posttoday

คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอังกฤษ

10 ธันวาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********

การค้นพบความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องพิมพ์ ตลอดจนการค้นพบอะไรอีกมากมายในยุโรปศตวรรษที่ห้า-สิบหกหรือการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ได้ส่งผลให้กระทบต่อคติการปกครองที่ดำรงอยู่ นั่นคือ คติการปกครองแบบเทวสิทธิ์ที่ให้ความชอบธรรมต่อพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้นักคิดในอังกฤษอย่างโทมัส ฮอบส์ได้สร้างทฤษฎีการเมืองแนวสัญญาประชาคมที่กล่าวว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกิดจากการที่ประชาชนถ่ายโอนให้ และเซอร์โรเบริต์ ฟิลเมอร์ ก็เป็นนักคิดชาวอังกฤษร่วมสมัยของฮอบส์ที่สร้างทฤษฎีหรือคติการปกครองใหม่มาแทนที่เทวสิทธิ์ นั่นคือ คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และแม้ว่าฮอบส์และฟิลเมอร์จะเสนอคติการปกครองที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็ยังสนับสนุนการปกครองแบบราชาธิปไตย

เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer: 1588-1653) ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งในช่วงต้นรัชกาลของพระองค์ ฟิลเมอร์ได้ชื่อว่าป็นขุนนางผู้จงรักภักดีและมุ่งปกป้องพระราชอำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์ไว้อย่างแรงกล้า ฟิลเมอร์เขียนหนังสือชื่อ Patriarcha or the Natural Power of Kings หรือ “ปิตาธิปไตย: อำนาจตามธรรมชาติของพระมหากษัตริย์” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1680  ถือเป็นต้นกำเนิดแนวคิดการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอังกฤษ

ฟิลเมอร์ตระหนักดีถึงความเสื่อมของทฤษฎีเทวสิทธิ์ดั้งเดิมที่อำนาจอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์ได้รับมอบฉันทะมาจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่สามารถยอมรับทฤษฎีการเมืองใหม่ของฮอบส์ที่มีสมมุติฐานว่า ในสภาวะธรรมชาติแรกเริ่ม มนุษย์แต่ละคนมีอิสรเสรีที่จะทำอะไรตามอำเภอใจได้โดยไม่ขึ้นกับใครเลย เพราะฟิลเมอร์เห็นว่า ทุกคนเกิดมาต้องมีพ่อ และอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของผู้เป็นบิดาซึ่งมีอำนาจปกครองเหนือบุตรและคนในครอบครัวของเขาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว (natural power)

ความสัมพันธ์ทางครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่ไม่มีบุตรคนใดปฏิเสธไม่เชื่อฟังอำนาจของบิดาของเขาได้ แต่ก่อนที่ฟิลเมอร์จะโยงอำนาจอันชอบธรรมของบิดาที่มีต่อบุตรไปสู่อำนาจอันชอบธรรมทางการปกครองของกษัตริย์ที่มีต่อไพร่ฟ้าประชาชนประดุจพ่อปกครองลูกนั้น เขาจำต้องหาทางแก้ปมปัญหาในคำสอนของคริสตจักรก่อนหน้านี้ที่ยืนยันว่า ไม่มีมนุษย์คนใดมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะปกครองเหนือมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองเหนือมวลมนุษย์เป็นของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

ฟิลเมอร์ชวนให้พิจารณาเรื่องราวในไบเบิ้ล (จากการปฏิวัติการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ในศตวรรษที่สิบห้า ทำให้ไบเบิ้ลแพร่หลายเข้าถึงผู้คนทั่วไปได้) โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาให้ดี ตามไบเบิ้ล จะพบว่ามีอยู่กรณีหนึ่งเดียวที่พระผู้เป็นเจ้ายอมให้มนุษย์สามารถมีอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองดูแลเหนือมนุษย์ด้วยกัน และกรณีที่ว่านี้ก็คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั่นเอง ด้วยพระองค์ทรงกำหนดให้อาดัมในฐานะบิดาปกครองดูแลและมีอำนาจเหนือบุตรของเขา และเมื่อบุตรของอาดัมมีครอบครัว บุตรของบุตรของอาดัมก็ต้องเคารพเชื่อฟังผู้เป็นบิดาของพวกเขาต่อๆไป

