posttoday

รัฐสภากับการปรับตัวสู่สังคมดิจิตอล (2)

16 มกราคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

****************

การปรับตัวของรัฐสภาไทยคือต้องเข้าใจ “การเมืองวิถีใหม่”

“การเมืองวิถีใหม่” ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจหรือการต่อสู้ทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของ “การเชื่อมโยงพลังอำนาจ” ให้เกิดประโยชน์กับการปกครองและการบริหารประเทศนั้นด้วย

คนที่เรียนรัฐศาสตร์มาในตำราเก่า ๆ มักจะยึดติดอยู่กับ “วงจรอำนาจ” ได้แก่ วิธีการได้มาซึ่งอำนาจ การรักษาอำนาจ และการเพิ่มพูน(หรือสืบทอด)อำนาจ จึงทำให้การเมืองถูกมองไปในแง่เลวร้าย เพราะ “การเมืองเก่า” ได้ส่งผลเสียหายต่อสังคมในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดระบบแข่งขันและเอารัดเอาเปรียบกันแล้ว ยังทำให้เกิดการต่อสู้ที่นำไปสู่การทำลายล้างซึ่งกันและกันนั้นด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ผู้เขียนได้ไปร่วมสัมมนาทางวิชาการของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association - APSA) ที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะสามารถเข้าร่วมในหัวข้อการสัมมนาได้เพียงบางส่วน เท่าที่จะเลือกเข้าฟังได้วันละ 3-4 เรื่อง ในเวลา 5-6 วันนั้น แต่เมื่อกลับมาก็ได้มาอ่านเอาเนื้อหาเพิ่มเติมจากเอกสารที่รวบรวมมาได้ ร่วมกับการเปิดอ่านหัวข้ออื่น ๆ ในเว็บไซต์ของผู้จัดงาน โดยเน้นไปในกลุ่มหัวข้อ “การเมืองในยุคดิจิตอล” ก็พอจะมีความเข้าใจได้ว่า การเมืองในยุคดิจิตอลนี้กำลังพัฒนาไปอย่างไร

คนจำนวนมากอาจจะให้ความสนใจในเรื่องของ Cyber War ที่เป็นเนื้อหาหลักส่วนหนึ่งของการเมืองในยุคดิจิตอล แต่ความจริงแล้ว Cyber War ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำลายล้างกันด้วยการล้วงข้อมูล การสร้างข้อมูลลวง และการแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ Cyber War ในการเมืองสมัยใหม่ยังเป็นเรื่องของการที่จะ “เจาะลึกและเชื่อมโยง” ที่จะเข้าถึงความต้องการและความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างกัน เพราะโลกดิจิตอลได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

แต่เดิมที่ “พื้นที่ทางสังคม” อยู่ในสถานที่เปิด ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และกลุ่มสมาคมต่าง ๆ ที่ผู้คนได้พบปะเห็นหน้าค่าตากันและกัน และมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง แต่ในโลกยุคดิจิตอลผู้คนได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารไปในโลกไซเบอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาพบปะหรือเผชิญหน้ากันและกัน หรือถ้าจะมีก็น้อยลงไป โดยที่ Cyber Technology ต่าง ๆ ได้เพิ่มบทบาทในการติดและและสื่อสารระหว่างผู้คนมากขึ้น ทำให้ “ภูมิทัศน์” ทางการเมืองการปกครองต้องเปลี่ยนไปด้วย

ตัวอย่างของภูมิทัศน์ทางการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เช่น แต่ก่อนเวลาที่จะต้องหาเสียงเลือกตั้ง ก็ต้องจัดเวทีปราศรัย มีขบวนกองเชียร์ออกเดินไปพบปะกับชาวบ้านตามชุมชนต่าง ๆ มีการติดป้ายโฆษณา และการซื้อเสียงแบบถึงเนื้อถึงตัว เป็นต้น แต่ในเวลานี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสื่อสารกับผู้เลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ให้มากขึ้น การสร้าง Content หรือเนื้อหาสาระของการหาเสียงก็เปลี่ยนไป ที่ก่อนหน้านี้ใช้การขายนโยบายและตัวผู้สมัครเป็นหลัก

