posttoday

ล้มวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่ล้มสถาบันฯ

03 ธันวาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

ก่อนที่ระบอบการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ของไทยจะเผชิญกับการท้าทาย อันเนื่องมาจากอิทธิพลของความเป็นสมัยใหม่จากยุโรปตะวันตก การปกครองโดยพระมหากษัตริย์ของยุโรปเองก็ต้องเผชิญและผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นจากความเป็นสมัยใหม่มาก่อน ซึ่งเดิมทีความชอบธรรมของอำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์ยุโรปในช่วงก่อนศตวรรษที่สิบเจ็ดอิงแอบกับอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าโดยผ่านคริสตจักร อันมีสันตะปาปาเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ

ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองรัฐของตนจะต้องได้รับการยอมรับจากสันตะปาปาซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า สิทธิในการปกครองของพระมหากษัตริย์จึงเป็นเพียงสิทธิที่ได้รับมอบฉันทะมาจากที่อื่น

พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีสิทธิอันชอบธรรมโดยตัวพระองค์เองในการปกครองไพร่ฟ้าราษฎรของตน เพราะตามความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ไม่มีมนุษย์คนใดมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะปกครองมนุษย์ด้วยกัน ด้วยพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการดูแลปกครองมวลมนุษย์ทั้งหลายที่เปรียบเสมือนบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ที่ต่างก็เสมอกันต่อหน้าพระองค์ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดหรือทฤษฎีทางการปกครองดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า ทฤษฎีเทวสิทธิ์ (divine right)

แต่หลังจากที่กาลิเลโอค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด ความชอบธรรมของคติการปกครองแบบศาสนาก็เริ่มเสื่อมลง เพราะสิ่งที่กาลิเลโอค้นพบนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็น “ความจริง” ตามที่คริสต์ศาสนาได้บอกไว้กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในขณะที่คริสต์ศาสนาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกให้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล อีกทั้งสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกและจักรวาลต่างเคลื่อนไหวดำเนินไปตามพระประสงค์หรือเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า แต่กาลิเลโอได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล อีกทั้งการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งนั้นดำเนินไปตามกฎแรงโน้มถ่วงของโลก หาได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าไม่

ล้มวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่ล้มสถาบันฯ

                                                      กาลิเลโอ

เมื่อคริสต์ศาสนาและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเริ่มถูกสั่นคลอน คำอธิบายหรือวาทกรรมที่อธิบายให้ความชอบธรรมต่อผู้ปกครองและการใช้อำนาจทางการเมืองที่อิงอยู่กับคริสตศาสนาก็เริ่มหมดความน่าเชื่อถือไปด้วย นักคิดทางการเมืองในยุโรปศตวรรษที่สิบเจ็ด-สิบแปดจึงต้องเริ่มคิดหาคำอธิบายหรือสร้างวาทกรรมทางการเมืองการปกครองชุดใหม่ขึ้น

ขณะเดียวกัน การค้นพบของกาลิเลโอก็ได้กลายเป็นพลังดึงดูดสำคัญต่อนักคิดต่างๆในยุโรป โดยเฉพาะนักคิดทางการเมืองในอังกฤษอย่างโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679) ถึงขนาดที่เขาเดินทางไปขอพบกาลิเลโอในราวปี ค.ศ. 1634-1636 ซึ่งขณะนั้น ฮอบส์มีอายุราวสี่สิบหกปีในขณะที่กาลิเลโออายุเจ็ดสิบ และหลังจากนั้น มีคนเชื่อว่า ฮอบส์ได้นำกรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์ของกาลิเลโอมา สร้างทฤษฎีการเมืองของเขาในหนังสือชื่อ Leviathan ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1651

ล้มวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่ล้มสถาบันฯ

ลายมือของ ฮอบส์ ที่เขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเคลื่อนไหวของวัตถุของกาลิเลโอ