ฟิลเมอร์กล่าวว่า ถ้าจะมีรูปแบบการปกครองใดที่มนุษย์ปกครองมนุษย์ด้วยกันเองตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า รูปแบบการปกครองนั้นก็คือ การปกครองแบบครอบครัวนั่นเอง ครอบครัวเป็นรูปแบบการปกครองแรกที่ปรากฏในไบเบิ้ล และเป็นรูปแบบการปกครองหนึ่งเดียวที่เป็นไปตามเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า และจากนี้ฟิลเมอร์ถึงได้เชื่อมโยงเข้าสู่การปกครองของพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวว่า หากพระมหากษัตริย์ปกครองไพร่ฟ้าประชาชนอย่างบิดาปกครองบุตร พระองค์ย่อมมีอำนาจอันชอบธรรมเหนือประชาชน และประชาชนจะต้องเคารพเชื่อฟังกษัตริย์ในฐานะบิดาของพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะการไม่เชื่อฟัง “บิดา” ย่อมถือเป็นการขัดต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ฟิลเมอร์ กล่าวอ้างว่า กษัตริย์ทั้งหลายปกครองในฐานะผู้สืบทอดอำนาจการปกครองเหนือมนุษย์ด้วยกันตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้ไว้ครั้งแรกและครั้งเดียวแก่อาดัมในตอนสร้างโลก โดยเขาได้ให้เหตุผลสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวของเขาโดยการอธิบายถึงกฎระเบียบทางการเมืองการปกครองในรูปแบบของสัญลักษณ์ของครอบครัวดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า อำนาจอันชอบธรรมทางการปกครองนั้นเหมือนกันกับอำนาจที่บิดาปกครองดูแลเหนือสมาชิกในครอบครัวของเขา

คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอังกฤษ

ฟิลเมอร์เห็นว่า ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของอำนาจอันชอบธรรมของผู้เป็นบิดาคือ อำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจตามธรรมชาติ และไม่มีอะไรจะมาจำกัดอำนาจนี้ได้ในแรกเริ่ม การจำกัดอำนาจของบิดาถือเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ และจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อการจำกัดอำนาจนั้นไม่ขัดต่อธรรมชาติของความเป็นพ่อ

ดังนั้น เมื่อประยุกต์แนวคิดแบบนี้ในทางการเมือง จึงสื่อนัยความหมายว่า การปกครองในรูปแบบราชาธิปไตยเป็นสถาบันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และคนที่อ้างว่า อำนาจทางการเมืองการปกครองจะต้องมีขอบเขตจำกัดนั้นจำเป็นจะต้องหาทางพิสูจน์หักล้างคำกล่าวอ้างดังกล่าวของเขานี้ให้ได้

นอกจากอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองของกษัตริย์ในฐานะบิดาของประชาชนนั้นจะเป็นอำนาจตามกฎธรรมชาติแล้ว ที่สำคัญ กฎธรรมชาติหรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นและดำเนินไปตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่เหนือกฎธรรมชาติอีกทีหนึ่ง แนวคิดที่ว่ากฎธรรมชาติเกิดขึ้นโดยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือเป็นไปตามกฎของพระผู้เป็นเจ้านี้มีต้นกำเนิดที่ชัดเจนและเป็นระบบในทฤษฏีการเมืองของเซนต์โทมัส อไควนัส (ค.ศ. 1225-1274)

ดังนั้น ในแง่นี้ ทฤษฎี “ปิตาธิปไตย” หรือการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของฟิลเมอร์จึงยังคงจัดได้ว่าเป็นทฤษฎีแนวเทวสิทธิ์ (Divine Right) แต่ไม่ใช่เทวสิทธิ์โดยตรงในแบบดั้งเดิม ที่กษัตริย์ได้รับมอบอำนาจผ่านสันตะปาปา แต่เป็นเทวสิทธิ์ที่ประยุกต์ขึ้นจากการปกครองตามเรื่องราวในไบเบิ้ล โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องครอบครัว

ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ในบริบทของยุโรปที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคริสตศาสนานั้น เพียงการปรับเอาสัญลักษณ์การปกครองในแบบครอบครัวมาใช้ในทางการเมืองนั้นยังไม่เพียงพอ และตรงจุดนี้เองที่ฟิลเมอร์จำเป็นต้องนำเอาเรื่องอำนาจของอาดัมในฐานะบิดาและเป็นมนุษย์คนแรกที่ปกครองเหนือมนุษย์ด้วยกันมาอ้างถึง ในขณะที่ในบริบทศาสนาความเชื่อของไทย แนวคิดเรื่องการปกครองแบบพ่อปกครองลูกไม่จำเป็นต้องอ้างอิงไปถึงเจตจำนงของพระเจ้าที่ไหน เพียงแต่ปรับเอาสัญลักษณ์การปกครองในแบบครอบครัวมาใช้ก็พอ

ในการมองเรื่องอำนาจสูงสุดทางการเมืองการปกครองย้อนกลับไปถึงสวนอีเดนในคัมภีร์ไบเบิ้ล ฟิลเมอร์อ้างโดยนัยว่า มาตรฐานหรือความถูกต้องต่างๆที่ได้ถูกจัดตั้งโดยพระผู้เป็นเจ้าในตอนกำเนิดโลกนั้นจะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญที่ใช้ตัดสินการกระทำและสถาบันต่างๆในเวลาต่อมา ดังนั้น แนวความคิดเรื่องความถูกต้องชอบธรรมทางการเมืองการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรนี้ จึงเป็นแนวคิดที่ได้รับความชอบธรรมจากการอ้างประเด็นของการกำเนิดมนุษย์และครอบครัวและการสืบสานต่อๆกันมา (genetic justification)

แนวคิดนี้ยืนยันในเรื่องของหน้าที่ของผู้คนที่ต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง โดยอ้างจากต้นกำเนิดของ “ครอบครัว” ในฐานะที่เป็นรูปแบบการปกครองและหน่วยทาง “สังคมการเมือง” ที่ชอบธรรมหนึ่งเดียวในไบเบิ้ล และด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจอันชอบธรรมของความเป็นพ่อที่ผู้เป็นบุตรในครอบครัวมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงทำให้ฟิลเมอร์สามารถนำไปสนับสนุนการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์อังกฤษ โดยปฏิเสธคำอธิบายของ ฮอบส์ ที่ว่า อำนาจสูงสุดขององค์พระมหากษัตริย์นั้นมีที่มาจากปวงประชาชน

จะเห็นได้ว่า ในการรับมือกับวิกฤตที่มาพร้อมกับภาวะสมัยใหม่ (modernity) ทฤษฎีการเมืองของฟิลเมอร์ถือได้ว่าเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายในการรักษาหลักการของระบอบกษัตริย์อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดไว้ด้วยการประยุกต์วิธีคิดแบบโบราณ ในขณะที่ทฤษฎีการเมืองของฮอบส์ถือเป็นชัยชนะในการอธิบายรูปแบบการปกครองเดียวกันด้วยวิธีคิดสมัยใหม่ และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ในปี ค.ศ. 1689 เก้าปีหลังจากการตีพิมพ์ Patriarcha ของฟิลเมอร์ ทำให้จอห์น ล็อก (John Locke) สหายคนสำคัญของเซอร์ไอแซค นิวตันต้องลุกขึ้นมาตอบโต้ทั้งฮอบส์และฟิลเมอร์ ล็อกปฏิเสธทั้งสอง เพราะเขาไม่ยอมรับทฤษฎีการเมืองใหม่ของฮอบส์ที่ยังสนับสนุนระบอบกษัตริย์อำนาจสมบูรณ์เด็ดขาดอยู่และก็ไม่สามารถยอมรับวิธีคิดใหม่ที่ยังอิงแบบโบราณของฟิลเมอร์ได้อีกต่อไป

แต่มีประเด็นชวนสังเกตคือ หากเปรียบเทียบการอุบัติขึ้นของคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของอังกฤษและของไทย จะพบว่า ของอังกฤษเกิดในศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต่ของไทยมีมาตั้งแต่ยุคพ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัย ที่จารึกไว้ในหลักศิลาจารึก แต่หลักศิลาจารึกก็กลับเพิ่งถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2376 โดยรัชกาลที่สี่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ และคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกจากศิลาจารึกนั้นถูกทำให้ชัดเจนโดยหลวงวิจิตรวาทการในอีกร้อยปีต่อมา

แต่คำอธิบายคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของไทย ฟังดูไม่ค่อยจะทำให้เข้าใจว่าปกครองราษฎรอย่างลูกยังไง ? โดยในวิกิพีเดียได้กล่าวว่า “เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ ‘พ่อปกครองลูก’ ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า คำพูด ‘....เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู..

ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว”

ดูจะเป็นการที่พ่อขุนรามคำแห่งแสดงความเคารพต่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระบิดาของพระองค์ ไม่ได้สื่อถึงการที่พระองค์ปฏิบัติต่อราษฎรเยี่ยงบุตรแต่อย่างใด

และที่สำคัญคือ ไม่ปรากฎหลักฐานพาดพิงเกี่ยวกับคติพ่อปกครองลูกตลอดสมัยอยุธยา คำถามคือ หลังจากสุโขทัย คติดังกล่าวนี้ได้หายไปจากความทรงจำไปได้อย่างไร

ข้อความจากศิลาจารึก หลักที่ 1

(หน้าที่ 1) พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อ นางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้อง ท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตาย จากเผือเตียมแต่ยังเด็ก เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาที่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามขนหัวซ้ายขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อข้างด้วย ขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนีพ่อกูจึงขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน

เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้าง ได้กูเอามาแก่พ่อกู กูไปที่บ้านที่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงินได้ท้อง กูเอามาเวนแก่พ่อกู พ่อกูตาย บยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กู บำเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม(สิ้นความที่จารึกไว้เดิม ความต่อไปนี้เป็นจารึกที่ทำต่อมาภายหลัง

เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนั้นดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลูทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใครค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส

ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ ล้มตายหายกว่า เหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอ ลูกเมีย เยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลูพ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุนผิดแลผิดแผกแสก ว้างกัน สวนดูแท้แล้จึงแล่งความแก่ข้าด้วยชื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใครเดือด คนใดขี้ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟื้อกู้ มันบ่มีช้างบ่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงินบ่มีทอง ให้แก่กัน ช่วยกันตวงเป็นบ้านเป็นเมือง ได้ข้าเสือกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี

ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้

(หน้าที่ 4 ) ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยชื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้ จึงชม สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลาง ก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน กลางเมืองสุโขทัยนี้มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี ดังกินน้ำโขง เมื่อแล้งรอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักอวยทานพ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน

เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่ง จึงเมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ยมีพนมหมากมีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอน บริพานกฐินอวยทาน แล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกัน แต่อรํญิกพู้นเท้าหัวลานดํบงคกลอย ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื่อนเลื่อน เมืองสุโขทัยนี้มีปากประตูหลวง เทียรบย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก

กลางเมือง สุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทรอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครู... มีเถร มีมหาเถร

เบื้องตะวันเมืองสุโขทัย มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหง กระทำอวยทานแก่มหาเถร สังฆราชปราชญเรียนจบปิฏกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนทุกแต่เมืองศรีธรรมราชามา ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันหนึ่ง มนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารศอันหนึ่งลุกยืน

เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้ มีพิการ มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพูล มีไร่ มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง

(หน้าที่ 3) เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลานปสาน มีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมาก พร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก

เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏีพิหารปู้ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผี ในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยวง เมืองนี้สีดี ผีไหว้ปดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย

1214 ศกปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยนี้ปลุกไม้ ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันเขดานหินตั้งหว่าง กลางไม้ตาลนี้ วัน เดือน ดับเดือนออกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปกดวน ฝูงปู่ครูเถรมหาเภรขึ้นนั่งเหนือดานหิน สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วยจำศีล ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขดานหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านเมืองถือเมืองกัน วันเดือนดับเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยาง เทียรย่อมทองงา ...ขวาชื่อรูจาศรีพ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปบนพระ.....อรัญญิกแล้วเข้ามา

จารึกอันหนึ่ง มีในเชลียง สถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุฯ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำ ถือถ้ำพระราม อยู่ฝั่งน้ำสัมพาย จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร ในกลวงป่าตาลนี้ มีศาลาสองอัน อันหนึ่งชื่อศาลาพระมาส อันหนึ่งชื่อพุทธศาลาขดานหินนี้ ชื่อ มะนังศิลาบาตร สถาบกไว้นี่ จึงทั้งหลายเห็น

(หน้าที่ 4) พ่อขุนพระรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ทั้งมากาวลาวและไทย เมืองไค้หล้าฟ้า.... ไทยชาวอูซาวของมาออก 1207 ศกปีกุน ให้ขุดเอาพระธาตุออกทั้งหลายเห็น กระทำบูชาบำเรอ แก่พระธาตุได้เดือนหกวัน จึงเอาฝังในกลางเมืองศรีสัชนาลัย ก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้าจึงแล้ว ตั้งเวียงผาล้อมพระมหาธาตุสามเข้าจึงแล้ว

เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี 1205 ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ พ่อขุนรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระยาแก่ไทยทั้งหลาย หากเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทย ด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าศึก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแคว ลุมบาจายสคาเท้าฝั่งของ ถึงเวียงจันทร์เวียงคำ เป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอด คนทีพระบางแพรกสุวรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอด เมือง....หงสาวดี สมุทรห้าเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองน่าน เมือง.... เมืองพลัวพ้นฝั่งของ เมืองชะวา เป็นที่แล้วปลุกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้น ชอบด้วยธรรมทุกคน

****************************