posttoday

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

01 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร        

*********************

เพื่อนร่วมสถาบันการศึกษาของผมคนหนึ่งที่เป็นนักรัฐศาสตร์ด้วยกัน ชอบที่จะให้อรรถาธิบายถึงการประสบความสำเร็จทางการศึกษาและหน้าที่การงานของศิษย์เก่า รวมทั้งการประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ในหมู่พวกเราศิษย์เก่าร่วมสถาบันที่เป็นนักรัฐศาสตร์ว่า มาจากสาเหตุที่โรงเรียนเรานั้น ได้รับอิทธิพลจากบาทหลวงสอนศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่สั่งสอนให้นักเรียนเคร่งครัดในวินัย มีระเบียบและขยันขันแข็งในการเรียนและในกิจกรรมต่างๆ

ดังที่ปรากฏในคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า ‘Labor omnia vincit’ ซึ่งแปลว่า ‘Work conquers all.’  มีคนแปลเป็นไทยแตกต่างกันไป เช่น ‘แรงงานพิชิตทุกสิ่ง’ – ‘ขยันชนะอุปสรรคทั้งหลาย’ – ‘ความพยายามย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ’ – ‘มานะชนะทุกสิ่ง- ‘ความวิริยะอุตสาหะนำมาซึ่งความสำเร็จ’ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะแปลอย่างไร ก็คงหนีไม่พ้นให้ขยัน อดทน และเกิดเป็นคนต้องทำงาน อย่าอยู่ว่างๆ นั่งเล่นห้อยเท้าไปมาจนหมดเวลาไปวันๆ !

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

แม้ว่าเจ้าเพื่อนผมคนนั้นจะยืนยันหนักแน่นถึงสาเหตุของการประสบความสำเร็จของศิษย์เก่าร่วมสถาบันเพียงไร แต่ผมก็ไม่แน่ใจตัวเองว่า ผมเป็นคนขยัน มีวินัย อดทน ชอบทำงาน เพราะเท่าที่จำได้ มีแต่คนบอกว่า ผมเป็นคนขี้เกียจ สันหลังยาว นอนตื่นสาย ไม่อดทน กลุ่มคนที่สามารถยืนยันได้ว่าผมเป็นคนเช่นนั้นก็คือ แม่ พ่อ และพี่ๆ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับสมาชิกในครอบครัวแล้ว ผมเป็นคนที่เรื่อยเปื่อยที่สุด

ประการแรก ผมเป็นคนที่นอนตื่นสายที่สุดในบ้าน แม่จะตื่นก่อนใคร ตามประสาลูกผู้หญิงรุ่นก่อน ส่วนพ่อนั้นก็ตื่นเช้า แม้ว่าแกจะเป็นคนชอบนอนเป็นกิจวัตรก็ตาม (เวลาอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ เป็นต้องนอน ไม่รู้จะนอนไปถึงไหน! ) แต่พ่อก็ตื่นเช้าเสมอมา สงสัยว่าจะเป็นความจำเป็นเสียมากกว่าจะมาจากเจตจำนงเสรี ที่ว่าเป็นความจำเป็นก็เพราะต้องตื่นมาเปิดคลินิกรักษาคนไข้ตั้งแต่ 7 โมงเช้า พอ 8 โมงกว่าก็ขับรถไปสอนหนังสือที่โรงเรียนแพทย์ ส่วนพี่ๆ ก็ตื่นแต่เช้าเป็นนิสัยไปแล้ว เพราะไปอยู่โรงเรียนประจำมาหลายปี ไม่ตื่นไม่ได้

ส่วนผมนั้นแสนจะสบาย ถ้าเป็นวันที่ต้องไปเรียนหนังสือ ก็ตื่นแบบเฉียดฉิว บ่อยครั้งที่ตื่นสายจนรถร่วมรับจ้างที่มารับต้องคอย ถูกก่นด่าจากคนขับ และถูกมองหน้าด้วยความเดียดฉันท์อยู่เนืองๆ จากนักเรียนคนอื่นๆ ส่วนวันหยุดนั้น ไม่ต้องพูดถึง นอนมันไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกสบายดี  แถมตอนหลัง พ่อแม่ซื้อเครื่องทำความเย็นมาติดและแถมม่านให้ด้วย คราวนี้เป็นอันได้นอนแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวันกันเลย ถ้าไม่มีใครมาปิดแอร์ เปิดม่านให้แสงตะวันสาดกระแทกลงมาทั่วร่างประดุจสปอตไลท์ส่องไปที่ดาราบนเวที ก็คงนอนเป็นแดรกคูล่าต่อไปเรื่อยๆ

คนส่วนใหญ่ (ที่จริงน่าจะทุกคนเลย! ) ที่ได้พบพานพฤติกรรมการนอนของผมต่างพากันส่ายหน้า และสรุปทั้งแบบพูดออกมาและเลียบๆ เคียงๆ ว่า อนาคตผมคงไปไม่ไกลหรอก

ประการที่สอง แม้ยามตื่น ผมก็เป็นคนขี้เกียจ บางคนตื่นสายก็จริง แต่พอลืมตาดูโลกและตั้งตัวตรงเป็นแนวดิ่งไม่ขนานกับแนวราบได้แล้ว ก็จะออกสตาร์ททำโน่นทำนี่ปั่นจี๋เหมือนแข่งจักรยาน Tour de France แต่สำหรับผม หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อตื่นลุกออกจากเตียงในห้องนอนแล้ว ก็มักจะเดินสะเปะสะปะออกมานอนตามที่ต่างๆ ในบ้านต่อไป แต่ไม่ใช่นอนหลับ เพราะคราวนี้เป็นการนอนแบบลืมตาดูโลก และมักจะอยู่ในท่าก่ายหน้าผาก คล้ายครุ่นคิดอะไรอยู่ เป็นแบบนี้ตลอดมา