ฮอบส์ชี้ให้เห็นที่มาของความคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและการเกิดศาสนา โดยเขาอธิบายว่า มนุษย์มีความกลัวและกระวนกระวายใจอันเกิดจากความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนในอนาคต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กังวลใจกับความไม่แน่นอนนั่นเอง

ความกังวลใจต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนนี้เป็นพลังขับเคลื่อนให้มนุษย์พยายามหาคำตอบต่อสาเหตุของสรรพสิ่งต่างๆ เพราะการมีความรู้ดังกล่าวจะทำให้มนุษย์สามารถจัดการกับปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับตัวเขาได้ดีกว่าการไม่รู้ และเมื่อมนุษย์เริ่มตั้งต้นแสวงหาความรู้แห่งปฐมเหตุ ท้ายที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องลงเอยกับความคิดที่เชื่อใน “ต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่งทั้งหลาย” นั่นคือ มนุษย์ยากที่จะหนีความคิดความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าในฐานะที่เป็น “ปฐมเหตุของสรรพสิ่ง” ที่ “อมตะเที่ยงแท้แน่นอนนิรันดร์กาล” ฮอบส์ยืนยันว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการสืบค้นลงลึกต่อปฐมเหตุแห่งธรรมชาติ โดยไม่ลงเอยที่จะเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียวผู้ทรงนิรันดร์กาล

ฮอบส์ชี้ว่า ผู้คนที่ไม่ได้สืบค้นถึงสาเหตุต่างๆแห่งสรรพสิ่งในธรรมชาติหรือไม่สืบค้นอย่างเอาจริงเอาจังมักจะลงเอยกับความคิดความเชื่อที่ว่า มันมีอำนาจอะไรบางอย่างที่จะสามารถให้คุณให้โทษพวกเขาได้ และมักจะเชื่อว่า อำนาจที่ว่านี้มีหลายชนิดและเป็นอำนาจที่ไม่สามารถประจักษ์ได้ และสาเหตุที่มนุษย์ลงเอยกับความเชื่อที่ว่านี้ก็เป็นเพราะความไม่รู้ที่นำไปสู่ความกลัวและความกังวลเป็นสำคัญ

และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้มนุษย์ได้สร้างพระผู้เป็นเจ้าหรือเทพเจ้าต่างๆขึ้นมาในโลก และความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นนี้เองที่เป็นผลพวงจากธรรมชาติ โดยเฉพาะความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น และเป็นที่มาของสิ่งที่มนุษย์เรียกว่า ศาสนา ซึ่งมนุษย์ได้ต่อเติมเสริมแต่งและจินตนาการกฎเกณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าและเทพเจ้าขึ้นมาด้วยฝีมือของมนุษย์เอง อันนำมาซึ่งคำอธิบายถึงสาเหตุต่างๆที่จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งมนุษย์นำมาตั้งเป็นหลักเกณฑ์ในการปกครองมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นที่มาของการใช้อำนาจอันยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือ การใช้อำนาจในนามของอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

ความกลัวความไม่แน่นอนนำพาให้มนุษย์ลงเอยกับความเชื่อในพระเจ้าและผลพวงของการมีอยู่ของศาสนา ซึ่งฮอบส์ชี้ว่า “ความไม่รู้...นำมนุษย์ไปสู่ความเชื่ออะไรง่ายๆและงมงาย ” ทำให้มนุษย์เชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างมากมาย และความงมงาย-เชื่ออะไรง่ายๆนำมนุษย์ไปสู่การโกหก และเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวต่างๆขึ้นมา และเชื่อในสิ่งเหล่านี้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ฮอบส์จึงไม่สามารถยอมรับทฤษฎีเทวสิทธิ์ในการอธิบายความชอบธรรมของการปกครองของพระมหากษัตริย์ได้อีกต่อไป เขาได้สร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมาโดยเปลี่ยนแปลงคำอธิบายที่มาของอำนาจพระมหากษัตริย์จากเดิมที่อำนาจมาจากพระผู้เป็นเจ้าไปเป็นอำนาจมาจากปวงประชามหาชน โดยการใช้อำนาจทางการปกครองนั้นย่อมจะต้องเป็นไปตามเจตจำนงของมนุษย์ ไม่ใช่เจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าหรือสันตะปาปา หรือพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนจักรอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีการเมืองใหม่ของฮอบส์ก็มิได้ปฏิเสธรูปแบบการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ต้องการล้มล้างความคิดความเชื่อที่ว่า อำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์นั้นมีฐานจากอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า จากการคิดค้นของฮอบส์ ทำให้ทฤษฎีการเมืองของเขาแตกหักกับทฤษฎีการเมืองก่อนหน้าเขา และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา อันทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นนักทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่คนแรกของยุโรป หรือจะเรียกเขาว่าเป็น “กาลิเลโอทางทฤษฎีการเมือง” ก็คงไม่ผิด

ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1652 หนึ่งปีให้หลังจากการตีพิมพ์ Leviathan ของฮอบส์ นักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษอีคนหนึ่งชื่อ เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer: 1588-1653) ได้เขียนบทความออกมาโต้ Leviathan ของฮอบส์ บทความชิ้นนี้มีชื่อว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับกำเนิดของการปกครองใน Leviahtan ของฮอบส์ (Observations Concerning the Original of Government, Upon Mr. Hobs Leviathan)

ในความคิดของฟิลเมอร์ มีสิ่งหนึ่งที่เขาเห็นด้วยอย่างยิ่งกับฮอบส์ นั่นคือ สิทธิอันชอบธรรมแห่งอำนาจสูงสุดที่จะต้องไม่มีอำนาจใดๆในรัฐท้าทายอำนาจดังกล่าวนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิลเมอร์เห็นด้วยกับการปกครองที่มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวในมือของพระมหากษัตริย์ไม่ต่างจากฮอบส์ แต่เขาไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงกับฮอบส์ในประเด็นคำอธิบายที่มาของอำนาจสูงสุด

ล้มวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่ล้มสถาบันฯ

                                           เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์กับหนังสือทฤษฎีพ่อปกครองลูก

ขณะเดียวกัน ด้วยกระแสของความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็ทำให้ฟิลเมอร์ไม่สามารถกลับไปหาทฤษฎีเทวสิทธิ์แบบดั้งเดิมได้ เขาได้พยายามสร้างคำอธิบายชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนทฤษฎีเทวสิทธิ์แบบดั้งเดิมที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอันชอบธรรมของพระผู้เป็นเจ้าในการปกครองโดยผ่านฉันทานุมัติของสันตะปาปา ทฤษฎีการเมืองของเขาปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Patriarcha or the Natural Power of Kings หรือ “ปิตาธิปไตย: อำนาจตามธรรมชาติของพระมหากษัตริย์” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1680 ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดแนวคิดการปกครองแบบพ่อปกครองลูกขออังกฤษ !

และถ้าเปรียบเทียบกับของไทยเรา จะพบว่า เรามีและใช้แนวการปกครองแบบพ่อปกครองลูกมาก่อนอังกฤษ เพราะเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์คิดค้นทฤษฎีพ่อปกครองลูกในปี ค.ศ. 1680 หรือ ประมาณ พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ของไทยเรามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย นั่นคือราว พ.ศ. 1822-1841 ในสมัยของพ่อขุนรามคำแห่งตามที่เราทราบกันดี

แต่การกล่าวว่า สมัยสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกโดยหลวงวิจิตรวาทการ จากการตีความเนื้อหาในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งที่ถูกค้นพบในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นหลักที่มีปัญหาข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องความเก่าและความแท้ นอกจากศิลาจารึกหลักที่หนึ่งแล้ว ก็ไม่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นใดที่บอกว่า เรามีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย

คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกแบบอังกฤษโดยฝีมือของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์จะเหมือนหรือต่างจากพ่อปกครองลูกของหลวงวิจิตรฯมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

ล้มวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่ล้มสถาบันฯ

                                         หลวงวิจิตรวาทการ กับ ระบอบพ่อปกครองลูกของพ่อขุนรามคำแหง