posttoday

รัฐสภากับการปรับตัวสู่สังคมดิจิตอล (3)

23 มกราคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

การเมืองวิถีใหม่คือ“การเมืองแบบอวตาร” ไม่ใช่หดหัวอยู่ในกระดอง

“อวตาร” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า “การแบ่งภาคมาเกิดในโลกของพระนารายณ์” แต่ดูเหมือนคนสมัยใหม่จะนึกไปถึงหนังฮอลลีวูดเรื่องหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนในชื่อเดียวกันนี้ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การแบ่งร่าง” ของมนุษย์จากอีกโลกหนึ่งไปอยู่ยังอีกโลกหนึ่ง ทั้งยังเป็นเกมในคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการแบ่งร่างไปอยู่ในสภาวะต่าง ๆ ของคู่ต่อสู้ในเกมนั้น อันนำมาซึ่งความหมายของคนสมัยใหม่ ที่หมายถึงการแบ่งร่างให้เป็นบุคคลต่าง ๆ ที่ตนเองปรารถนาอยากจะเป็น

ผู้เขียนนำคำว่า “อวตาร” มาใช้ในทางการเมือง โดยเฉพาะในการเมืองวิถีใหม่ในโลกยุคดิจิตอลนี้ก็ด้วยมองเห็นว่า นักการเมืองในยุคนี้จำเป็นจะต้องแสดงบทบาทหลายบทบาท ทั้งนี้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ คือ

ประการแรก การเมืองเป็นเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อผู้คนซึ่งมีความต้องการหลากหลาย นักการเมืองจำเป็นจะต้องเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด นักการเมืองจึงเป็นเสมือนผู้ที่จะต้องแบ่งร่างเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนให้ได้มากที่สุด และด้วยเทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลสมัยใหม่ เช่น ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์

นักการเมืองที่มีความสนใจ(หรือถ้าไม่มีความสามารถ ยังใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ก็อาจจะจ้างหรือจัดหาผู้รู้ผู้เล่นมาช่วยทำให้ได้)ก็ควรจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นให้มากที่สุด อนึ่งก็เป็นโชคดีของโลกในยุคดิจิตอลที่มีผู้สนใจค้นคว้าและทำรายงานการศึกษาในเรื่องข้อมูลเหล่านี้ไว้มากพอควร โดยเฉพาะกลุ่มนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้

ประการต่อมา การเมืองในยุคดิจิตอลมีลักษณะสำคัญคือ “การสร้างภาพและการสร้างตัวตน” ซึ่งต่างจากการเมืองแบบเก่าที่ยังเน้นขายฝันหรือนโยบายต่าง ๆ โดยการเมืองวิถีใหม่ผู้คนจะสนใจในเรื่องของนโยบายน้อยลง (อาจจะเป็นด้วยนักการเมืองทุกคนทุกพรรคมีนโยบายคล้าย ๆ กัน หรือมีการขายฝันเรื่องนโยบายเหล่านั้นจนฟุ้งเฟ้อและน่าเบื่อ) แต่จะให้ความสนใจกับการ “เม้นท์” หรือ “รีวิว” ที่เป็นความเห็นของผู้คนต่อการปรากฏตัวและกิจกรรมของนักการเมือง

นักการเมืองจึงต้องมุ่ง “สร้างแบรนด์” คือทำให้ตนเองโดดเด่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เกิดการ “เลื่องลือ” หรือกล่าวขวัญ “บอกต่อ” ถึงสรรพคุณและชื่อเสียงดังกล่าว (ในเรื่องนี้ตอนที่ผู้เขียนไปฟังการสัมมนาที่ APSA – สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างกรณีของโดนัล ทรัมป์ ตอนที่หาเสียงโดยใช้โซเชียลมีเดียสร้างภาพว่า เขาจะมาเป็นผู้ “กอบกู้” ศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่ให้กับคนอเมริกัน นั่นคือการสร้างภาพว่าเป็น “อวตารฮีโร่” นั่นเอง) ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ด้วยการประมวลเรื่องราวต่าง ๆ ให้ปรากฏเป็นแบรนด์ให้กับตัวเองจึงสำคัญกว่าการขายนโยบายแต่เพียงอย่างเดียว

