posttoday

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

18 มกราคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร      

*********************

ในบริบทของการเมืองไทยหลัง พ.ศ.2475 ความผุกร่อนเสื่อมคลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นข้อเท็จจริงที่แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ก็ทรงยอมรับว่าได้เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันทางการเมือง และการจัดสรรอำนาจในระบบการเมืองใหม่กลับไม่ลงตัว รวมทั้งแหล่งที่มาของความชอบธรรมของระบอบการเมืองใหม่ ซึ่งวางอยู่บนหลักการประชาธิปไตยและการมีรัฐธรรมนูญ ยังขาดพลังและเวลาในการตกผลึกในสังคมที่นานเพียงพอ สำหรับการเป็นรากฐานอันเข้มแข็งและหนักแน่นในการรองรับระบอบการเมืองใหม่

ขณะเดียวกัน สภาพการเมืองของไทยในระยะ 25 ปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ก็คือ ความขัดแย้ง แตกร้าวและทำลายล้างกันระหว่างผู้นำทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนการดำเนินการเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงหลักการตามกติกาที่รัฐธรรมนูญวางไว้ และความพยายามของผู้นำการเมืองในกลุ่มคณะราษฎรบางคน ในการจำกัดบทบาทและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เหลือน้อยที่สุด

เหตุเหล่านี้ทำให้ระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยภายหลัง 2475 เต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพอันเกิดจากการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง มีความคลุมเครือ ขาดความแน่นอนชัดเจน การต่อสู้ทำลายล้างและการเกาะตัวเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ นี้ในที่สุดจะก่อรูปเป็นโครงสร้างทางการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้ระบอบที่จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ สถาปนาขึ้นภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 อันเป็นโครงสร้างที่จะกลายมาเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัด ในการฟื้นฟูสถานภาพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองการปกครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในการอธิบายปรากฏการณ์รัฐประหารในการเมืองไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475 จนถึง พ.ศ. 2520   นักรัฐศาสตร์สมัยนั้น มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า รัฐประหารในประเทศไทยเป็น “ปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของวิถีทางการเมืองในทุกๆ ระบบการปกครอง”  ใน “ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา” ที่ยัง “ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง”  เป็นที่เข้าใจได้ว่า เงื่อนไขของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในทศวรรษ 1970  ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และประเทศที่ว่านี้ก็ย่อมรวมถึงประเทศไทยซึ่งประชาธิปไตยพัฒนามาได้เป็นเวลาเพียงสี่สิบกว่าปีเท่านั้น สภาพเศรษฐกิจสมัยนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่า “กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา”  และในการวิเคราะห์สาเหตุและเงื่อนไขของการทำรัฐประหารของนักรัฐศาสตร์ในช่วงนั้น มิได้เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2549  ได้มีออกจำหน่ายหนังสือ The King Never Smiles โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล  ผู้เขียนคือ พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) นักเขียนชาวอเมริกัน หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ว่าด้วยพระราชประวัติอย่างไม่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและราชวงศ์จักรี  “หนังสือนี้ทางการไทยจัดให้เป็น "หนังสือต้องห้าม" อย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ โดยมิได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มกราคม). พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550ต่อมามีหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ตช 0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม 2551 ว่าหนังสือเล่มนี้เป็น "หนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร"[2] และในเดือนมกราคม 2549 ทางการไทยยังได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาหรือให้บริการสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย

หนังสือเล่มนี้มีข้อเสนอหลักสองประการคือ  ประการแรก เป็นเวลากว่าหกสิบปีแล้วที่สถาบันกษัตริย์สนับสนุนให้ทหารก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ใช้กุศโลบายทางวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาสร้างความนิยมให้แก่ตนเองภายในหมู่ชนชาวไทย ทั้งนี้เพื่อกอบกู้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ของตนกลับคืนมา

ต่อข้อเสนอประการแรกในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า “เป็นเวลากว่าหกสิบปีแล้วที่สถาบันกษัตริย์สนับสนุนให้ทหารก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” หกสิบปีคือ นับถอยหลังจาก พ.ศ. 2549 ที่มีการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ คือ พ.ศ. 2489 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์   ข้อเสนอดังกล่าวต้องการสื่อว่า การทำรัฐประหารตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมาเกิดจากการที่ “สถาบันกษัตริย์สนับสนุนให้ทหารก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

หนึ่งในรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2489 คือ รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพวกอันได้แก่ จอมพลเผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ด้วยสาเหตุจากการทุจริตในการเลือกตั้งจนมีประชาชนและนิสิตนักศึกษาออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง        

   

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์อเมริกันในช่วงหลังเกิดรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500

รายงานข่าวของ the Associated Press วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2500 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “พระมหากษัตริย์ไทยในสามสิบปีที่ผ่านมาเป็นเพียงแต่ในนาม ไม่มีอำนาจอะไร พระองค์ต้องทรงทำตามที่นายกรัฐมนตรีบอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลที่ประสูติในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน พระองค์ต้องทรงทำตามที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ (directed)  และดูเหมือนพระองค์จะทรงพอพระทัยที่จะประทับอยู่แต่ภายในพระราชวัง และทรงเล่นแผ่นเสียงเพลงแจ๊ส เสด็จพระราชดำเนินพระราชพิธีที่เป็นทางการบ้างเป็นบางครั้ง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เวลาสิบเอ็ดนาฬิกาของวันจันทร์ที่ผ่านมา พลโทถนอม กิตติขจรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผู้สื่อข่าวได้ถามจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งอย่างไรกับการที่ทหารยึดอำนาจ

จอมพลสฤษดิ์ตอบว่า “พระองค์จะรับสั่งอะไร---ทุกอย่างมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว”  (“What should the King say-everything was already finished.)            

    

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

ผู้เขียนนำเสนอรายงานข่าวจากสำนักข่าว the Associate Press ที่เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์หรือหลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่ผู้อ่านหรือผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์การรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จะสามารถนำไปคิดวิเคราะห์ตีความว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสนับสนุนให้จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ขณะเดียวกัน ผู้เขียนขอย้ำว่า ผู้เขียนไม่ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอหรือ “ข้อกล่าวหา” ดังกล่าวของพอล แฮนด์ลีย์  เพียงแต่อยากจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณา  ขณะเดียวกัน ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ก็ลงข้อความที่จอมพลเผ่า ศรียานนท์ให้สัมภาษณ์ในขณะที่ลี้ภัยหลังรัฐประหารว่า “….nobody can fight the military and the king.”  ที่อาจทำให้คนนำไปตีความแตกต่างไปในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้        

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

แต่ขณะเดียวกัน ข้อความดังกล่าวก็สามารถตีความไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้เช่นกัน.....หรือท่านผู้อ่านเห็นว่าอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม ถ้าสำรวจงานวิชาการ ตำรา บทความ ข้อเขียนต่างๆของนักเขียนและนักวิชาการไทยทั้งที่ตีพิมพ์และที่ปรากฏในโลกโซเชียลมีเดีย จะพบว่า  สาระสำคัญส่วนหนึ่งของงานเขียนเหล่านั้นล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากหนังสือต้องห้าม The King Never Smiles ของพอล แฮนด์ลีย์  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หนังสือต้องห้ามเล่มนี้คือต้นธารสำคัญอันหนึ่งของงานเขียนที่ให้ภาพลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร