posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19

11 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 ความหวังเรื่องวัคซีนเริ่มเรืองรองขึ้น หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว เริ่มจากอังกฤษเป็นประเทศแรกที่เริ่มสตาร์ตก่อนใครเพื่อน ตามมาด้วยประเทศร่ำรวยหลายประเทศ เช่น สหรัฐ เยอรมนี สิงคโปร์ อิตาลี ฝรั่งเศส แคนาดา

ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรได้มากที่สุดคืออิสราเอล ที่นับถึงช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ฉีดโด๊สแรกไปแล้วเกือบครึ่งประเทศ

อันที่จริง ประเทศที่ขึ้นทะเบียนวัคซีนไปเงียบๆ ก่อนใครเพื่อนคือจีน ซึ่งขึ้นทะเบียนให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (Emergency use) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และฉีดให้แก่บุคลากรที่ทำงานด่านหน้าครอบคลุมประชากรไปแล้วนับล้านคน

สำหรับประเทศไทย แต่เดิมกำหนดจะเริ่มได้วัคซีนเข็มแรกราวเดือนมิถุนายน 2564 แต่เมื่อมีข่าวความสำเร็จของวัคซีนโดยเฉพาะจากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งประกาศว่ามีประสิทธิผลสูงเกินกว่า 90% ประกอบกับมีการระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมทะลุหลักหมื่นไปตั้งแต่ตอนต้นเดือนมกราคม 2564

และที่สำคัญคือมีประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle income) เหมือนไทย โดยรายได้ต่อหัวประชากรยังต่ำกว่าไทย แต่เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องต้องการวัคซีนในประเทศไทยดังระงมขึ้น จนกลายเป็นประเด็นการเมืองถึงขั้นมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซ้ำร้ายพม่าซึ่งยากจนกว่าไทยมากก็เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว โดยเป็นวัคซีนตัวเดียวกับที่เดิมไทยคาดว่าจะได้รับล็อตแรกราวเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้วัคซีนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงและคงจะร้อนแรงไปอีกนานพอสมควร

แน่นอนว่า เมื่อเป็นประเด็นร้อน ก็ย่อมมีการโต้เถียงกันด้วยโวหารและอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าด้วยสติและปัญญา ซึ่งแทนที่จะช่วยแก้ปัญหา ก็อาจทำให้ปัญหายิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น จึงสมควรที่จะต้องตั้งสติและใช้ปัญญาเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า โดยเริ่มต้นจากการทบทวนแนวคิดและแนวทางเรื่องนี้ ซึ่งมีหลากหลายมาก

แนวคิดที่หนึ่ง เรื่องการเร่งรัดพัฒนาวัคซีน

เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด (Out break) จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) นักสาธารณสุขทั่วโลกย่อมต้องมุ่งหาเครื่องมือที่ใช้ได้ผลมาแก้ปัญหา ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเครื่องมือสำคัญ 2 อย่าง คือ ยา และวัคซีน ชัดเจนว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาแนวทางการรักษาซึ่งแม้จะยัง ไม่สามารถหายาต้านไวรัสที่ได้ผลดีมาได้ แต่พัฒนาการของวิธีการดูแลรักษาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราป่วยตาย ค่อยๆ ลดลง

ในส่วนของวัคซีนซึ่งเป็นความหวังสำคัญในการควบคุมป้องกันโรคนี้ เดิมทีผู้เชี่ยวชาญทั้งขององค์การอนามัยโลก และนักวิชาการคนสำคัญของสหรัฐ คือ นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ต่างคาดว่า อย่างเร็วที่สุดที่จะได้วัคซีนออกมาใช้ต้องใช้เวลาราว 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ซึ่งเป็นการคาดการณ์เชิงบวกมาก เพราะประสบการณ์ในอดีต การวิจัยและพัฒนาวัคซีนแต่ละชนิดต้องใช้เวลาราว 15-20 ปี วัคซีนที่ใช้เวลาวิจัยและพัฒนาสั้นที่สุด คือ วัคซีนป้องกันโรคคางทูม ก็ใช้เวลาราว 4 ปี วัคซีนบางชนิดใช้เวลาพัฒนายาวนานกว่า 30 ปี ก็ไม่สำเร็จ เช่น วัคซีนเอดส์ ส่วนวัคซีนมาลาเรีย ซึ่งพัฒนามาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จ

แต่น่ายินดีที่วัคซีนโควิด-19 ใช้เวลาพัฒนาไม่ถึง 1 ปี นับตั้งแต่เริ่มรู้ว่าสาเหตุของโรคคือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (novel Coronavirus หรือ nCoV) ซึ่งจีนประกาศต่อวงวิชาการทั่วโลกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563

ความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ประการแรก ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการของจีน ที่สามารถค้นพบสาเหตุของโรคได้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2563 และสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อ และข้อสำคัญคือการเปิดเผยในธนาคารพันธุกรรมโลก ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2563 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถเริ่มต้น พัฒนาทั้งวิธีการตรวจ ยา และวัคซีนได้ตั้งแต่บัดนั้น

