posttoday

โควิด19กับสิทธิการรักษา

15 มกราคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************

เวลานี้มีวิวาทะเล็กๆน้อยๆ ในสังคม หรือแม้แต่คนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ในประเด็นที่ว่าคนบางพวกที่ได้รับเชื้อโควิด 19 รอบที่สองนี้ รัฐควรรับผิดชอบในการจ่ายเงินให้เหมือนกับคนอื่น หรือพวกนี้ควรจ่ายเงินเอง

เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่สังคมตั้งคำถามขึ้นมาว่า ควรเอาภาษีของประชาชนไปรับผิดชอบกับพฤติกรรมของคนพวกนี้หรือไม่

ประเด็นนี้ดังขึ้นมาเมื่อรัฐมนตรีสาธารณสุข ท่านแสดงความเห็นส่วนตัวในลักษณะรำพึงรำพัน (แต่เหมือนจะเอาจริง) ว่า คนบางพวกที่ติดโควิด 19 คราวนี้ น่าจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายเอง

คนบางพวกที่ท่านพูดถึง เป็นที่เข้าใจว่า คือ คนที่ไปมั่วสุมในบ่อนการพนัน นอกจากตัวเองติดเชื้อมาจากบ่อนแล้วยังเอาเชื้อไปแพร่ให้กับคนอื่นด้วย

รวมทั้งคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาเองและนำเชื้อติดตัวมาด้วย เมื่อถูกตรวจพบและได้รับการรักษาแล้ว รัฐควรจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนพวกนี้ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร

การหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเขียน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และไม่ควรให้ผ่านไปเฉย ๆ บางคนบอกว่า ถ้ารัฐมนตรีไม่พูดขึ้นมาก็ไม่มีเรื่อง แต่เมื่อรัฐมนตรีพูด ก็มีคนเริ่มคิดและเริ่มเห็นด้วยกับรัฐมนตรี จึงต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกัน

เราเข้าใจรัฐมนตรีว่า ทำไมท่านถึงพูดเรื่องนี้ขึ้นมา หลังจากที่รัฐบาลและคนไทยร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดรอบแรกจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้รับคำชมจากทั่วโลก แต่อยู่ๆก็มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งที่สอง ซึ่งสรุปได้ว่า ไม่ใช่แพร่มาจากต่างประเทศเหมือนรอบแรก แต่ส่วนใหญ่เริ่มมาจาก

(1) คนที่เล่นพนันในบ่อน เช่น ที่บ่อนแถวพัทยา หรือบ่อนที่ชายแดนฝั่งกัมพูชา พม่า ใครๆก็รู้ว่าในบ่อนนั้นไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ไม่มีการรักษาระยะห่าง ตะโกนเชียร์กันอย่างสนุก

(2) คนไทยที่เป็นนายหน้าลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศ แล้วตัวเองไปติดเชื้อ และนำเชื้อกลับมาแพร่กับคนไทยในประเทศโดยไม่รู้ตัว ถือว่าเป็นตัวการสำคัญ

การลักลอบเล่นการพนัน ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เท่ากับคนพวกนี้ทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ต้องแยกให้ออก ระหว่างการรักษา และ ค่าใช้จ่าย เพราะไม่ว่าเป็นใคร มาจากไหน หากมาอยู่ในไทยและติดเชื้อด้วยเหตุผลใดๆ แพทย์ก็ต้องให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถ จนหายขาด ไม่มีเลือกปฏิบัติ แต่การรักษานั้นมีคำใช้จ่ายที่ต้องจ่ายจากภาษีของประชาชนหรือจากเงินกู้ยืม สมควรหรือไม่ ที่จะเอาเงินมาให้กับคนป่วยจากการทำผิดกฎหมาย

ในที่สุด เรื่องนี้ก็ต้องกางกฎหมายดู พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีสองมาตราที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 41 ( ซึ่งอ้างไปถึงมาตรา 40 ด้วย ) และ มาตรา 42

สรุปเป็นภาษาชาวบ้านสั้นที่สุด พอเข้าใจได้ว่า ตามกฎหมายดังกล่าว ทางการสามารถเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยโรคติดต่อและคนที่นำพามาได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศ

แต่มีคนเตือนว่า ระวังจะขัดกับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย" มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณะสุขของรัฐ

บุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณะสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย "

ตรงนี้แหละ ที่มีคนท้วงว่า รัฐไปเรียกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่ได้เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งใครก็รู้ว่า รัฐธรรมนูญนั้นสูงกว่ากฎหมายทั่วไป รัฐมนตรีสาธารณะสุขก็เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับในข้อนี้

เมื่อย้อนกลับไปดู"ความมุ่งหมาย"และคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของมาตรา 4 ระบุว่า " เป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับบริการสาธารณะสุขของรัฐ และได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ และคุ้มครองคนยากไร้ที่จะได้รับบริการสาธารณะสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย "

โดยมีคำอธิบายประกอบเพิ่มเติม ว่า บทบัญญัติลักษณะนี้ บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี2540 (มาตรา 41) และได้บัญญัติทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ยากไร้ให้กว้างขวางขึ้น จากเดิมที่เคยบัญญัติให้ผู้ยากไรมีสิทธิได้รับ"การรักษาพยาบาล" จากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจำกัดเฉพาะแต่การรักษาพยาบาล เป็นมีสิทธิได้รับ"การบริการสาธารณสุขของรัฐ"โดยไม่เสียคำใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการบริการรักษาที่กว้างขวางกว่าการรักษาพยาบาล

แต่เพื่อมิให้เป็นภาระแก่รัฐทันทีทันใดจนเกินขีดความสามารถ จึงได้กำหนดให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อรัฐจักได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนให้เหมาะสมกับความพร้อมของรัฐได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายออกมากำหนด สิทธิของคนยากจนที่จะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ย่อม เกิดขึ้นทันทีตามหลักการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา คิดแต่จะช่วย"คนยากไร้"ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยอื่น ๆ แต่คงนึกไม่ถึงว่าจะมีโรคโควิด 19 ระบาด และมีคนติดโรคจากการไปเล่นการพนัน หรือลักลอบนำต่างด้าวเข้าเมือง แล้วนำมาแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ถ้ารู้ว่าเรื่องแบบนี้จะกิดขึ้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงหาทางป้องกันได้มากกว่านี้

ต้องฝากให้เป็นภาระของคณะกรรมาธิการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ คณะร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่าจะหาทางออกอย่างไรหากเกิดเรื่องทำนองนี้อีก