posttoday

ที่พึ่งของประชาชน

13 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

**************

การเมืองในสภาดูค่อนข้างวุ่นวายเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แถมบางพวกขู่จะยกเลิกหรือปรับปรุง ป.วิอาญา ม.112 ด้วย

ในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติของเปิดอภิปรายไม่ไว้วางรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ตามมาตรา 151 เวลานี้มีรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าของการอภิปรายมีจำนวน 10 คน เป้าหมายใหญ่คือ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาได้กำหนดช่วงเวลาอภิปรายไว้แล้ว 4 วัน คือ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 และลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดยแบ่งเวลากันเรียบร้อยแล้วว่า ฝ่ายค้านจะได้ 42 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลได้ 16 ชั่วโมง ก็สมน้ำสมเนื้อกัน

ก่อนนั้น เมื่อรัฐมนตรีคนไหนรู้ตัวว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่ ก็ลาออกจากรัฐมนตรีเสียก่อน หรือสลับสับเปลี่ยนย้ายไปอยู่กระทรวงอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกอภิปราย แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อมารวมทั้งฉบับปี 2560 ได้หาวิธีป้องกันไว้เรียบร้อย กล่าวคือ ไม่ว่ารัฐมนตรีจะลาออกก่อน หรือย้ายไปอยู่กระทรวงอื่น หากยังไม่พ้น 90 วันหลังจาก ส.ส.เข้าชื่อยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีคนนั้นต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

มีรายงานว่า ก่อนเสียงปี่เสียงกลองดังขึ้น ส.ส.พรรครัฐบาลซึ่งได้ข่าวว่า ผู้อภิปรายบางคนมีแผนจะอภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันสูงสุด จึงยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านๆ มา ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่เคยพาดพิงหรืออ้างอิงสถาบันสูงสุด และป้องปรามฝ่ายค้านบางรายที่คิดจะฉวยโอกาสใช้เวทีนี้พูดจาพาดพิง เสียดสี เปรียบเปรย กระทบกระแทกสถาบันสูงสุด แล้วมาอ้างว่าพูดด้วยเจตนาดี และใช้สิทธิความคุ้มกันที่ตำรวจจับดำเนินคดีไม่ได้ ผู้ร้องอาจหวังใช้ศาลรัฐธรรมนูญปรามไว้ก่อน และเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในครั้งต่อ ๆ ไป

บางทีกว่าประธานสภาจะวินิจฉัยได้ คนพูดก็ตีกินไปหลายดอกแล้วเหมือนกัน ทำให้สถาบันสูงสุดได้รับผลกระทบ ดังเช่นที่เป็นอยู่นอกสภาในขณะนี้ แม้ว่าประธานสภาสามารถให้มีการอภิปรายลับได้ แต่ข่าวก็เล็ดลอดออกมาเผยแพร่ภายนอกเพราะคนที่อภิปรายหาทางปล่อยข่าวออกมาเอง

ในฐานะประชาชนผู้เป็นองคอธิปัตย์ เราไม่ต้องการเห็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายใดก็ตามอภิปรายพาดพิงถึงสถาบันสูงสุด โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 112 และประเด็นอื่น หรือเปิดประเด็นแล้วให้แนวร่วมนอกสภานำมาขยายผลต่อทางสื่อดิจิตัล

ในขณะที่อีกเวทีหนึ่ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งไม่เป็นที่ประหลาดใจอะไร เพราะพรรคฝ่ายค้าน และบางพรรคร่วมรัฐบาลได้ประกาศไว้ตั้งแต่ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะคลอดออกมาด้วยซ้ำ รวมทั้งช่วงหาเสียงเลือกตั้งไว้แล้วว่า หากได้รับเลือกตั้ง สิ่งต้น ๆ ที่จะทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็ทำตามที่พูดไว้

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่เกินคาดหมายของคนทั่วไป หมวดที่ตกเป็นเป้าหมายสูงสุดคือ หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ถ้าสามารถแก้ไขหมวดนี้ได้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหมวดอื่นก็ง่ายขึ้นได้

เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การแก้ไขยกเลิกอำนาจของวุฒิสมาชิกในการมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรก ( เรื่องนี้เป็นผลมาจากการลงประชามติคำถามพ่วงที่สมาชิก สนช.เป็นผู้เสนอ และประชาชนผู้ออกเสียงประชามติเห็นด้วยในจำนวนใกล้เคียงกับร่างรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 60 ต่อ 40) ซึ่งจะทำให้ ส.ว.สามารถเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้สองครั้ง (ร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกกำหนดให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ในการเลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น )

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้และคาดคิดว่านักการเมืองจะทำอยู่แล้ว แต่ความสำคัญอยู่ที่จะแก้ประเด็นใดบ้าง จะแก้อย่างไร ข้อเสนอแก้ไขนั้นเป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดหรือไม่อย่างไร

การเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรานั้น เขามีการเขียน “ความมุ่งหมาย” ของมาตรานั้นๆ แยกเก็บไว้ด้วยเพื่อใช้เป็นแหล่งค้นคว้า อ้างอิง ในเวลาต่อมา เพราะหากไม่บันทึกไว้ แม้แต่คนร่างรัฐธรรมนูญก็อาจลืมได้ แต่ถ้าเขียนไว้ เมื่อสงสัยสิ่งใดก็มาเปิดดูว่ามาตรานั้น ๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร

จนถึงขณะนี้ มีสองแนวคิดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสอง แนวคิดแรกเป็นข้อเสนอของ ส.ส. ให้ตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ “(ส.ส.ร.) ขึ้นมาคณะหนึ่งโดยการเลือกตั้งตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆคล้ายกับเลือกตั้ง ส.ส. มีจำนวน 200 คน และพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งมาจาก ส.ว. ที่ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน “หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และ 256”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถือว่าเป็นระดับ “สำคัญมาก” หลักการของการแก้ไขเพิ่มเติมต้อง “ทำได้ยากกว่าปกติ” ในความมุ่งหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามแก้ไขเพิ่มเติม “รูปแบบของรัฐ” และ “รูปแบบการปกครอง” หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 (4) (5) “ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วย”

เวลานี้ แนวคิดเกี่ยวกับวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มีสองแนวทาง คือ (1) ตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แก้ไขรายมาตรา ซึงเป็นแนวคิดของ ส.ส.ส่วนหนึ่ง และ (2) ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คนที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปประเทศ โดย ก.ก.ต.เป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้แก้ไขเพิ่มเติม

ประเด็นที่ ส.ว.มีแนวคิดที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือ การตั้ง ส.ส.ร.นั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และจะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่อย่างไร หรือจะมีประเด็นอื่นเพิ่มเติม

หากย้อนไปดู “ ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “ หน้า 455 คำอธิบายประกอบมาตรา 255 เขียนไว้ชัดเจนว่า “ ยืนยันว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกระทำไม่ได้ การที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหลักการดังกล่าวย่อมกระทำมิได้โดยเด็ดขาด"

ทั้งหมดนี้เพียงแต่ค้นคว้ามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นเพื่อประกอบการศึกษาเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

การเมืองไทยไม่เคยหมดเรื่องตื่นเต้น นักการเมืองจะทำอะไรก็คิดถึงประชาชนบ้างก็แล้วกัน ส่วนประชาชนก็ขอพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ (จบ)