posttoday

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

21 มกราคม 2564

โดย...ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

***********

หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชาติไทย จะประกอบไปด้วย 8 เหตุการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. การฟื้นฟูบูรณะบ้านเมืองจากสงครามกับพม่า และประเทศเพื่อนบ้าน

2. การเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่จากมหาอำนาจตะวันตก

3. การเปิดประเทศสู่ความทันสมัยให้ทัดเทียมอารยประเทศ

4. การปฏิรูประบบชนชั้น สะท้อนความเท่าเทียมกันของคนในสังคม

5. การรักษาเอกราชให้พ้นภัยจักรวรรดินิยมจากลัทธิล่าอาณานิคม

6. การเข้าสู่ประชาคมโลกอย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยการประกาศสงคราม และการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

7. การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย

8. การกู้ชาติเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

*ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ โดยมี “จุดพลิกผัน” (Turning points) สำคัญ 4 ประเด็นด้วยกัน

1. วิวัฒน์อารยธรรม เป็นการปรับเปลี่ยนจาก “อารยธรรมอยุธยา”เป็น “อารยธรรมตะวันตก”ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ5 การก้าวข้ามศตวรรษที่ 20 มาสู่ศตวรรษที่ 21 กระแส Globalization ได้ก่อให้เกิดการทะยานขึ้นของ “The Rise of the Rest” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “The Rise of Asia” ทำให้ศูนย์กลางอำนาจเกิดการขยับปรับเปลี่ยน จากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก เกิดเป็น “Asian Century” ตามมาด้วยกระแส Digitization สังคมไทยก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ที่จะต้องปรับตัวเองจากอิทธิพลอารยธรรมตะวันตกมาสู่อารยธรรมโลกที่มีการผสมผสานอย่างหลากหลายระหว่างอารยธรรมตะวันออกกับอารยธรรมตะวันตก และระหว่างอารยธรรมในโลกจริงกับ อารยธรรมในโลกเสมือน มากขึ้น

2.ภัยคุกคามจากภายนอก ภัยคุกคามจากนครรัฐเพื่อนบ้านอย่างพม่าได้ค่อยๆคลายตัวลง จนหมดไปในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนไปเป็นภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 มาสู่ภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ตามมาด้วยภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น

ในโลกปัจจุบัน พลวัตโลกทำให้ภัยคุกคามที่เป็น “ภัยคุกคามตามแบบ” ดังกล่าวได้ถูกแทนที่ด้วย “ภัยคุกคามไม่ตามแบบ” อาทิ การก่อการร้าย วิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาด เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามไม่ตามแบบนี้ได้มากน้อยเพียงใด

3. การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม มีการเปลี่ยนผ่านจาก สังคมเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง สู่สังคมอุตสาหกรรม ผ่านระบบทุนนิยมโลก เกิดประเด็นความไม่สมดุลและความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจและสังคมในเมืองและชนบท ระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม และระหว่างผู้ได้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งขยายปัญหาออกไปพร้อมๆกับการเติบโตของเศรษฐกิจเชิงปริมาณในภาพรวม ภายใต้กระแส Globalization และ Digitization ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงถูกทดสอบว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจ “เพิ่มมูลค่า” ในสังคมอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจ “สร้างมูลค่า”ในสังคมฐานความรู้ได้หรือไม่

4. การเปลี่ยนระบอบการปกครอง มีการปรับเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมควรเข้ามาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามเจตนารมย์ของ “คณะราษฎร ปี 2475” กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยมีระบอบ “ประชาธิปไตยเทียม” นั่นคือ เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ใต้ร่มเงาของ “อมาตยาธิปไตย” กับ “ธนาธิปไตย”

การต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าที่ชูธงอมาตยาธิปไตยกับกลุ่มอำนาจใหม่ที่ชูธงธนาธิปไตย ได้แผ่กว้างออกไปสู่ปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เห็นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย บางท่านบอกว่าประชาชนไทยยัง “ไม่พร้อม” ที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่มีบางท่านบอกว่า ผู้มีอำนาจยัง “ไม่ยอมปล่อย” ให้ประชาชนปกครองกันเองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเด็นท้าทายคือประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามระบอบประชาธิปไตยเทียม ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงได้หรือไม่

...ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน กำลังถูกทดสอบว่าจะสามารถก้าวข้าม “ทศวรรษแห่งความมืดมน” (Lost Decades) ไปได้หรือไม่

...ถึงเวลาที่คนไทยต้องมาช่วยกันขบคิด ร่วมกำหนด “วาระประเทศไทย” เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นกับดักความขัดแย้ง วิกฤตซ้ำซาก และความสามารถที่ถดถอย ไปสู่ประเทศที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ความสุข และความสมานฉันท์ ในโลกหลังโควิด อย่างแท้จริง

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์แห่งรัตนโกสินทร์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชาติไทย...

โพสต์โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2021