posttoday

พ่อแห่งแผ่นดิน:แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ:เหตุผลและข้อโต้แย้ง (5)

14 มกราคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

คติการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ของอังกฤษหรือที่เรียกว่าระบอบ “ปิตาธิปไตยนิยม” (Patriarchalism) เป็นคติการปกครองที่แพร่หลายในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นผลพวงจากพัฒนาการของทฤษฎีการปกครองแบบเทวสิทธิ์ (divine right) ดั้งเดิมในยุโรปที่อธิบายว่า อำนาจการปกครองของกษัตริย์มาจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าผ่านสันตะปาปา

แต่หลังจากการปฏิรูปศาสนา ทฤษฎีเทวสิทธิ์ได้ปรับตัวพัฒนามาเป็นการอ้างอิงดูจะมีเหตุมีผลมากขึ้น หลุดตัวออกจากอิทธิพลของสันตะปาปา หันมาอิงอยู่ภายใต้อิทธิพลของคัมภีร์ไบเบิลโดยชี้ให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าให้อาดัมในฐานะที่เป็นบิดาคนแรกของมนุษย์มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะปกครองบุตรและครอบครัวของเขา และนักคิดที่นิยมแนวปิตาธิปไตยนี้ก็ตีความว่า นอกจากอาดัมจะเป็นพ่อคนแรกแล้ว ยังเป็นกษัตริย์หรือผู้ปกครองคนแรกเหนือมวลมนุษย์ด้วยกันด้วย

นอกจากครอบครัวจะเป็นครอบครัวอย่างที่เราเข้าใจกันแล้ว ครอบครัวยังถูกตีความว่าเป็นหน่วยการปกครองหรือรูปแบบการปกครองแบบแรกและแบบเดียวที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ถูกมนุษย์ใช้เป็นกรอบในการปกครองดูแลเหนือมวลมนุษย์ด้วยกันด้วย

ขณะเดียวกัน เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ความสัมพันธ์แบบครอบครัวหรือครอบครัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในทุกหนทุกแห่งในโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ ไม่เฉพาะแต่ชาวคริสต์เท่านั้น ดังนั้น ครอบครัวจึงถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่สำหรับชาวคริสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นล้วนเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า “กฎธรรมชาติ” (the law of nature) และผู้ที่สร้างกฎธรรมชาติขึ้นมาก็คือ พระผู้เป็นเจ้า นั่นเอง

ดังนั้น แนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยนี้ แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากการตีความคัมภีร์ไบเบิลของนักคิดในคริตศาสนา โดยเฉพาะอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด แต่ผลพวงของแนวคิดนี้สามารถอธิบายและปรับใช้ครอบคลุมกับผู้คนนอกเหนือชุมชนชาวคริสต์ด้วย โดยการอ้างเรื่องกฎธรรมชาติและความเป็นธรรมชาติของครอบครัว ดังนั้น พันธะผูกพันของประชาชนผู้ใต้ปกครองต่อกษัตริย์จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่เป็นชาวคริสต์ที่นับถือพระผู้เป็นเจ้า อำนาจของกษัตริย์มาจากกฎธรรมชาติ (the law of nature) เป็นสำคัญ ไม่ได้มาจากพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (the law of grace) เท่านั้น ดังนั้น ผู้คนอื่นๆก็จะต้องเคารพเชื่อฟังอำนาจของกษัตริย์ ด้วยอำนาจของพระองค์เป็นอำนาจของผู้เป็นพ่อแห่งแผ่นดิน ทรงไว้ซึ่ง “ปิตานุภาพ” และครอบครัวก็เป็นความสัมพันธ์ตามธรรมชาติภายใต้กฎธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงไม่มีอำนาจอันชอบธรรมใดๆที่จะฝ่าฝืนหรือบังคับองค์พระมหากษัตริย์ อำนาจของกษัตริย์จะถูกจำกัดได้เพียงเงื่อนไขหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ถูกจำกัดโดยพระผู้เป็นเจ้า

จากคติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง ทรงใช้พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษถึงสี่ครั้ง นั่นคือ ปี ค.ศ. 1625 ค.ศ. 1626 ค.ศ. 1629 และ ค.ศ. 1641 และอธิบายการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวของพระองค์ว่า พระองค์ไม่จำเป็นต้องแถลงให้เหตุผลใดๆในการยุบสภา เพราะพระองค์ทรงรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ถ้าเปรียบเทียบกับระบอบการเมืองการปกครองสมัยใหม่ อันได้แก่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ประมุขฝ่ายบริหารไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจโดยผ่านการลงคะแนนเสียงข้างมากของบรรดาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส.ในสภา แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขของฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ การกระทำใดๆของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรมีข้อสงสัยหรือร้องขอให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อสภาฯ แต่ในสมัยของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏชัดเจนว่าเขามิได้สนใจที่จะรับผิดชอบต่อสภาฯ ไม่สนใจที่จะมาแถลงชี้แจงข้อซักถามของสภาฯ

