posttoday

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (6)

21 มกราคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

แม้ว่า พระราชอำนาจของกษัตริย์ตามแนวคิด “ปิตาธิปไตยนิยม” (Patriarchalism) หรือคติการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดจะเป็นพระราชอำนาจที่สมบูรณ์เด็ดขาดในทางหลักการ ไม่มีอำนาจใดจะทัดทานขัดขวางได้

แต่กระนั้น การจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ตามแนวคิด “ปิตาธิปไตยนิยม” ก็ยังมีอยู่ คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นพระ ขุนนางและไพร่ฟ้าราษฎรมีสิทธิและหน้าที่ที่จะขัดขืนไม่เชื่อฟังพระมหากษัตริย์ได้ทันที หากการใช้พระราชอำนาจ พระราชบัญญัติและพระบรมราชโองการขององค์พระมหากษัตริย์ขัดแย้งต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้า เช่น หากกษัตริย์องค์ใดสั่งให้ผู้ใดโกหก หรือหมิ่นศาสนา เขาผู้นั้นย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องไม่เชื่อฟังกษัตริย์ได้ทันที

และหากเปรียบเทียบกับการขัดขืนในระบอบการปกครองสมัยใหม่ปัจจุบันที่เรียกว่า “civic disobedience” หรือ “การขัดขืนของพลเมือง” การขัดขืนพระราชอำนาจของกษัตริย์ตามหลัก “ปิตาธิปไตยนิยม” นี้ก็น่าจะถูกเรียกว่าเป็น “เทวะขัดขืน” (divine disobedience) ได้ ! เพราะเป็นการขัดขืนอำนาจกษัตริย์โดยอ้างการเคารพเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า

และจากคราวที่แล้วได้เกริ่นว่า แนวคิดเรื่อง “เทวะขัดขืน” นี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่มาของแนวคิดและขบวนการของบาทหลวงในนิกายคาทอลิกสมัยใหม่ที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ “เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย” (Theology of Liberation) โดยการนำของนักเทววิทยาและบาทหลวงนิกายโดมินิกันชาวเปรูที่ชื่อว่า กุสตาโว กูเตียเรส เมอริโน (ค.ศ. 1928) ซึ่งคุณพ่อกูเตียเรสเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย” (Theology of Liberation) นี้ขึ้นมา และเป็นที่รู้จักแพร่หลายผ่านข้อเขียนของท่านที่ชื่อว่า A Theology of Liberation: History, Politics, Salvation (1971)

เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยนี้มีหลักการใจความสำคัญในการตีความว่า คำสอนของพระเยซูในฐานะที่เป็นการปลดปล่อยผู้คนจากพันธนาการเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เป็นธรรม เป็นการตีความศรัทธาแห่งคริสต์ศาสนาผ่านความทุกข์ยากของมวลชนผู้ยากจน มองการต่อสู้ดิ้นรน ความหวังและการวิพากษ์สังคม ความศรัทธาในแนวคาทอลิกและคริสต์ศาสนาผ่านมุมมองของคนจน ซึ่งน่าจะเป็นพัฒนาการเปลี่ยนผ่านของ “การขัดขืนพระราชอำนาจ” มาสู่ “การขัดขืนอำนาจทุนและอำนาจรัฐ” ที่ขัดต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การขัดขืนพระราชอำนาจตามคติ “ปิตาธิปไตยนิยม” ในศตวรรษที่สิบเจ็ดของอังกฤษจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขสามประการดังนี้

หนึ่ง การขัดขืนพระราชอำนาจจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่เป็นข้อยกเว้นหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ การใช้พระราชอำนาจนั้นขัดต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้า

