posttoday

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (7)

28 มกราคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

แม้ว่านักคิดปิตาธิปไตยที่นิยมให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ดจะยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงสามารถใช้พระราชอำนาจในการออกกฎหมาย ณ ที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องออกในรัฐสภาหรือออกต่อหน้าตัวแทนในสภาเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ โดยปรกติพระมหากษัตริย์ของอังกฤษในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มักจะทรงยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณี และทรงยอมให้เหล่าขุนนางในราชสำนักควบคุมการใช้พระราชอำนาจ หรือที่เรียกว่า “royal prerogative” ซึ่งบางทีมีนัยความหมายของพระราชอำนาจพิเศษด้วย

กระนั้น พระมหากษัตริย์อังกฤษในยุคนั้นก็ไม่ยอมรับเสียทีเดียวว่าพระราชอำนาจพิเศษของพระองค์นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายและจารีตประเพณีเสียทั้งหมด ในยามเหตุการณ์ปรกติ พระมหากษัตริย์อังกฤษในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งราชวงศ์สจ๊วตยอมรับที่จะปกครองตามกฎหมายบ้านเมืองโดยยอมให้เหล่าขุนนางเป็นผู้ตัดสินว่าพระราชบัญญัติที่ออกโดยพระองค์นั้นขัดหรือไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และสามารถประกาศบังคับใช้ได้หรือไม่

ดังนั้น จึงเป็นคนละกรณีกันระหว่างการพระมหาที่กษัตริย์ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ไพร่ฟ้าราษฎรอภิปรายถกเถียงและกำหนดขอบเขตของพระราชอำนาจในเรื่องเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับกล่าวว่าพระราชอำนาจทั้งหมดจะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า ภายใต้แนวคิดปิตาธิปไตยนิยม (patriarchalism) หรือแนวคิดทางการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอังกฤษเห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจนอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย ด้วยพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์นั้นมาจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าและพระราชอำนาจของพระองค์เปรียบได้กับปิตานุภาพของผู้เป็นพ่อของคนทั้งแผ่นดิน

ดังนั้นพระองค์จึงทรงสามารถใช้พระราชอำนาจได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมเหนือกฎหมายที่ออกโดยมนุษย์ธรรมดาทั่วไป หากเหล่าพสกนิกรต่างพากันร้องขอให้พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อแก้ไขวิกฤตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

แต่กระนั้น คนอังกฤษสมัยนั้นจำนวนไม่น้อยก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกับแนวคิดข้างต้น เพราะมีคนจำนวนมากที่ยืนยันว่า พระราชอำนาจของกษัตริย์จะต้องถูกจำกัดขอบเขตภายใต้กฎหมาย รวมทั้งพระราชอำนาจพิเศษด้วย จะต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายที่มีอยู่และจะต้องเป็นรองเสรีภาพตามกฎหมายของประชาชน

ซึ่งนักคิดแนวปิตาธิปไตยที่นิยมหลักการอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุศาสนจารย์คนหนึ่งในราชสำนักที่ชื่อ ก๊อดฟรีย์ กู๊ดแมน บิชอบแห่งกลอสเตอร์ (Godfrey Goodman, Bishop of Gloucester: 1583-1656) เขาได้กล่าววิจารณ์ความคิดในการจำกัดพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ว่าเป็นสิ่งที่ราษฎรไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ เพราะการกำหนดขอบเขตพระราชอำนาจเช่นนั้นจะทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่เป็นสถาบันที่อิสระแท้จริง และไม่เป็นสถาบันการปกครองสูงสุด เพราะแก่นหรือรากฐานของความเป็นอิสระของสถาบันกษัตริย์อยู่ที่พระราชอำนาจจะต้องไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมายใดๆยกเว้นแต่กฎธรรมชาติและกฎของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

กู๊ดแมนอธิบายความว่า โดยปรกติ พระผู้เป็นเจ้าทรงปกครองดูแลจักรวาลโดยใช้กฎธรรมชาติ และทุกอย่างก็ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ อันมีระเบียบแบบแผนของมัน การปกครองดูแลบ้านเมือขององค์พระมหากษัตริย์ก็เช่นกัน ในยามปรกติ พระองค์ก็ทรงปกครองดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง

แต่ขณะเดียวกัน ในบางครั้ง พระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจอภินิหารที่เหนือธรรมชาติที่สามารถหักล้างกฎทั้งหลายทั้งปวง และองค์พระมหากษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน ทรงมีพระราชอำนาจพิเศษที่ทรงสามารถใช้ได้สถานการณ์ที่ไม่ปรกติ ดังที่จอห์น ดอนน์ (John Donne: 1572-1631) กวีและนักเทศน์ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งได้กล่าวว่า “กฎหมายของอังกฤษ (common law) เปรียบได้กับกฎธรรมชาติที่พระผู้เป็นเจ้าใช้ปกครองมนุษย์ และอภินิหารก็คือพระราชอำนาจพิเศษของพระองค์ และอภินิหารกับพระราชอำนาจพิเศษเหมือนกันตรงที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามันคืออะไร และมีขอบเขตเนื้อหาอย่างไร”

