posttoday

ความภักดีกับแรงยึดเหนี่ยวทางการเมือง (1)

06 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

เรื่องที่ผู้ปกครองคิดหนักเรื่องหนึ่งคือ “ทำอย่างไรจะให้ประชาชนรัก”

การปกครองก็เหมือนกับการเลี้ยงลูก โดยในยุคแรก ๆ มีเป้าหมายเพื่อที่จะให้ประชาชน “เชื่อฟัง” ซึ่งมนุษย์ในยุคแรก ๆ คงไม่ได้มีความคิดเรื่องการเมืองการปกครองมากนัก จึงคิดง่าย ๆ เหมือนกับการเลี้ยงดูคนในครอบครัว ดังนั้นเราจึงรู้จักกับผู้ปกครองที่เอาแต่ใช้อำนาจบังคับ เหมือนกับพ่อแม่ที่ชอบบังคับลูก แต่ว่าสังคมมนุษย์ไม่ได้แคบและเล็กแบบครอบครัว เมื่อสังคมขยายตัวขึ้นเป็นชุมชนตั้งแต่หมู่บ้านไปจนถึงเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ อำนาจบังคับแบบพ่อแม่ก็ “เอาไม่อยู่” ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องพัฒนาอำนาจบังคับของตนให้ดูน่ากลัวหรือน่าเกรงขามมากขึ้น อันเป็นที่มาของการปกครองในระบอบ “อัตตาธิปไตย” แบบต่าง ๆ ตั้งแต่ ราชาธิปไตย มาจนถึงเผด็จการต่าง ๆ ซึ่งก็ยังต้องเน้นเรื่องของการเชื่อฟังเป็นหลัก

ราว 3,000ปี จึงได้มีการปกครองในรูปแบบใหม่ที่เน้น “ความภักดี” ที่อาจจะแปลง่าย ๆ ว่า “ความเคารพเลื่อมใส” โดยผู้ปกครองได้สร้าง “ตัวช่วย” คือเทวดาต่าง ๆ ขึ้นมาให้ผู้ใต้ปกครองเกิดความเคารพเลื่อมใส แรก ๆ ก็อ้างว่าผู้ปกครองพวกเขานั้นมีความใกล้ชิดกับเทวดา สามารถติดต่อสื่อสารกับเทวดาและขอให้เทวดาช่วยเหลือมนุษย์ในเรื่องต่าง ๆ ได้ พร้อมกับที่ผู้ปกครองเหล่านั้นได้สร้าง “สิ่งอลังการ” อันได้แก่ พิธีกรรม และสิ่งก่อสร้าง เพื่อการเคารพบูชาเทวดาเหล่านั้น

แม้จะทำถึงขั้นนี้แล้ว แต่ผู้ปกครองอาจจะยังไม่พอใจว่าประชาชนจะเคารพเชื่อฟังพวกตนอย่างแม้จริง จึงได้สร้างให้ตัวเองเป็นเทวดาเสียเลย คือผู้ปกครองนั่นแหละเป็นองค์เทวดา หรือไม่ก็เทวดาก็อวตารลงมาเป็นผู้ปกครองนั้นเอง อย่างที่เราเรียกว่า เทวราชา สมมุติเทพ และเทวสิทธิ์ เป็นต้น

ประเทศไทยเมื่อแรกเกิดเป็นประเทศในสมัยสุโขทัย ระบอบการปกครองที่ใช้กันในยุคนั้นก็ยังเป็นแบบ “พ่อปกครองลูก” แต่น่าจะเป็นพ่อปกครองลูกในแนวคิดสมัยใหม่ “ล้ำยุค” ที่แตกต่างจากพ่อปกครองลูกในแนวคิดดั้งเดิม เพราะไม่ได้มุ่งบังคับเคี่ยวเข็ญให้เชื่อฟังหรือเกรงกลัว แต่กลับมุ่งให้ประชาชน “รัก” หรือ “เคารพเลื่อมใส” อันเป็นแนวคิดในเรื่องของความภักดีที่ล้ำหน้ากว่าผู้ปกครองในยุคสมัยเดียวกัน อย่างเช่นที่ใช้ปกครองอยู่ในเขมรหรืออยุธยาในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่นั่นแหละการปกครองแบบพ่อปกครองลูกที่เน้นการ “เอาใจลูก” อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Spoil System ก็ไม่แข็งแรงคงทน เพราะไม่สามารถทัดทานระบอบการปกครองที่แข็งแกร่งกว่าของอยุธยา ซึ่งใช้ระบอบเทวราชาจากเขมรที่เน้นความยิ่งใหญ่ของความเป็นสมมุติเทพมาปกครองมนุษย์ ที่สุดสุโขทัยก็ยอมสิโรราบให้กับอยุธยา สู่สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชมาหลายร้อยปี

