posttoday

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่(4)

14 พฤศจิกายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

“ราชประชาสมาศัย” คือพระมหากษัตริย์แบบ “ฟ้าลงดิน”

แนวคิดนี้เกิดขึ้นในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 โดยอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิชได้เขียนเป็นบทความนำเสนอสู่สาธารณะ ภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม2516 ผ่านไปไม่นาน ซึ่งได้กล่าวถึงอาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ ว่าเป็นผู้ใช้คำนี้ขึ้นเป็นคนแรก โดยอาจารย์ทั้งสองท่านถือว่าเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีอายุเพียง 30 ปีกว่า ๆ ในสมัยนั้น ทั้งสองท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวด้วยการเรียบเรียงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นถึง “ความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษ” ระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไทย ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9และเสนอว่า “นี่แหละคือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต”

“ราชประชาสมาศัย” เป็นการนำคำสันสกฤต 3คำมาสมาสรวมกัน คือคำว่า “ราช” หมายถึง “พระมหากษัตริย์” “ประชา” หมายถึง “ประชาชน” และ “สมาศัย” หมายถึง “การอยู่ร่วมกัน” (มีผู้วิจารณ์ว่าการสมาสแบบนี้อาจจะไม่ถูกต้องนัก แต่เราก็ยึดถือความหมายและการวางตัวอักษรเป็นสำคัญ) โดยอาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516ว่า สงบลงด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโดยแท้ ด้วยพระองค์ทรงได้รับความเชื่อถือจากทุก ๆ ฝ่ายในสังคมไทย อันเป็นผลจากการสั่งสมพระบารมีมาอย่างต่อเนื่อง ในพระราชกรณียกิจที่ได้เสด็จเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือราษฎรทั่วราชอาณาจักร

แต่เหนืออื่นใดนั้นก็คือการได้รับการยอมรับและเทิดทูนจากภาคราชการ โดยเฉพาะทหาร ทำให้พระราชฐานะมีความมั่นคงแข็งแรงและสามารถทรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ในยุคนั้นไม่เพียงแต่เป็นพระประมุขที่สง่างาม แต่ยังเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอีกด้วย

ปัญหาของประเทศไทยสำหรับคนไทยในชนบทในตอนนั้นมีอยู่ด้วยกัน2เรื่องใหญ่ ๆ คือปัญหาความยากจนกับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ โดยในเรื่องความยากจนเป็นผลจากภัยแล้ง การขาดที่ดินทำกิน และการขาดความรู้ในด้านการผลิตและการเกษตรสมัยใหม่ ส่วนในเรื่องภัยคอมมิวนิสต์เป็นผลจากเรื่องของความยากจนนั้นส่วนหนึ่ง แต่พวกคอมมิวนิสต์ได้ยุงยงว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเจ้าขุนมูลนายและระบบราชการ ที่เอารัดเอาเปรียบและมีการทุจริตคอร์รัปชั่น จำเป็นจะต้อง “ปลดแอก” สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม

แต่ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ได้เสด็จไปยังชนบทเหล่านั้น พร้อมด้วยแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ระบบชลประทาน การฟื้นฟูป่าและน้ำ พัฒนาที่ดินทำกิน พร้อมกับสร้างให้ราษฎรได้เรียนรู้เทคโนโลยีทางการเกษตรและการผลิตสมัยใหม่ ก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบทดีขึ้น ทั้งยังได้ทำให้ปัญหาความหวาดระแวงระหว่างข้าราชการกับประชาชนลดน้อยลงไป ด้วยทรงวางพระองค์ให้เป็นแบบอย่างและทรงนำข้าราชการให้ “ลดช่องว่าง” สร้างความไว้วางใจให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่เรียกว่าเป็น “ราชประชาสมาศัย” ที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงงานอย่างใกล้ชิดและ “ใช้ชีวิต” เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันกับประชาชน

ที่สุดแม้แต่ปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ก็คลี่คลายไป เพราะประเด็นโจมตีของพวกคอมมิวนิสต์ที่ว่า “กษัตริย์และศักดินา” เป็นตัวขัดขวางความเจริญของชาตินั้นได้ถูกลบออกไป พร้อมกับเสริมความเชื่อและสร้างความหวังสู่คนไทยว่า ประเทศไทยจะก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองต่อไปด้วยพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้อย่างแน่นอน

แต่ “ไฮไลท์” สำคัญในข้อเขียนเรื่องราชประชาสมาศัยของอาจารย์ชัยอนันต์ก็คือ พระราชกรณียกิจในการทรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม2516 ที่นักประชาธิปไตยอาจจะมองว่านี้จะเป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์ได้แย้งว่านี่คือ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ที่พระเจ้าอยู่หัวแม้จะทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย

แต่คนไทยก็ยังหวังพึ่งพิงและยินยอมที่จะมอบสิทธิอำนาจของประชาชนนั่นเองถวายให้กับพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงจัดการและแก้ไขปัญหาบางอย่าง ทั้งนี้ก็ไม่ได้ทรงจัดการต่อปัญหาเหล่านั้นโดยพลการ แต่เป็นการทรงงานด้วยความร่วมมือและพร้อมใจกันของทุกฝ่าย อันมีความแตกต่างจากประชาธิปไตยในประเทศตะวันตก ที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกและแย่งชิงกันสร้างความนิยมในหมู่ผู้เลือกตั้งภายใต้การแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างของไทยนี้ไม่มีสภาพการณ์อย่างนั้น

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และมีความคุ้นเคยกับอาจารย์ชัยอนันต์เป็นอย่างดี ได้กล่าวชมแนวคิดราชประชาสมาศัยนี้ว่า เป็นแนวคิดที่เป็นอยู่จริงในสังคมไทย และจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ระบบการเมืองไทยมีความแข็งแกร่ง รวมทั้งจะช่วยให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวหน้าต่อไป เพราะท้ายที่สุดพระเจ้าแผ่นดินของไทยก็ยังยึดถือว่าประชาชนคนไทยยังเป็นใหญ่ รวมทั้งที่ประชาชนคนไทยก็ยังถือว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะขาดไปไม่ได้จากสังคมไทย

ความจริงนั้นในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ก็คือคนไทยคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

*******************************