posttoday

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (3)

18 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*******************

คราวที่แล้วได้เล่าว่า รัฐสภาสวีเดนได้ลงมติแต่งตั้งฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์ (Jean Baptiste Bernadotte) นายทหารสามัญชนชาวฝรั่งเศสคนสนิทของนโปเลียน ที่นโปเลียนได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าครองนคร Ponte-Corvo ให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารสวีเดน ซึ่งมีผู้อ่านท่านหนึ่งคือ คุณศิริพร ฮาร์เปอร์ให้ความเห็นมาว่า “รัฐสภาสวีเดนคงจะมองเห็นประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นที่ตั้ง” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐสภาสวีเดนเห็นว่า สภาวการณ์ของสวีเดนในขณะนั้นต้องการพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้นำทางการทหารที่เข้มแข็งและมีสัมพันธ์อันดีกับนโปเลียนที่ทรงอิทธิพลในยุโรปขณะนั้น

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รัฐสภาต้องเลือกเบอร์นาดอตต์ เพราะมกุฎราชกุมารก่อนหน้านี้ได้สิ้นพระชนม์ลงกะทันหัน อีกทั้งพระเจ้าคาร์ลที่สิบสาม พระมหากษัตริย์สวีเดนขณะนั้นก็ทรงชราภาพมีพระชนมายุ 62 พรรษา พระพลานามัยไม่สมบูรณ์และทรงไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา

แม้ว่ารัฐสภาสวีเดนจะมีความตั้งใจดีเล็งเห็นประโยชน์สูงสุดของชาติ แต่การลงมติเลือกเบอร์นาดอตต์ที่เป็นสามัญชนฝรั่งเศสและไม่มีได้เชื้อสายเกี่ยวข้องอะไรกับราชวงศ์สวีเดนเลยเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 นั่นคือ การลงมติดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 มาตรา 1 ที่บัญญัติไว้ว่า “ราชอาณาจักรสวีเดนจะอยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์และเป็นราชอาณาจักรแบบสืบราชสันตติวงศ์ที่มีลำดับการสืบทอดตำแหน่งต่อจากทายาทชายของพระมหากษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

ซึ่งจะยืนยันถึงสมบัติของราชอาณาจักร” และหากรัฐสภาจะใช้อำนาจที่ขัดต่อมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 และให้ถือว่าการลงมติดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย ก็จะส่งผลให้มีการเสนอชื่อบุคคลใดๆที่ไม่ได้เป็น “ทายาทชายของพระมหากษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง” เป็นมกุฎราชกุมารและขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งอีกมากมาย และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

รัฐบาลและรัฐสภาและพระเจ้าคาร์ลที่สิบสอง ได้หาทางออกร่วมกันสองประการดังนี้คือ หนึ่ง หลังจากที่ประชุมสภาฐานันดรได้ลงมติเลือกเบอร์นาดอตต์ให้เป็นมกุฎราชกุมารในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1810 แล้ว รัฐสภาได้ตระหนักดีถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1810 รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายตามมาอีกหนึ่งฉบับเพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต กฎหมายที่ว่านี้คือ พระราชบัญญัติการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1810 (the Act of Succession 1810) โดยมาตรา 1 ได้บัญญัติไว้ว่า “ทายาทชายของมกุฎราชกุมาร เจ้าชาย Johan Baptist Julius (ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์) แห่ง Ponte-Corvo จะเป็นผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์สวีเดน....” ซึ่งจากพระราชบัญญัติการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1810 นี้ ทายาทของเบอร์นาดอตต์ได้สืบราชสันตติวงศ์จนถึงปัจจุบัน นั่นคือ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (3)

       สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ             สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 14 โยฮัน (ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์)

สอง ต่อปัญหาการขัดต่อมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 ที่รัฐสภาใช้อำนาจเลือกผู้ที่ไม่ได้เป็น “ทายาทชายของพระมหากษัตริย์ผู้สิ้นพระชนม์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง” นั้น รัฐบาลและรัฐสภาและพระเจ้าคาร์ลที่สิบสามได้หาทางออกร่วมกันคือ พระเจ้าคาร์ลและสมเด็จพระราชินีทรงรับเบอร์นาดอตต์เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1810 หลังจากที่เขาได้เดินทางมาถึงสวีเดน และพร้อมกับที่ได้รับการรับเป็นพระราชโอรสบุญธรรม เบอร์นาดอตต์ก็ได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอรันซึ่งเป็นศาสนาหลักของสวีเดนอย่างเป็นทางการด้วย