สำหรับคนที่เรียนรัฐศาสตร์มาบ้าง อาจจะพอทราบแล้วว่าโลกเราปกครองแบบอัตตาธิปไตย หรือ “การปกครองโดยตัวบุคคล” มาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้คนก็เริ่มเบื่อการปกครองแบบนั้น จึงได้มีนักคิดทางการเมืองการปกครองมองหาแนวทางอื่น ๆ เช่น ฮอปส์ ล็อค และรุซโซ ที่ได้คิดถึงเรื่อง “สัญญาประชาคม” ที่มองว่าผู้ปกครองคือผู้ที่ประชาชนให้การยอมรับและยกย่องให้ขึ้นเป็นผู้ปกครอง

ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องปกครองเพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสุขความพอใจและทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ปกครองได้สัญญาไว้กับประชาชน หาใช่อำนาจสิทธิขาดของผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวไม่ แต่เป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง การปกครองจึงไม่ใช่เรื่องตามอำเภอใจของผู้ปกครอง แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ อย่างที่เรียกว่า “การมีส่วนร่วม” อันเป็นที่มาของการปกครองในรูปแบบ “ประชาธิปไตย” ซึ่งได้พัฒนามาอย่างหลากหลายจนถึงทุกวันนี้

ระบอบประชาธิปไตยมีความมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนภักดีต่อตัวระบบมากกว่าตัวบุคคล ดังจะเห็นได้จากระบอบนี้ที่ได้สร้างเครื่องมือให้ผู้คนมายึดถือแทนที่ตัวคน ที่เป็นหลัก ๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่าง ๆ นั่นเอง รวมถึงที่ได้คิดระบบการได้มาของผู้ปกครอง จากที่เคยมีการสืบทอดให้แก่ลูกหลานแบบกษัตริย์หรือผู้ปกครองโบราณ ก็มาเป็นการคัดสรรและการเลือกตั้งจากประชาชน ตลอดจนเกิดระบบพรรคการเมือง และกระบวนการทางรัฐสภา ที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็น “เจ้าเข้าเจ้าของ” ในระบอบการเมืองนั้น ซึ่งก็เป็นความภักดีในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้เคารพเลื่อมใสในตัวบุคคล แต่เป็นการเคารพเลื่อมใสในกฎกติกาและประสิทธิภาพของระบบ อย่างที่เราจะเห็นว่าประชาชนจะชื่นชอบรัฐบาลที่ทำงานได้ดี แล้วก็เลือกตั้งกลุ่มการเมืองที่ทำงานได้ดีนั้นกลับเข้ามาอีก

ความภักดีทำให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวทางการเมือง ซึ่งทฤษฎีเกี่ยวกับแรงยึดเหนี่ยวทางการเมือง (Political Cohesion) ผู้เขียนเคยเรียนมาในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว อันเป็นยุคที่วิชาฟิสิกซ์การเมืองกำลังเฟื่องฟูอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ทฤษฎีนี้บอกว่าระบบการเมืองก็เหมือนกลไกอย่างหนึ่งในทางสังคม โดยแต่ละระบบการเมืองจะประกอบด้วยกลไกหลาย ๆ ส่วน ที่สำคัญ ๆ ก็ได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล ศาล ระบบราชการ พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องทำงานเกี่ยวเนื่อง หรือ “ยึดเหนี่ยว” ซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่กลไกเหล่านี้ยังทำงานสอดคล้องและสมดุล ระบบก็จะมีเสถียรภาพและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตรงกันข้ามถ้าหากกลไกส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง คือทำงานไม่สอดคล้องสมดุลกัน ระบบการเมืองก็จะ “ปั่นป่วน” และถ้าแก้ไขไม่ทันหรือแก้ไขผิดพลาด ระบบก็อาจจะเสื่อมเสีย จนนำไปสู่วิกฤติหรือการพังทลายได้ ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ระบบการเมืองนั้นทำงานได้อย่างต่อเนื่อง สมดุล และมีประสิทธิภาพก็คือ “ความภักดี” นี่เอง

ในทฤษฎีแรงยึดเหนี่ยวนี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่จะทำงานการเมืองหรืออยากจะวิเคราะห์วิจารณ์การเมือง เพราะจะได้รู้ว่าการเมืองไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการคิดนโยบายโปรยปรายแจกจ่าย “ชนะโน่น - ชนะนี่” เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือจะต้อง “ชนะใจ” ประชาชน อันเกี่ยวข้องด้วยเรื่องของความภักดี ที่จะขอไปอธิบายอีกสักนิดในสัปดาห์หน้า

อ้อ สำหรับคนที่ “ไม่ภักดี” ก็ควรอ่านด้วยนะ เพราะคุณก็กำลังอยากให้ใคร ๆ ภักดีคุณเช่นกัน

******************