ประการที่สอง การขัดขืนพระราชอำนาจ หากพระราชอำนาจนั้นขัดต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องผ่านการตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ว่าใครจะลุกขึ้นมาขัดขืนและขัดขวางการใช้พระราชอำนาจโดยอ้างกฎของพระผู้เป็นเจ้าได้เลยทันที เพราะจะต้องให้มีความแน่ชัดว่า การใช้พระราชอำนาจนั้นขัดกับกฎของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่มีใคร “คิดว่า” หรือ “เชื่อว่า” ขัดต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้า แต่จะต้องมีหลักการรองรับแน่ชัดในการที่จะไม่เชื่อฟังอำนาจของกษัตริย์ เพียงแค่ “สงสัย” นั้นยังไม่เพียงพอที่จะเป็นข้ออ้างในการขัดขืนต่อต้านพระราชอำนาจ

นักคิดในสำนักปิตาธิปไตยนิยมเห็นว่า หากปล่อยให้มีการอ้างกฎพระผู้เป็นเจ้าอย่างลอยๆเพื่อที่จะขัดขืนไม่เชื่อฟังพระราชอำนาจแล้ว ความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบจะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ ขณะเดียวกัน เหตุผลในการออกพระบรมราชโองการก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยหรืออธิบายให้แก่สาธารณชนเสมอไปทุกครั้ง

ประการสุดท้าย ไพร่ฟ้าราษฎรก็ไม่ควรที่จะหาทางที่จะขัดขืนต่อต้านกษัตริย์อยู่ร่ำไป หากพระบรมราชโองการของพระองค์ไม่สอดคล้องต้องกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ไพร่ฟ้าราษฎรต้องเคารพเชื่อฟังก็คือ พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่กษัตริย์ แต่กระนั้น ไพร่ฟ้าราษฎรก็ย่อมต้องยอมรับโทษอะไรก็ตามแต่โดยดี หากกษัตริย์จะลงโทษพวกเขาฐานไม่เชื่อฟังพระองค์ วิลเลียม บาร์โลว์ (William Barlow) บิชอบแห่งลินคอล์น (Bishop of Lincoln) บาทหลวงในศาสนจักรของอังกฤษ (Anglican Church) ในสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง (James I:2566-1625) ได้กล่าวในประเด็นนี้ว่า “ไพร่ฟ้าราษฎรที่ไม่ดีมุ่งคิดพยาบาท แต่แท้จริงแล้ว คริสตศาสนาสอนให้อดทน ไม่ใช่สอนให้กบฏ”

พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งเองก็ทรงเตือนรัฐสภาไว้ด้วยว่า “การสวดภาวนาและน้ำตาเท่านั้นที่เป็นอาวุธที่ไพร่ฟ้าควรใช้ในการต่อต้านพระมหากษัตริย์ของพวกเขา” เพราะตามคติการปกครองแบบ “ปิตาธิปไตยนิยม” นี้ไม่เห็นด้วยกับที่ใช้กำลังเข้าต่อต้านกษัตริย์ และการใช้กำลังย่อมไม่มีทางที่จะชอบธรรมได้ตามแนวคิดของคริสต์ศาสนา และในหนังสือชื่อ Book of Homilies ซึ่งเป็นหนังสือสองในสามสิบสามเล่มของบทเทศนาในศาสนนิกายของอังกฤษ (Anglican Church) ได้บัญญัติไว้ว่าถึงหน้าที่ของการไม่ต่อต้านกษัตริย์ด้วยกำลังความรุนแรง และแนวคิดดังกล่าวนี้ก็เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด

จะเห็นได้ว่า นักคิดปิตาธิปไตยนิยมที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดได้พยายามที่จะให้ความชอบธรรมในการขยายขอบเขตพระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันมิให้สภาวะอนาธิปไตยเกิดขึ้น และต้องการพิสูจน์หักล้างนักคิดที่สนับสนุนการต่อต้านพระราชอำนาจ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ไม่ต้องการให้กษัตริย์ปกครองอย่างไร้กฎเกณฑ์ตามอำเภอใจ