ประการที่สอง ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่สามารถนำความรู้เดิมมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องตั้งต้นจากศูนย์

ประการที่สาม ระบบและกลไกทั้งของตลาดและสำนึกด้านมนุษยธรรมที่ทำให้เกิดการผนึกกำลังเพื่อเอาชนะโรคร้ายซึ่งเป็นภัยร่วมกันของมนุษยชาติ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ ผลคือ ความสำเร็จก่อนใครของบริษัทสตาร์ทอัพอย่างไบโอเอ็นเทคของเยอรมนีร่วมกับไฟเซอร์ซึ่งเป็นธุรกิจยาข้ามชาติของสหรัฐ เป็นเรื่องของกลไกตลาดล้วนๆ ส่วนความสำเร็จของบอสตัน-โมเดอร์นา เกิดจากเงินทุนสนับสนุนก้อนใหญ่จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ หรือ เอนไอเอช (US NIH : National Institutes of Health) ซึ่งให้ทุนวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ราว 1 พันล้านดอลลาร์ และเมื่อมีแนวโน้มว่าวัคซีนจะประสบความสำเร็จ ก็ได้ทุนสนับสนุนเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 อีก 1,500 ล้านดอลลาร์จากเอ็นไอเอช โดยมีเงื่อนไขว่า “ถ้าวัคซีนปลอดภัยและได้ผลให้ผลิตส่งให้ 100 ล้านโด๊ส”

แนวความคิดเรื่องการเร่งรัดพัฒนาวัคซีนเป็นแนวความคิดที่ตรงกันทั่วโลก โดยมีการพัฒนาในทุกฐานคิด (Platform) ทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนนับร้อยโครงการ ทั้งการดำเนินการโดยเอกเทศ และโดยการผนึกกำลังร่วมกัน ซึ่งผลปรากฏว่า แนวคิดที่ประสบความสำเร็จรวดเร็วที่สุด คือ การผนึกกำลัง 2 ประสาน ระหว่างฝ่ายวิจัย (Research) กับฝ่ายพัฒนา (Development)

ดังกรณีของ (1) บริษัทไบโอเอ็นเทค ซึ่งเป็นบริษัทวิจัย ร่วมกับไฟเซอร์ซึ่งเป็นธุรกิจยายักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการในส่วนของขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมทั้งขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคนและขั้นตอนการผลิต ตลอดจนการดำเนินการด้านการขึ้นทะเบียนและการจำหน่าย (2) หน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยบอสตันร่วมกับบริษัทโมเดอร์นา (3) หน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คือ สถาบัน เจนเนอร์ และบริษัทแอสตราเซเนกา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ก็มีความพยายามที่จะทำทั้งการวิจัยและพัฒนา ที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนคือ กรณีของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่ทำสัญญากับออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลงทุนพัฒนาโรงงานให้สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากออกซฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ซึ่งจะมีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

(1) มีความน่าเชื่อถือสูงว่าจะได้วัคซีนที่ปลอดภัยและได้ผล ทั้งนี้ในช่วงที่ทำความตกลงกัน ยังไม่มีใครยืนยันว่าจะได้วัคซีนที่ปลอดภัยและได้ผลอย่างแน่นอน จึงต้องตัดสินใจบนพื้นฐานว่า “มีความน่าเชื่อถือสูง”

(2) วัคซีนที่ได้มีราคาย่อมเยาเพราะทั้งสองฝ่ายมีความคิดตรงกันในหลักการ “ไม่เอากำไร-ไม่ขาดทุน” (No Profit-No Lost) ทำให้ไทยได้วัคซีนในราคาประมาณโด๊สละ 5 ดอลลาร์ ซึ่งถูกกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ มาก

(3) ประโยชน์ระยะยาว คือ การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากแอสตรา-เซเนกา

การตัดสินใจดังกล่าวนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด “ในขณะนั้น” เพราะ (1) ยังไม่ชัดเจนเรื่องความสำเร็จอย่างรวดเร็วของไฟเซอร์และโมเดอร์นา (2) สถานการณ์การระบาดของประเทศไทยอยู่ในภาวะควบคุมได้ดี มีผู้ติดเชื้อเพียง 4 พันเศษ เสียชีวิตเพียง 60 ราย และไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มานานพอสมควร จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้วัคซีน

การระบาดรอบใหม่ช่วงปลายปี และความสำเร็จอย่างรวดเร็วของวัคซีนอื่น รวมทั้งแรงกดดันเรื่องประเทศรอบบ้านได้วัคซีนเร็วเกินคาด เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง และเป็นเรื่องที่ “เกินคาด” หรือ “มิได้คาดคิด” จึงเป็น “สถานการณ์ใหม่” ที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป

******************