แต่ในโลกดิจิตอลได้เปลี่ยนเป็น “การขายฝัน” หรือสร้างภาพผ่านการปลุกกระแสด้วยโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ที่เป็นเรื่องของ “ภาพลักษณ์” หรือ “ตัวตน” ของผู้สมัครนั้นมากกว่า รวมทั้งการซื้อเสียงที่เคยกระทำกันอย่างโจ๋งครึ่มแบบถึงเนื้อถึงตัวนั้น ก็สามารถหลบซ่อนไปซื้อขายกันในโลกไซเบอร์ที่มีแพลตฟอร์มที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้ “เนียน” และมีประสิทธิภาพมากกว่า

ในการสัมมนาของ APSA มีหัวข้อหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจมาก และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักการเมืองในยุคใหม่ที่รวมถึงการทำงานของสมาชิกรัฐสภาในยุคต่อไปนั้นด้วย นั่นก็คือ Pixel Politics ที่จะขอเรียกทัพศัพท์ไปเลยว่า “การเมืองแบบพิกเซล” โดยคณะผู้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ได้นำเสนอว่า การเมืองยุคดิจิตอลเป็นการเมืองที่ต้องให้ความสนใจใน “รายละเอียด” ของผู้คนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง เหมือนว่าการล้วงลึกลงไปใน “ทุกเม็ดสีของผืนภาพในสังคม” (Pixel = เม็ดสี)

โดยแนวคิดนี้มองว่าแต่ละสังคมก็คือรูปภาพ ๆ หนึ่ง ที่ประกอบด้วยเม็ดสียิบย่อยมากมาย ที่มีสีสันหลากหลาย แต่เมื่อมาประกอบกันก็ทำให้เป็นรูปภาพและเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนกันกับรูปถ่ายที่เราถ่ายด้วยระบบดิจิตอล (เช่น รูปถ่ายจากมือถือของเรา) หากใช้แว่นขายส่องดู ก็จะเห็นเม็ดสีเหล่านั้นมาเกาะเกี่ยวผสมผสานกัน ดังนั้นเมื่อเรานำแนวคิดนี้มาใช้กับสังคมการเมือง ก็จะทำให้เราสามารถมองการเมืองได้ลึกซึ้ง และทำความเข้าใจกับการเคลื่อนที่ทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างหนึ่งของการนำการเมืองแบบพิกเซลมาใช้นี้ก็คือ การใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่ต้องมีการสืบค้นข้อมูลของผู้เลือกตั้งอย่างละเอียด จนถึงขั้นที่มีการซื้อขายข้อมูลของผู้เลือกตั้ง ดังที่มีข่าวเรื่องการฟ้องร้องเฟสบุ๊คและบริษัทที่รับจ้างล้วงข้อมูลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อ 4 ปีก่อนนี้

นี่ก็เพราะว่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ มองเห็นว่าผู้เลือกตั้งแต่ละคนนั้นมีรสนิยม ค่านิยม ความเชื่อความคิด ตลอดจนการใช้ชีวิตของแต่ละคนนั้นอย่างไร ซึ่งผู้เลือกตั้งก็จะเลือกนโยบายหรือนำเสนอในสิ่งที่ “แต่ละคน” นั้นต้องการ ได้อย่าง “ถูกจุด - ถูกใจ” ไม่ต้องเหวี่ยงแหหรือสุ่มเสี่ยงในการลงทุนแบบ “มองไม่เห็นอะไร” นั้นอีกต่อไป ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสร้างความตัดสินใจให้กับผู้เลือกตั้ง เพราะเมื่อเข้าใจความต้องการและ “ความรู้สึกนึกคิด” ของผู้เลือกตั้งได้อย่างชัดเจนแล้ว การที่จะ “สร้างประเด็น” หรือ “ปลุกกระแส” ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็จะทำได้ง่ายขึ้น

การเมืองแบบพิกเซลในช่วงเวลานี้อาจจะยังคิดถึงการใช้ประโยชน์ในเรื่องการเอาชนะในการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่คณะผู้ศึกษายังนำเสนออีกด้วยว่า การเมืองแบบพิกเซลนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งกับการทำงานการเมืองอื่น ๆ ในโลกยุคใหม่นี้อีกด้วย โดยเฉพาะการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ที่ผู้เขียนจะขออธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า

พวกนักการเมืองแนวอนาล็อกจะได้รู้ว่า ทำไมในยุคหน้าจึงต้องยอมแพ้แก่นักการเมืองแนวดิจิตอล

*******************************