posttoday

ความภักดีกับแรงยึดเหนี่ยวทางการเมือง (2)

13 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

คุณภาพของความภักดีขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้นำ

ทฤษฎีแรงยึดเหนี่ยวทางการเมือง (Political Cohesion) อธิบายว่า(ดังที่กล่าวมาแล้วว่านักรัฐศาสตร์ได้แนวคิดนี้มาจากการศึกษาวิชาฟิสิคซ์) ระบบการเมืองมีสภาวะเหมือนการเกี่ยวพันกัน(Bonding)ของนิวเคลียสในอะตอมที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสสารต่าง ๆ โดยนิวเคลียสจะประกอบด้วยอนุภาคที่สำคัญ 2 ตัว คือ โปรตอน และนิวตรอน มารวมกันอยู่เพื่อสร้างพลังงานให้กับอะตอม ซึ่งมีอีเล็คตรอนเคลื่อนไหวอยู่โดยรอบนั้นด้วย

ทฤษฎีนี้ต้องการที่จะอธิบายให้เห็นว่า การเมืองมีลักษณะที่เคลื่อนที่และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Dynamics ก็ด้วยพลังงานที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง โปรตอน นิวตรอน และอีเล็คตรอนนั้น พลังงานเหล่านี้ถ้าหากเป็นไปอย่างสมดุลก็จะเกิดเสถียรภาพและความต่อเนื่อง ตรงกันข้ามถ้าเกิดภาวะเสียสมดุลก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤติจนถึงขั้นวิบัติ นั่นก็คือการเกิดพลังงานนิวเคลียร์อย่างรุนแรง ที่เรียกว่า “ระเบิดปรมาณู” (Atomic Bomb) นั่นเอง

ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่อยู่ในรูปแบบของ “นิวเคลียส” นี้ ก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง “กลุ่มผู้นำ” ที่เป็นเหมือนแกนกลางของอะตอม คือ โปรตอน และนิวตรอน นั้น กับ “กลุ่มผู้ใต้ปกครอง” ที่เป็นเหมือนอีเล็คตรอนที่เคลื่อนไหวอยู่โดยรอบ หากความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี การเมืองก็เคลื่อนที่ไปอย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ แต่ถ้าหากว่ามีความบกพร่องในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การเมืองก็อาจจะเริ่ม “ปริร้าว” ไปจนถึง “ระเบิดออก” นำมาซึ่งวิกฤติต่าง ๆ จนกระทั่งทำให้ระบบการเมืองนั้นเสียหายรุนแรงได้ในที่สุด

ในระบบการเมืองแรงยึดเหนี่ยวทางการเมืองเกิดจาก “ความภักดี” ซึ่งก็คือความรู้สึก “เชื่อถือและไว้วางใจ” ที่ผู้ใต้ปกครองมอบให้กับผู้ปกครอง ในขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องแสดงความรู้สึกที่ “เอื้ออาทรและเสียสละทุ่มเท” เพื่อให้ผู้ใต้ปกครองมีความเชื่อมั่นและผูกพันอยู่กับผู้ปกครองนั้น ๆ ไปอย่างยั่งยืน จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีการ “แลกเปลี่ยน” ซึ่งกันและกัน เหมือนการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่าง โปรตอนและนิวตรอน กับอีเล็คตรอน กระนั้น โดยในระบบการเมืองจะเป็นการแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เรียกว่า “สิ่งที่มีคุณค่าเพื่อสังคม” (Social Values) เป็นต้นว่า ความปลอดภัยในชีวิต การศึกษา การรักษาพยาบาล และการงานอาชีพ

ดังนั้นตราบใดที่ผู้ปกครองยังสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใต้ปกครองในคุณค่าทางสังคมต่าง ๆ นั้นได้อยู่ ระบบการเมืองก็ยังคงสภาพที่แข็งแกร่งและมั่นคง ตรงกันข้ามถ้าหากผู้ปกครองไม่สามารถสนองตอบในความต้องการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ผู้ใต้ปกครองก็จะเริ่มเรียกร้องและปรับแปรความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ได้แก่ ความเบื่อหน่าย เกลียดชัง ไปจนถึงความโกรธแค้น และอาฆาตมาดร้าย อันแสดงถึงการสูญเสียความภักดี ระบบก็จะเสียสมดุลและเกิดวิกฤติต่าง ๆ ตามมา