ยิ่งกว่านั้น ในกรณีข้อกล่าวหาการซื้อขายหุ้นโดยเลี่ยงภาษีของครอบครัวของเขา นอกจากเขาจะไม่สนใจชี้แจงต่อสภาฯแล้ว เขายังกลับใช้อำนาจยุบสภาโดยไม่มีคำอธิบายที่มีเหตุผลใดๆเลยด้วยซ้ำ น่าสังเกตว่า การใช้อำนาจของ ทักษิณ ชินวัตรในฐานะนายกรัฐมนตรี ดูจะไม่ต่างจากการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดเลย

อย่างไรก็ตาม กลับมาที่ข้อจำกัดของพระราชอำนาจในพระมหากษัตริย์อังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด ข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นก็คือ คำกล่าวที่ว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดโดยพระผู้เป็นเจ้า และพระบรมราชโองการทั้งหลายแหล่ที่พระองค์ทรงออกมานั้น พระองค์ทรงรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น หมายความอย่างไรภายใต้คติการปกครองแบบ “ปิตาธิปไตยนิยม” นี้ ?

การใช้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์จะต้องถูกจำกัดภายใต้พระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ การกระทำทั้งหลายแหล่ของพระองค์จะต้องอยู่ภายใต้กฎของพระผู้เป็นเจ้า (divine law) ซึ่งอยู่เหนือพระราชอำนาจที่มาจากกฎธรรมชาติ (the law of nature) สำหรับขุนนาง พระและไพร่ฟ้าราษฎร หากพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ขัดกับกฎของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็จำเป็นต้องไม่เชื่อฟังพระมหากษัตริย์ เพราะกฎของพระผู้เป็นเจ้าคือกฎที่มนุษย์ทุกคนต้องเคารพเชื่อฟัง และรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วยที่จะต้องเคารพในกฎของพระผู้เป็นเจ้า

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ทอมัส มอร์ตัน (Thomas Morton: 1564-1659) บิชอบแห่งดาเริ่มและเชสเตอร์ (Bishop of Durham and Chester) ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อไรก็ตามและอะไรก็ตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนด หากมีอำนาจใดๆในโลกขัดขวางต่อต้านเจตจำนงของพระองค์ อำนาจนั้นและกษัตริย์องค์ใดก็ตาม จะต้องถูกปฏิเสธ” หากกษัตริย์องค์ใดบอกให้ท่านโกหก หรือหมิ่นศาสนา ท่านมีหน้าที่ที่จะต้องไม่เชื่อฟังเขา

และเช่นเดียวกัน เดวิด โอเวน------ผู้เคยออกมาประกาศว่า พระมหากษัตริย์ (พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง) คือพ่อของแผ่นดินของพระองค์ (The King was the father of his country.) ได้เคยเขียนไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทั้งหลายได้รับมอบอำนาจอันชอบธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นตัวแทนของพระองค์บนโลกนี้ ที่จะรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆของเหล่ามนุษย์ผู้ซึ่งล้วนเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”-------เขาได้กล่าวสรุปถึงทัศนะที่เกี่ยวกับข้อจำกัดของพระราชอำนาจไว้ว่า “ไพร่ฟ้าราษฎรจะต้องไม่เชื่อฟังคำสั่งของกษัตริย์ หากขัดต่อพระผู้เป็นเจ้า” และทัศนะดังกล่าวนี้เป็นที่ยึดถือกันทั่วไปในศาสนจักร

กล่าวได้ว่า พระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด ไม่มีผู้ใดและอำนาจใดๆที่จะมีความชอบธรรมในการขัดขวางต่อต้านพระราชอำนาจของพระองค์ได้ นอกจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นกฎของพระองค์หรือบัญญัติที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล

ดังนั้น การที่พระ ขุนนางและไพร่ฟ้าประชาชนจะขัดขืนไม่เชื่อฟังพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ได้ด้วยถือว่าเป็นการขัดขืนเพื่อพิทักษ์รักษากฎแห่งศีลธรรมที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดไว้เท่านั้นและถ้าการขัดขืนไม่เชื่อฟังกฎหมายและอำนาจรัฐในระบอบการปกครองปัจจุบันถูกเรียกว่า “อารยะขัดขืน” หรือ “civic disobedience” หรือ “การขัดขืนของพลเมือง”

สิทธิในการขัดขืนไม่เชื่อฟังพระราชอำนาจ พระราชบัญญัติและพระบรมราชโองการขององค์พระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดยามเมื่อพระราชอำนาจและกฎหมายเหล่านั้นขัดแย้งต่อกฎของพระผู้เป็นเจ้าจึงไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะไพร่ฟ้าราษฎรเท่านั้น และการขัดขืนดังกล่าวย่อมไม่สมควรถูกเรียกว่า “การขัดขืนของไพร่” (subjects disobedience) เพราะสิทธิดังกล่าวนี้ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนที่เป็นชาวคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นไพร่ เจ้า ขุนนางและพระ เพราะการขัดขืนไม่เชื่อฟังอำนาจรัฐนี้เกิดขึ้นได้จากการอ้างความเคารพเชื่อฟังที่ขึ้นต่ออำนาจสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า

ดังนั้น การขัดขืนนี้ก็อาจจะถูกเรียกว่าเป็น “เทวะขัดขืน” หรือการขัดขืนพระมหากษัตริย์หรือกฎหมายบ้านเมือง เพราะเคารพเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า (divine disobedience)