ดังนั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1810 จนถึงการประกาศรับเบอร์นาดอตต์เป็นพระราชโอรสบุญธรรมอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1810 การลงมติเลือกเบอร์นาดอตต์ของรัฐสภาจึงอยู่ในภาวะที่คลุมเครือเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 แต่กระนั้น ก็สามารถตีความได้ว่า การลงมติแต่งตั้งเบอร์นาดอตต์นั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ของสวีเดน เพราะขณะนั้น พระเจ้าคาร์ลที่สิบสามยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และการลงมติดังกล่าวของรัฐสภาจึงยังไม่ถือว่าขัดต่อมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 เสียทีเดียว เพราะยังไม่มีการสืบราชบัลลังก์เกิดขึ้น

นอกจากความประหลาดของรัฐสภาและรัฐบาลสวีเดนในการลงมติให้เบอร์นาดอตต์เป็นมกุฎราชกุมารสวีเดนแล้ว ประชาชนสวีเดนทั่วไปก็ยังชื่นชมยินดีต้อนรับเขาด้วย

ผู้เขียนมีสมมุติฐานว่า เหตุผลที่ไม่มีการต่อต้านการที่รัฐสภาที่ลงมติเลือกเบอร์นาดอตต์เป็นมกุฎราชกุมารสวีเดนทั้งๆที่ไม่ได้มีเชื้อสายพระมหากษัตริย์สวีเดนเลยนั้น น่าจะเป็นเพราะในสำนึกรับรู้ในความทรงจำของสังคมสวีเดนยังคงตระหนักถึงสิทธิ์ในการเลือกผู้ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามจารีตประเพณีการปกครองโบราณและปรากฏการณ์บางครั้งที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ที่ยามที่ไม่สามารถหาผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่มีเชื้อสายพระมหากษัตริย์จริงๆแล้ว ก็สามารถเลือกบุคคลที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆได้

และภายใต้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองสวีเดนระหว่าง ค.ศ. 1809-1810 ที่คณะผู้ก่อการได้ตัดสายการสืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้ากุสตาฟที่สี่ พระเจ้าแผ่นดินสวีเดนที่ถูกยึดอำนาจและถูกบังคับให้สละราชสมบัติ และหลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐสภาได้ลงมติเลือกเจ้าชายคาร์ล พระปิตุลาของพระเจ้ากุสตาฟที่สี่ที่ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนแล้ว และมีการแต่งตั้งเจ้าชายคริสเตียน ออกัส (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนพระนามเป็นคาร์ล ออกัส) ให้ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร แต่ก็ทรงสิ้นพระชนม์กะทันหัน อีกทั้งสวีเดนยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ความยุ่งยากทั้งในการเมืองภายในและความขัดแย้งตึงเครียดในสถานการณ์ระหว่างประเทศภายใต้สงครามนโปเลียน

การเลือกเบอร์นาดอตต์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งการตราพระราชบัญญัติการสืบราชสันตติวงศ์ ค.ศ. 1810 และการรับเบอร์นาดอตต์เป็นพระราชโอรสบุญธรรมก็ทำให้มีความชอบธรรมทางกฎหมายและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยกำหนดให้การสืบราชสันตติวงศ์ต้องดำเนินไปตามสายโลหิตของเบอร์นาดอตต์ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของสวีเดน และมีการสืบราชสันตติวงศ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เบอร์นาดอตต์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคาร์ล โยฮัน (Karl Johan) และต่อมาพระองค์ได้รับความนิยมชมชื่นจากประชาชนสวีเดนอย่างกว้างขวางจากการที่พระองค์ทรงมีปฏิภาณไหวพริบและมีเสน่ห์และมีชีวิตชีวา แม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีก็ยังทรงประทับใจและทรงชมว่า พระองค์ทรงมีความเป็นเจ้าชายทุกกระเบียดนิ้ว และทรงมีพะราชดำรัสว่าเบอร์นาดอตต์ทรงเหมือนกับพระเจ้ากุสตาฟที่สาม (Gustav III พระมหากษัตริย์สวีเดน ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้ากุสตาฟที่สี่และเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าคาร์ลที่สิบสาม พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถและมีความเด็ดขาดเข้มแข็ง)