ขอให้สังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า “ภักดี” ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำว่า “จงรักภักดี” เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงกับความรู้สึกที่แตกต่างกัน ระหว่างความรู้สึกเคารพเชื่อฟังระหว่างผู้ใต้ปกครองกับผู้ปกครองทั่ว ๆ ไป ที่เรียกว่า “ความภักดี” กับความเคารพเชื่อฟัง(จนถึงขั้นเคารพนับถือ ยกย่องและสรรเสริญ)ระว่างราษฎรกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า “ความจงรักภักดี” (ความจริงในภาษาอังกฤษจะใช้คำ ๆ เดียวกัน คือ Loyal และมีความหมายอย่างเดียวกัน) ซึ่งผู้เขียนไม่ต้องการนำมาให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงกัน

จะขอข้ามลักษณะของความภักดีที่เกิดขึ้นในระบอบการปกครองโบราณ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการบังคับขู่เข็ญหรือทำให้ประชาชนต้องยินยอมด้วยความไม่เต็มใจ แต่จะขอกล่าวถึงความภักดีในโลกสมัยใหม่ ที่ว่ากันว่ากำลังมุ่งสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” โดยความภักดีที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นด้วยกระแสความชื่นชมของประชาชนอย่างเสรีเท่านั้น ซึ่งก็คือความยินยอมพร้อมใจและเชื่อฟังด้วยมติของคนส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นในยุคของการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ความภักดีที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและเข้าใจยากเป็นอย่างยิ่ง

ในสังคมยุคดิจิตอลลักษณะของความภักดีจะมีลักษระ “กระจาย” และ “เคลื่อนย้าย” อยู่เสมอ เนื่องจากสังคมมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย และผู้คนมีเสรีภาพที่จะเลือกเสพข่าวสารตามตนเองต้องการได้อย่างเสรี นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอีก 2อย่างคือ “คุณภาพของผู้ภักดี” (ผู้เฝ้าฝันถึงคนที่ควรเคารพเชื่อฟัง) กับ “คุณภาพของผู้นำ”(ผู้กระหายที่จะได้รับความภักดี) โดยคุณภาพของผู้ภักดีในแนวคิดของนักรัฐศาสตร์ก็คือ ความรู้สึกผูกพันและการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ในขณะที่คุณภาพของผู้นำก็คือ ความเป็นแบบอย่างที่ดีและความซื่อสัตย์จริงใจ

ดังนั้นเราจึงมองเห็นได้ง่าย ๆ ว่า ทำไมแรงยึดเหนี่ยวทางการเมืองของไทยจึงมีความอ่อนแอ

ประการแรก ในทางประวัติศาสตร์ คนไทยแต่โบราณชอบที่จะพึ่งผู้นำมาโดยตลอด นั่นก็คือศักดินาหรือลัทธิ “เจ้าขุนมูลนาย” ที่ครอบงำสังคมไทยมาหลายศตวรรษ คนไทยจึงไม่มีความรู้สึกผูกพันทางการเมืองมากนัก เพราะชนชั้นเจ้าขุนมูลนายเป็นผู้กระทำการเองทั้งหมด จนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ความต้องการที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ยังมีอยู่กับชนชั้นปกครองเท่านั้น ถึงแม้ในยุคดิจิตอลนี้ก็เถอะ ที่ก็ยังมีผู้คนเคารพนับถือทหาร จนถึงขั้นที่คิดว่าให้ทหารปกครองก็ยังดีกว่าให้ประชาชนที่ไหนก็ไม่รู้มาปกครอง

อีกประการหนึ่ง เราควรเรียกระบอบการปกครองเราว่า “เสนาธิปไตย” เพราะแม้แต่ในยุคที่มีการเลือกตั้ง และผู้บริหารมาจากกลุ่มตัวแทนประชาชน แต่กลุ่มคนที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือทหาร และเป็นผู้กำกับกลไกทางการเมืองในทุกระดับไว้ทั้งหมด รวมถึงที่เป็นผู้เขียนกติกาหรือกำหนด “โรดแมป” ต่าง ๆ ในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้นำของไทยจึงไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ เพราะผู้นำทหารเหล่านี้นี่เองที่ทำตัวไม่เป็นแบบอย่างที่ดี “พูดอย่างทำอย่าง” เช่น จะสร้างประชาธิปไตย แต่ก็ใช้เล่ห์กลสืบทอดอำนาจ ฯลฯ จึงทำให้หมดคุณสมบัติในเรื่องความซื่อสัตย์ไปจนหมดสิ้น อันทำให้ผู้คนสิ้นความเคารพเชื่อถือและหมดความศรัทธา

ปีหน้าจะครบ 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่คุณภาพของผู้นำไทยก็ไม่เคยเปลี่ยนไป

*****************************