นอกจากกู๊ดแมนและดอนน์แล้ว พระนักกฎหมายที่ชื่อ คัลลิบิวท์ เดาน์นิ่ง (Calybute Downing: 1606-1644) เห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรง “มีพระราชสิทธิ์แห่งอำนาจการปกครองที่ไม่จำกัดและไม่มีการบันทึกไว้” ซึ่งพระองค์สามารถ “รับรองกฎหมายหรือทำให้กฎหมายใดๆเป็นโมฆะได้” และสามารถ “ตีความหรือใช้กฎหมายนั้นไปตามเจตนารมณ์ที่พระองค์เห็นสมควร”

ปีเตอร์ เฮย์ลิน (Peter Heylin: 1599-1662) นักคิดนักเขียนประวัติศาสตร์ การเมืองและเทววิทยาได้กล่าวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวว่า ประชาชนมีหน้าที่ต้องเคารพเชื่อฟังพระมหากษัตริย์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และองค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอันไม่จำกัด และบารอนโธมัส เฟลมมิ่ง (Chief Baron Fleming: 1544-1613) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์พระมหากษัตริย์ย่อมมีพระราชวินิจฉัยของพระองค์ที่จะใช้พระราชอำนาจไปอย่างไรก็ได้เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน

และแน่นอนว่า ในยามปรกติ พระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจตามกฎหมายบ้านเมือง แต่ในยามวิกฤตหรือในสถานการณ์พิเศษ พระองค์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจพิเศษในการแก้ไขวิกฤตที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ ดังที่เซอร์จอห์น เดวี่ส์ (John Davies: 1569-1626) ผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในไอร์แลนด์ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจพิเศษซึ่งสงวนไว้ที่ตัวพระอง์เองที่จะใช้ในกรณีวิกฤตเท่านั้น พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในสองมิติควบคู่กันอยู่ (double power) นั่นคือ มิติแรก เป็นพระราชอำนาจปรกติที่ต้องยึดโยงอยู่กับบทบัญญัติทางกฎหมาย และอีกมิติหนึ่งคือ สมบูรณาญาสิทธิ์ หรือ Merum Imperium ซึ่งเป็นพระราชอำนาจที่ไม่ต้องยึดโยงอยู่กับบทบัญญัติทางกฎหมายใดๆ

ทฤษฎีหรือแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กล่าวมานี้เองที่ทำให้พระมหากษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งอังกฤษ และแนวคิดดังกล่าวนี้ก็เป็นที่คุ้นเคยรู้จักกันทั่วไปในหมู่นักคิดอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด แต่กระนั้น ก็มีการกล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจสูงสุดขององค์พระมหากษัตริย์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในข้อเขียน The Six Books of the Commonwealth (ตีพิมพ์ ค.ศ. 1576) ของนักคิดทางการเมืองฝรั่งเศสที่ชื่อ ฌอง โบแด็ง (Jean Bodin: 1529-1596)

ด้วยเหตุนี้ จึงมีปัญหาข้อสงสัยว่า แนวคิดพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์อธิปัตย์ของอังกฤษที่กล่าวไปนี้ได้รับอิทธิพลมาจากโบแด็งแค่ไหนเพียงไร เพราะจะว่าไปแล้ว โบแด็ง ไม่ได้สร้างตัวแนวความคิด (concept) นี้ขึ้นมา เขาเพียงแต่นำเสนอแต่เพียงนัยของแนวคิดนี้เท่านั้น โดยสิ่งที่เขากล่าวไว้อย่างชัดเจนก็เพียงว่า อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นอำนาจที่ไม่จำกัดอันแบ่งแยกมิได้ (unlimited and indivisible) เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่า นักคิดอังกฤษแนวปิตาธิปไตยที่นิยมสมบูรณาญาสิทธ์จะต้องรับอิทธิพลจากโบแด็ง เพราะในมุมมองที่พวกเขามีต่ออำนาจของพระผู้เป็นเจ้าก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและองค์อธิปัตย์ตะวันตกในยุคสมัยใหม่จวบจนถึงปัจจุบันถือกำเนิดและมีรากฐานมาจากทรรศนะที่มีต่ออำนาจของพระผู้เป็นเจ้า อันทำให้กษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์และรัฐชาติสมัยใหม่ต่างมีอำนาจที่ไม่จำกัดและแบ่งแยกมิได้ (indivisible) (แต่แบ่งใช้ได้---separable—ซึ่งจักได้กล่าวในโอกาสต่อไป)

แม้ว่าจะไม่มีการอ้างถึงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าแล้วก็ตาม และแน่นอนว่า ในสังคมที่ไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้า (God) ย่อมยากที่จะมองและเข้าใจอำนาจของรัฐสมัยใหม่ของตนเหมือนในสังคมตะวันตก และทรรศนะดังกล่าวองค์พระมหากษัตริย์อาจจะยังดำเนินต่อไปก็ได้ หากมรดกทางวัฒนธรรมสมบูรณาญาสิทธิ์ยังคงถูกรักษาไว้ในสังคมนั้นอยู่

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (7)

                  จอห์น ดอน                                        ปีเตอร์ เฮย์ลิน                                  ฌอง โบแด็ง

*************