห็นของกันและกันเป็นที่สนุกสนานตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่องานเหล่านั้นจะได้ถึงมือครู ส่วนงานไม้ของผมนั้น ไม่มีใครวิจารณ์ และก็ไม่มีใครพูดอะไร แต่ก็ยังคงมองหน้าผมเงียบๆเหมือนตอนแรก

ครูตรวจงานของเด็กๆ ตรวจไป-วิจารณ์ให้ความเห็นไป ให้คะแนนไปด้วย ของนักเรียนคนไหนที่บูดเบี้ยวหนัก ครูก็ไถ่ถามถึงปัญหา และแนะนำให้ฝึกฝน แล้วก็ให้คะแนนไป 4 คะแนนใน 10 คะแนนเต็ม ส่วนคนที่ทำออกมาพอใช้ได้  ครูก็บอกว่า ดี แล้วก็ให้คะแนนไป 7 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดก่อนจะถึงตาผม ผมคิดในใจว่า งานของผมนั้นดูดีกว่า น่าจะได้เต็มหรืออย่างน้อยก็ต้อง 8 หละ ! คิดแล้วก็ต้องแอบกลั้นความกระหยิ่มดีใจจนลมออกหูสองข้างดัง “กึ๊ดๆ”

เมื่อผมยื่นงานไม้ที่เป็นการบ้านทั้งสามชิ้นให้ครู  เมื่อวางเรียงลงบนโต๊ะครูทั้งสามชิ้น ในชั่วไม่ถึงเศษเสี้ยววินาทีแห่งการวินิจฉัย ในชั่วฉับพลันแห่งการตัดสินใจ ครูหยิบผลงานรูปสี่เหลี่ยมของผมมาวางบนขอบโต๊ะอย่างแทบมองตามไม่ทัน  แล้วตะโกนด้วยเสียงดังเพื่อให้นักเรียนทั้งชั้นได้ยินว่า

“ไอ้แว่นนี่ ไม่ได้ทำเอง  เอาศูนย์ไป ...พลัวะๆๆ” (ผมสายตาสั้น ต้องสวมแว่นตั้งแต่ประถม 1)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)

เสียงรัวพลัวะๆๆอย่างรวดเร็วติดพันกระชั้นถี่ 3 พลัวะนั้น คือเสียงที่เกิดจากการที่ครูสอนศิลปะ (ที่เป็นครูพละในเวลาเดียวกัน) ได้ใช้มืออีกข้างหนึ่งคาราเต้ฟันลงไปบนงานไม้ทั้งสามชิ้นของผมจนหักสะบั้นคามือ แล้วครูก็ปาเศษไม้ทั้ง 6 ชิ้นนั้นลงถังขยะไปด้วยความแม่นยำอย่างจับวาง

ตอนนั้น ความรู้สึกของผมคือ แยกไม่ออกว่า ครูเป็นครูสอนศิลปะหรือเป็นครูสอนพละกันแน่ เพราะลีลาการฟันคาราเต้ไม้ของแกนั้นสร้างความระทึกใจในวิชาศิลปะจริงๆ

ผลพลอยได้จาก “Two in one.”

ครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต(2)