จะว่าไปแล้ว ขณะที่ผมกำลังก่ายหน้าผากนอนในรอบสอง (นั่นคือ รอบถัดจากรอบนอนจริงแบบปิดตานอน) ผมก็ครุ่นคิดอะไรอยู่จริงๆ และสิ่งที่ผมนอนครุ่นคิดอยู่เสมอหลังจากผ่านอภิมหาการนอนก็คือ ‘คิดว่า จะทำอะไรดีวันนี้? ‘ คิดไปคิดมา คิดเท่าไรก็มักจะคิดไม่ออกว่าจะทำอะไร หรือมีอะไรที่ต้องทำหรือควรทำ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องทำอะไร

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

                                  

ถ้าจะล้อวาทะอันโด่งดังของโสกราติสก็คือ “ผมไม่รู้จริงๆ ว่าต้องทำอะไร และถ้าจะมีอะไรที่ผมรู้แน่ๆ นั่นก็คือ ผมรู้ว่า ผมไม่รู้ว่าต้องทำอะไร” และถ้าเดส์การ์ตส์ มาสังเกตพฤติกรรมของผมเข้า แกคงต้องกู่ร้องออกมาว่า “You sleep therefore you are.” หรือ “มึงนอน มึงจึงมีอยู่”

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

แต่ผมก็ยังคงจะยืนยันอยู่ว่า ผมไม่ได้นอนเปล่าๆ ผมคิดไปด้วย เพียงแต่ผมคิดไม่ออกเสมอว่า ผมต้องทำอะไร! ดังนั้น ผมจึงนอนคิดต่อไป

อนึ่ง ความขี้เกียจของผมนั้นเป็นอะไรที่ต้านเวลา ไม่ว่า ‘สายัณห์จะรัญจวน’ หรือ ‘แสงทองจะส่องอำไพ’ หรือ ‘เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา’ หรือแม้ ‘สนธยาจะอาลัย’ จน ‘รัตติกาลที่แสงส่องไม่ถึง’ ผมก็ยังสามารถคิดไม่ออกได้ว่า ‘จะต้องทำอะไร? ’ อยู่ดี และมันก็ส่วนใหญ่ของชีวิตที่เป็นแบบนี้  

ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ผมจึงเป็นคนที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับเวลาที่ผ่านมาและเลยไป เพราะรู้สึกอยู่เสมอว่า เดี๋ยวมันก็มาอีกอยู่ดี!

ประการที่สาม ผมดันมีความสุขกับสภาวะสองประการข้างต้น ถือได้ว่าเป็นสุขภาวะแห่งชีวิตของผมเลย ชีวิตส่วนใหญ่จึงจมปลักกับพฤติกรรมที่พอเพียงแบบเดิมๆ ที่ว่าไป ไม่ได้รู้สึกกังวลหรืออนาทรร้อนใจกับสภาพที่ชอบนอนคิด และคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี และก็ยังนอนก่ายหน้าผากคิดต่อไปอยู่อย่างนั้น

อย่างไรก็ดี บางครั้งในขณะที่นอนลืมตาก่ายหน้าผากอยู่นั้น ก็มีความพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างเกิดขึ้น นั่นคือ เกิดความคิดที่จะงัดเอาหน้าแข้งขึ้นมาก่ายหน้าผากแทนแขนให้ได้ เพราะรู้สึกเมื่อยแขน คิดว่าถ้าเอาตีนหรือแข้งขึ้นมาสลับกันทำงานบ้าง น่าจะทำให้การคิดว่าจะทำอะไรดีดำเนินต่อไปได้โดยไม่ล้ากล้ามเนื้อ ส่วนจิตใจนั้น ไม่ต้องห่วง ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นความทุกข์อะไรกับสภาวะการคิดว่าจะทำอะไรดีต่อไปเรื่อยๆ  

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า

อนึ่ง หลายคนมักจะเป็นห่วงและตักเตือนอยู่เนืองๆ ว่า อย่านอนก่ายหน้าผาก ไม่ว่าจะใช้มือหรือใช้ตีนก่ายก็ตาม เพราะโบราณเขาว่า คนก่ายหน้าผากมักเป็นคนอมทุกข์! แต่ผมยังขอยืนยันว่า ภูมิปัญญาโบราณไม่ได้ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันไม่ถูกต้องสำหรับคนอย่างผม หรือคนแบบผม ซึ่งแน่ใจว่าธรรมชาติหรือพระเจ้าไม่ได้สร้างให้มีคนอย่างผมคนเดียวในโลกอย่างแน่นอน  เพราะถ้ามีคนอย่างผมคนเดียวในโลกจริงๆ ผมก็ควรจะ ‘ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว’

แต่ปัญหาคือ จะทำอะไรดี? ถ้าเช่นนั้น คงต้องขอนอนคิดต่อไปก่อนว่า จะทำอะไรดี! * 

+++++++++++++++++++++

* ขอ (นอน) กราบขอบพระคุณยอดนักปรัชญาอย่างท่านเบอร์ทรันด์ รัสเซล ที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผมผ่านข้อเขียนของท่านที่ชื่อว่า ‘การสรรเสริญความเรื่อยเปื่อย’ (In Praise of Idleness) ตีพิมพ์ใน Harper’s Magazine  ค.ศ. 1932

มาคิดว่าจะทำอะไรกันดีดีกว่า