อีกประการหนึ่ง ในการรักษาความนิยมให้ยั่งยืน (ซึ่งถือกันว่าเป็นงานที่ยากลำบากที่สุดของนักการเมือง อย่างที่มีคำพูดว่า “รักษาแชมป์ยากกว่าการเป็นแชมป์” นักการเมืองจำเป็นจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนก็คือการลงพื้นที่และทำงานให้ช่าวบ้านเห็น หรือถ้าเป็นไปได้ก็จะมีการออกสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ตามไปด้วย แต่ในยุคดิจิตอล สื่ออีเล็คโทรนิคมีใช้อย่างแพร่หลาย

นักการเมืองจึงต้องใช้สื่อสมัยใหม่นี้ให้ช่ำชอง หรืออย่างน้อยก็ต้องพยายามที่จะให้ให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายของการสื่อสาร เช่น สร้างแฟนคลับ หรือสร้างกลุ่มขึ้นมาเชียร์ตนเอง เพื่อที่จะให้เกิดภาพปรากฏถึงตัวตนของนักการเมืองให้อยู่ใน “สายตา” และที่สำคัญที่สุดคือให้อยู่ใน “ความทรงจำ” ของผู้คน ไม่เพียงแต่ในเขตเลือกตั้งของตน แต่จะต้องทำให้เกิดภาพปรากฏในระดับชาติ เพื่อความก้าวหน้าของอนาคตในทางการเมืองนั้นด้วย

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่นักการเมืองจะต้องปรับตัวในโลกการเมืองสมัยใหม่แล้ว รัฐสภาอันเป็นที่ทำงานและสนับสนุนการทำงานของนักการเมืองก็ต้องมีการปรับตัวด้วย ตอนสมัยที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงปี2549-2551 เคยเสนอความคิดเป็นหนังสือราชการอย่างเป็นทางการ ไปยังประธานฯมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกท่านว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสนช.ต้องทำหน้าที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ควรจะแบ่งโซนให้ สนช.แต่ละคนได้ไปทำงานเพื่อประสานราชการหรือติดตามการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารโครงการต่าง ๆ เหมือนกับครั้งที่มี ส.ส.และ ส.ว. รวมถึงให้มีการถ่ายทอดการประชุมคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ให้เห็นถึงการทำงานในเชิงรุกเพื่อการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ประชาชนที่สนใจติดตามจะได้ทราบว่า สนช.ไม่ได้ทำงานเปลืองข้าวสุก

แต่ท่านมีชัยตอบว่า สนช.มาทำหน้าที่ชั่วคราว จึงไม่ควรออกไปทำอะไรประเจิดประเจ้อ รวมถึงที่จะให้ถ่ายทอดโทรทัศน์ก็ไม่เหมาะ เพราะ สนช.ไม่ใช่ดารา จะได้ “แอ็คติ้ง” หรือแสดงกริยาท่าทางได้อย่างน่าดูชม ที่สำคัญการประชุมสภาก็มีแต่เรื่องน่าเบื่อ ประชาชนคงไม่สนใจเท่าใดนัก

สัปดาห์หน้าจะขอเสนอแนวคิดในการทำงานให้กับรัฐสภา ในยุค “การเมืองวิถีใหม่” แต่คงจะไม่เน้นว่าจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีอะไร หรือทำตัวให้ทันสมัยในการใช้แอปต่าง ๆ อย่างไร แต่อยากให้ปรับการทำงานเข้ากับวิถีการเมืองสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ที่จะต้องปรับแนวคิดไปสู่โลกยุคใหม่นั้นด้วย

ถ้าอยากจะอยู่รอดในโลกยุคหน้า สมองก็ต้องปรับให้เป็นดิจิตอลด้วย

****************