ซึ่งตามทฤษฎีที่ให้กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดนี้ กษัตริย์มีหน้าที่ที่จะต้องยึดถือในกฎธรรมชาติและกฎของพระผู้เป็นเจ้า และมีหน้าที่ที่จะต้องปกครองเพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย ด้วยกฎธรรมชาติหรืออีกนัยหนึ่งคือ เหตุผลที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติได้แสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของการมีการปกครองว่าเป็นการปกป้องรักษาไว้ซึ่งความผาสุกร่วมกันของคนในรัฐ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีของเซนต์ทอมัส อไควนัส (Thomas Aquinas:1225-1274 )

นักคิดทางการเมืองในช่วงปลายยุคกลางที่ได้วางรากฐานไว้ด้วยการประยุกต์ปรัชญาการเมืองของอาริสโตเติลเข้ากับแนวคิดทางคริสตศาสนาว่า มนุษย์เข้ามาอยู่ร่วมกันเพื่อนำมาซึ่งความผาสุกในทางโลก และกฎธรรมชาติได้กำหนดไว้ว่า กษัตริย์จะต้องปกครองเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใต้ปกครอง นั่นคือ ปกครองให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและยึดมั่นในกฎหมาย และด้วยเหตุนี้เองที่มนุษย์ควรอยู่ภายใต้การปกครองที่มีกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นที่รับรู้ประจักษ์ชัดเจน ซึ่งกษัตริย์มีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องเคารพยึดมั่นในกฎกติกาด้วย แต่กระนั้นถ้ามีสถานการณ์พิเศษเกิดขึ้น กษัตริย์ก็สามารถที่จะละเลยกฎกติกาที่ดำรงอยู่ได้หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ขณะเดียวกัน ตามแนวคิดปิตาธิปไตยนิยมที่สนับสนุนกษัตริย์อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด จะพบว่า กษัตริย์เท่านั้นที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจทางการเมือง ดังนั้น พระองค์เท่านั้นที่เป็นผู้ทรงบัญญัติกฎหมายได้ และหลักการดังกล่าวนี้ถูกนำมากล่าวอ้างอยู่เสมอในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด ดังที่วิลเลียม วิลค์ (William Wilkes) อนุศาสนจารย์ในพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “พระบรมราชโองการขององค์พระมหากษัตริย์คือกฎหมาย และเป็นพระเกียรติยศของพระองค์ในการกำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายขึ้น”

อีกทั้งทอมัส ริดเลย์ (Thomas Ridley) ได้กล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า “กษัตริย์คือกฎหมาย และพระองค์เท่านั้นที่เป็นผู้ตีความกฎหมายด้วย” ซึ่งในแง่นี้เราจะพบว่า หลักการดังกล่าวนี้ของอังกฤษดูจะสอดคล้องกลมกลืนกับหลักการของกษัตริย์ฝรั่งเศสในเวลาต่อมาที่พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ (Louis XIV: 1638-1715) ได้ทรงตรัสไว้ว่า “I am the State. (L'État, c'est moi)

อย่างไรก็ตาม ข้อความ “I am the State. (L'État, c'est moi) ที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายกลับยังไม่สามารถหาต้นตอแหล่งอ้างอิงที่มาได้แน่ชัดแต่อย่างใด !

นักคิดปิตาธิปไตยนิยมกษัตริย์อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดบางคนถึงกับขยายความว่า ด้วยพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในการออกกฎหมายดังกล่าวนี้ พระองค์สามารถใช้พระราชอำนาจในการออกกฎหมาย ณ ที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องออกในรัฐสภาหรือออกต่อหน้าตัวแทนในสภาเท่านั้น ซึ่งการตีความดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้แทนในรัฐสภาจำนวนไม่น้อยไม่สามารถยอมรับได้

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (6)

                                                    เจมส์ที่หนึ่ง (1566-1625)

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (6)

                                                       หลุยส์ที่สิบสี่ (1638-1715)