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (3)

                     พระเจ้าคาร์ลที่สิบสาม                                                    สมเด็จพระราชินีชาร์ลอต

ในเดือนเดียวกันกับที่เบอร์นาดอตต์เดินทางมาถึงสวีเดน ได้มีบทความปรากฏในวารสาร Nya Posten ได้กล่าวถึงการที่รัฐสภาสวีเดนเลือกเบอร์นาดอตต์เป็นมกุฎราชกุมารว่า เป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดนวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1809 โดยผู้เขียนบทความคาดหวังว่า การได้เบอร์นาดอตต์จะนำมาซึ่งอวสานของการกดขี่ของพวกอภิชน ที่คนสวีเดนจะไม่ทนอีกต่อไป

ด้วย เบอร์นาดอตต์ มีคุณสมบัติทางการทหารและภาวะผู้นำที่เหนือกว่าตัวเลือกอีกสองพระองค์อันได้แก่ Frederik VI และ Duke Friedrich Christian และเมื่อชื่อของเบอร์นาดอตต์ปรากฏขึ้นในการประชุมรัฐสภา คนส่วนใหญ่เห็นว่าเขาเป็นผู้มีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีระเบียบและเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่จะนำความสงบเรียบร้อยให้กลับคืนสู่สังคมสวีเดนที่มีปัญหาความวุ่นวายมาตั้งแต่กรณีจลาจลในพระราชพิธีศพของมกุฎราชกุมารพระองค์ก่อน เพราะหากรัฐบาลอยู่ภายใต้ผู้นำที่อ่อนแอจะไม่สามารถรับมือกับกลุ่มการเมืองต่างๆที่ขัดแย้งกัน ซึ่งอาจจะเปิดทางให้เกิดการประสานร่วมมือระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าที่จะหาทางจับมือกับกลุ่มประชาธิปไตยหรืออนาธิปไตยปลุกเร้าการลุกฮือของประชาชน

การเห็นพ้องต้องกันในการเลือกเบอร์นาดอตต์จะสามารถปกป้องไม่ให้เกิดการปฏิวัติประชาชน และพระองค์เข้มแข็งพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะอนาธิปไตย ที่ทุกๆฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไม่ต้องการให้เกิดการจลาจลฆ่ากันบนท้องถนนอีก

หลังจากเบอร์นาดอตต์ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาสวีเดนอย่างเป็นทางการ พระเจ้าคาร์ลที่สิบสามได้ทรงยกพระราชภารกิจให้เขาทำเกือบทั้งหมด และนโปเลียนยืนยันให้สวีเดนเป็นพันธมิตรในแผนการปิดกั้นยุโรปภาคพื้นทวีป (the Continental Blockade) และประกาศสงครามกับอังกฤษ ซึ่งโดยทางการ เบอร์นาดอตต์ก็ยอมรับที่จะประกาศสงครามกับอังกฤษ แต่ในทางปฏิบัติ เขาหลีกเลี่ยงการทำสงคราม นั่นคือ ไม่ได้มีการลั่นกระสุนแม้แต่นัดเดียวและไม่มีการเสียชีวิตของทหารทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังมีการแอบลักลอบค้าขายระหว่างกัน อีกทั้งเบอร์นาดอตต์ยังได้สถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและไม่มีอคติกับรัสเซีย และเสนอต่อนโปเลียนว่าจะเป็นพันธมิตรทางการทหาร ถ้าฝรั่งเศสจะช่วยสวีเดนให้ได้ฟินแลนด์กลับมาและจัดการปัญหานอร์เวย์ให้พ้นจากการครอบงำของเดนมาร์ก

แต่ไม่ช้าไม่นาน สถานการณ์ที่เบอร์นาดอตต์ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของสวีเดนและผลประโยชน์ของนโปเลียนและฝรั่งเศสก็มาถึง เบอร์นาดอตต์จะเลือกอะไร ? ระหว่างบทบาทหน้าที่ของผู้ที่ว่าที่องค์พระมหากษัตริย์สวีเดนกับการเคยเป็นนายทหารคนสนิทของนโปเลียน เพราะในเดือนมกราคม ค.ศ. 1812 นโปเลียนได้สั่งให้กองทัพฝรั่งเศสบุกไปยังดินแดนพอมเมอราเนีย (Pomerania) ของสวีเดน

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (3)

                                                นโปเลียน โปนาปาร์ต