posttoday

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ

19 พฤศจิกายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*******************

นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสงครามกลางเมืองอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดเห็นว่า การปฏิวัติของอังกฤษครั้งนั้น ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างจริงจัง แต่เต็มไปด้วยกลุ่มคนกระหายเลือดที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้น สังคมอังกฤษเต็มไปด้วยความปั่นป่วนสับสนวุ่นวาย ปัญหารุมเร้าทั้งจากภายนอกและภายในสังคมเอง จากการพิพากษาสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น ทำให้สังคมยุโรปมองอังกฤษเป็นชาตินอกกฎหมาย และต่างก็พากันคว่ำบาตร และไม่ยอมรับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นครั้งนั้น

สก๊อตแลนด์ได้ประกาศให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง (1630-1685) พระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งบริเตนโดยทันทีในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1649 หกวันให้หลังการสวรรคตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง (30 มกราคม ค.ศ. 1649) และในเมืองต่างๆในไอร์แลนด์ที่ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ยังอยู่ในอำนาจอยู่ ก็ได้ประกาศยกให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่สองเป็นพระเจ้าแผ่นดินของบริเตนด้วยเช่นกัน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของอังกฤษยอมรับ “รัฐอังกฤษใหม่” แทนราชอาณาจักรที่จบลงไปและยอมรับผู้อารักขาหรือรัฐบาลใหม่ด้วยความจำใจ

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ

สงครามกลางเมืองอังกฤษที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1642-1649 นอกจากจะเป็นการแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายรัฐสภาที่ต้องการล้มเจ้าแล้ว ในทางกายภาพ สังคมอังกฤษยังแตกแยกออกเป็นสองส่วน นั่นคือ ระหว่างผู้คนที่อยู่ทางเหนือและตะวันตก และผู้คนที่อยู่ใต้และตะวันออก พื้นที่ทางเหนือและตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ผู้คนยากจนกว่า ส่วนทางใต้และตะวันตกนั้นเจริญก้าวหน้ากว่า ผู้คนมีฐานะดีกว่าในภาพรวม

และถ้าจะให้ท่านเดาว่า ฝ่ายไหนสนับสนุนเจ้าและฝ่ายไหนสนับสนุนรัฐสภา ? ถ้าคิดตามบริบททางการเมืองไทยในปัจจุบัน ท่านอาจจะตอบว่า ผู้คนในภาคเหนือและตะวันตกน่าจะสนับสนุนฝ่ายรัฐสภา ส่วนคนทางใต้และตะวันออกน่าจะเป็นพวกนิยมเจ้า ในทำนองที่คนอีสานบ้านเราสนับสนุนทักษิณ และคนชั้นกลางในเมืองสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แต่สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น การณ์กลับตาลปัตร เพราะคนที่อยู่พื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกลับสนับสนุนฝ่ายรัฐสภา และคนที่อยู่ในพื้นที่ที่การค้าพาณิชย์ยังไม่พัฒนาขยายตัวก็กลับสนับสนุนพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

ที่จริงมันก็ไม่ได้กลับตาลปัตรไปเสียทั้งหมดทุกครั้ง เพราะถ้าย้อนกลับไปพิจารณาวิกฤตการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2475 จะพบว่า พลังที่สนับสนุนการล้มเจ้าในขณะนั้นมาจากคนชั้นกลางหัวก้าวหน้ามากกว่าจะมาจากไพร่ฟ้าราษฎรทั่วไป ไพร่ฟ้าราษฎรก็มีทั้งที่จงรักภักดี หรือไม่ก็กลัวพระมหากษัตริย์จนไม่สามารถจินตนาการการไปโค่นล้มได้เลย ซึ่งในกรณีนี้ ดูจะสอดคล้องกับกรณีของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ด

ความแตกต่างจะมีอยู่เพียงว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ.2475 นั้นไม่ได้เกิดสงครามกลางเมือง อีกทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวของไทย คณะราษฎรต่อสู้และยึดอำนาจรัฐโดยไม่ได้รับการสนับสนุนมีส่วนร่วมอย่างใดจากชาวบ้านระดับรากหญ้า แต่ในกรณีสงครามกลางเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดนั้น ฝ่ายรัฐสภามีแนวร่วมจากชาวบ้านกลุ่มต่างๆด้วย

การที่ผู้คนในพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในสังคมอังกฤษสมัยนั้นต่อต้านเจ้า ก็เพราะการคงอยู่ซึ่งระบอบพระมหากษัตริย์นั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังพัฒนาได้สร้างจิตสำนึกใหม่ให้แก่พวกพ่อค้าที่กำลังเติบโตขึ้นเป็นชนชั้นใหม่ ส่วนผู้คนที่ยังเป็นชาวนาชาวไร่มิได้รับประโยชน์โดยตรงจากเศรษฐกิจทุนนิยมก็ยังคงไว้ซึ่งสำนึกทางการเมืองแบบเดิมที่จงรักภักดีเกรงกลัวเจ้านายชนชั้นสูงซึ่งเป็นเจ้าที่ดินของพวกเขา

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ ฝ่ายนิยมรัฐสภาของอังกฤษมองว่า พื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกที่เต็มไปผู้คนที่ยังนิยมเจ้านั้นถือเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดบอดในการปฏิวัติ ซึ่งฝ่ายรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์เผยแพร่แนวคิดในการล้มเจ้าของพวกเขาในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งๆที่มีแนวร่วมหลายฝ่ายพยายามรณรงค์อย่างแข็งขัน จนกระทั่งมีคนตั้งข้อสงสัยว่า มวลชนเหล่านี้ที่อยู่ทางตอนเหนือของอังกฤษ อันได้แก่ เวลส์ คอร์นวอลล์ ไอร์แลนด์และสก๊อตแลนด์ ดูจะยากที่จะมีเหตุผลเข้าใจในเรื่องที่เป็นเรื่องพื้นๆ ทำให้น่าคิดว่า คนเหล่านี้พร้อมจริงๆหรือ ที่จะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการปกครองบริเตน ?

หลังจากสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1649 ระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ของอังกฤษได้สิ้นสุดลง และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองในระบอบสาธารณรัฐโดยเรียกชื่อว่า “the Commonwealth of England” การใช้คำว่า “commonwealth” ก็เพื่อจะบ่งบอกว่า ต่อไปนี้ ความอยู่ดีกินดี (wealth) จะต้องเป็นของทุกคนร่วมกัน (common) หรือ “The wealth is common.” นั่นเอง โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ส่วนอำนาจฝ่ายบริหารอยู่ที่คณะมนตรีแห่งรัฐ (Council of State) ซึ่งก็คือกลุ่มแกนนำการปฏิวัตินั่นเอง

แต่การเมืองการปกครองใหม่ของอังกฤษก็ยังอยู่ในสภาพไร้เสถียรภาพ จนมีการจัดตั้งรัฐสภาขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1653 ที่รู้จักกันในนาม “Barebone’s Parliament” ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองก่อนที่มีการรัฐประหารยึดอำนาจรวมศูนย์อยู่ภายใต้ผู้นำทหารที่ชื่อ โอลิเวอร์ ครอมเวล ผู้ซึ่งอยู่ในอำนาจตั้งแต่ ค.ศ. 1653 จนถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1658 หลังจากนั้น ริชาร์ด ครอมเวลก็ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อจากผู้พ่อได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้นก็ถูกทั้งฝ่ายกองทัพและรัฐสภาโค่นอำนาจ

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ

                  โอลิเวอร์ ครอมเวล                                                         ริชาร์ด ครอมเวล

จากนั้นรัฐสภาอังกฤษก็ตัดสินใจสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่โดยกราบบังคมทูลเชิญพระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งที่เสด็จลี้ภัยอยู่ต่างแดนให้กลับมาครองราชย์ในนามของพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมอังกฤษถึงไม่ประสบความสำเร็จในการปกครองระบอบสาธารณรัฐและกลับต้องฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา ?

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือ ริชาร์ด ครอมเวลไม่มีบารมีในกองทัพเหมือนพ่อของเขา กองทัพขาดความเชื่อมั่นในตัวเขา และเขาเองก็ไม่มีความไว้ใจในกองทัพ และนี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของริชาร์ด ครอมเวลที่ทำให้เขาไม่สามารถนำพาแนวทางที่พ่อเขาเริ่มไว้ให้เดินหน้าต่อไปได้

และในที่สุด ทหารก็คือกำลังสำคัญที่ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งไป โดยการนำของนายทหารที่ชื่อจอร์จ ม็องค์ (George Monck) ซึ่งถือเป็นตัวหลักสำคัญในการนำสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมา

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ

                                           จอร์จ ม็องค์

แต่แค่ปัจจัยเรื่องผู้นำไม่น่าจะทำให้กองทัพไม่เดินหน้าปฏิวัติต่อในแนวทางสาธารณรัฐ ! แต่มีปัจจัยที่กองทัพขาดแรงจูงใจในอุดมการณ์ปฏิวัติ เพราะนายทหารส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งหลังปฏิวัตินายทหารเหล่านี้มีความพึงพอใจกับสิ่งที่พวกเขาได้มา รวมทั้งนายทหารที่แม้ว่าไม่ได้เป็นชนชั้นสูง แต่ผลพวงที่พวกเขาได้จากการปฏิวัติทำให้เลื่อนสถานะขึ้นเป็นชนชั้นสูง พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิวัติอะไรต่อ

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ภาพลักษณ์ของกองทัพที่เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงต่างๆในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ผู้คนในสังคมชื่นชมกองทัพเหมือนที่เคย เพราะประชาชนคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนระดับกลางขึ้นไปต่างต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย ซึ่งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบการเมืองใหม่นี้ อีกทั้งหากเดินหน้าปฏิวัติต่อไป จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความสูญเสียของบรรดาชนชั้นกลาง-สูงต่อไป

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการประสานเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝักฝ่ายรัฐสภา ทั้งที่เคยเป็นฝ่าย “ล้มเจ้า” และฝ่าย “นิยมเจ้า” อีกทั้งยังรวมถึงฝ่ายแกนนำทางการเมืองของกรุงลอนดอน และแน่นอนที่สุดก็คือ การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพ อันนำมาซึ่งการสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมานี้ และไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูสถาบันฯกลับคืนมา แต่หมายถึงการทำให้สังคมที่เคยวุ่นวายสับสนกลับหัวกลับหาง (upside down) ให้กลับคืนสู่สภาพที่มีระเบียบปรกติด้วย และเป็นที่มาของคำว่า “English Restoration”