posttoday

ใบอนุญาตแทรกแซงและบ่อนทำลาย

12 พฤศจิกายน 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*******************

เวลานี้ อาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการของ ไอ-ลอว์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย คงจะปวดหัวมากพอสมควร กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในสภาและนอกสภา โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนที่ว่า ไอ ลอว์ รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในประเด็นทั่วไปและดึงดันที่จะแก้ประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญห้ามไว้ คำถามคือ อาจารย์จอห์น ต้องการอะไรกันแน่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้นขององค์กรต่างชาติที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ ไอ-ลอว์ หรือไม่ อย่างไร

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ไอ-ลอว์ เป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็น.จี.โอ. ไทยหลายองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ซึ่งก็คล้ายกับ เอ็น.จี.โอ.อื่นๆ ในไทยที่แหล่งเงินสนับสนุนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดมาจากต่างประเทศ ไอ-ลอว์ เปิดเผยว่า ช่วงปี 2552-2557 ไอ-ลอว์ ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิ Open Foundation และมูลนิธิ Heinrich Boll Stitung (HBF) และได้รับเงินสนับสนุน 1 ครั้งจาก Google

คนไทยเพิ่งมาพบชื่อ ไอ-ลอว์ ว่าเป็นองค์กรหนึ่ง ( ในจำนวนหลายองค์กรพัฒนาเอกชนไทย ) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก เอ็น.อี.ดี.ของสหรัฐ ตามรายงานประจำปีของ เอ็น.อี.ดี.ประจำปี 2560 โดยซ่อนไว้ในงบของกระทรวงต่างประเทศอเมริกัน

แต่วันนี้ อาจารย์จอห์น ยอมรับว่า ระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน ไอ-ลอว์ ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ 6 แหล่ง คือ (1) Open Society Foundation (OSF) (2) Heinrich Boll Stiftung (HBF) (3) National Endowment for Democracy (NED) (4) Fund for Global Human Rights (FGHR) (5) American Jewish World Service (AJWS) และ (6) ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google และผู้สนับสนุนอิสระ

ถ้าอาจารย์ไม่บอก คนไทยก็ไม่รู้ว่า ไอ-ลอว์ ของอาจารย์ได้รับเงินอุดหนุนมากขึ้นจากต่างประเทศ หากรวมแล้วคงได้ปีละหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐ หากมีเวลาว่าง อาจารย์น่าจะเอาบัญชีรายรับ รายจ่ายของ ไอ-ลอว์ มาเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบบ้าง ก็คงจะดี เพราะไหนๆมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ควรทำให้โปร่งใสเสียเลย

เป็นต้นแบบให้ เอ็น.จี.โอ. อื่นๆ ที่รับเงินจากต่างประเทศ ทำตามเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของต่างชาติที่คิดไม่ดีกับไทย

เราเชื่อในสิ่งที่อาจารย์ยืนยันว่า เจ้าของเงินไม่สามารถแทรกแซงกิจกรรมของ ไอ-ลอว์ได้ เพราะตนได้ออกแบบกิจกรรมของไอ ลอว์ เอง เรื่องนี้เข้าใจได้เพราะการจะขอรับการสนับสนุนด้านการเงินจากองค์กรใดก็ตาม เราต้องเขียนโครงการเสนอเขา หากเขาเห็นด้วยหรือขอให้แก้ไขนิดหน่อยแล้วตกลงกันได้ เขาก็ให้ทุน หากเขาขอให้ปรับนิดหน่อยซึ่งไม่ขัดกับหลักการใหญ่ขององค์กร ๆ ก็จะยอมให้ เพราะต้องการเงินสนับสนุน

เรื่องนี้ผู้เขียนเข้าใจได้ แต่ไม่รู้ว่าคนไทยอื่นๆ จะเชื่อหรือไม่ เพราะเวลาคุยกันกับเพื่อนฝูง ๆ บอกว่า อย่าไปเชื่อทั้งหมด เพราะหากเจ้าของเงินต้องการบางอย่างซึ่งไม่หักหาญเกินไป เอ็น.จี.โอ.ก็พอจะหยวน ๆ กันไปตามแบบเอ็น.จี.โอ.ไทย

ใครสนใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ไอ-ลอว์ ซึ่งเรียกกันว่าเป็นร่างที่ 7 ลองไปหาอ่านเอาเอง และมีหลายท่านเขียนวิจารณ์ไว้แล้ว ได้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขที่ ไอ-ลอว์ กำหนด รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร ใครได้หรือเสียประโยชน์

ผู้ใหญ่บางท่านตั้งคำถามว่า หน่วยงานไหนที่ดูแล รับผิดชอบ เอ็น.จี.โอ.ต่างชาติพวกนี้ เพราะเห็น เอ็น.จี.โอ.ไทยที่รับเงินต่างชาติเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง มักจะกระทบต่อเชื่อเสียงของประเทศแทบทั้งนั้น แต่ไม่เห็นใครหรือหน่วยงานไหนทำอะไรได้

เท่าที่จำได้ หน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล เอ็น.จี.โอ.ต่งชาติโดยตรงก็คือ กระทรวงแรงงาน (ส่วนเวลานี้จะปรับเปลี่ยนหรือมีกระทรวงทบวงกรมอื่นมาร่วมด้วยอย่างไรหรือไม่ ไม่ทราบ) ด้วยเหตุผลที่ว่า จะมีตัวแทน เอ็น.จี.ดอ.ต่างชาติขอเข้ามาทำงานประจำในไทย จึงโยนไปให้กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติรับผิดชอบไป ไม่ทราบว่ากระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลกิจกรรมของ เอ็น.จี.โอ.เหล่านี้หรือไม่ขนาดไหนอย่างไร

ไทยมีกฎหมายควบคุมการรับเงินจากต่างประเทศของ เอ็น.จี.โอ.หรือไม่อย่างไร เพราะเอ็น.จี.โอ.ส่วนใหญ่รับเงินจากต่างชาติทั้งนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวแทนขององค์กรเหล่านั้นในประเทศไทย ซึ่งก็ต้องทำตามนโยบายของเจ้าของเงินหากต้องการเงินจากเขา หรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าขัดใจเจ้าของเงิน

มีผู้ใหญ่บางท่านตั้งคำถามว่า เรามีกฎหมายควบคุม เอ็น.จี.โอ.ไทยรับเงินจากต่างประเทศหรือไม่อย่างไร คำตอบคือ ไม่ทราบ แต่จะไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องให้ ถามต่อไปว่า หากยังไม่มี เราก็น่าจะมีกฎหมายการรับเงินต่างชาติของ เอ็น.จี.โอ.ไทย .ซึ่งไม่ได้ห้ามรับเงิน แต่จะควบคุมดูแลอย่างไรไม่ให้เงินที่ได้มานั้นถูกนำมาใช้ก่อกวน บ่อนทำลายประเทศ

ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาซึ่งมี เอ็น.จี.โอ.อเมริกันออกไปเพ่นพ่านในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเผยแพร่แนวคิดและอุดมการณ์ของสหรัฐ แต่ในบ้านเมืองเขาเอง รัฐสภาได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อย่อว่า FARA เมื่อ พ.ศ.2519 และแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง โดยใช้กับองค์กรและเอ็น.จี.โอ ทั้งที่เป็นองค์การกุศลและไม่ใช่กุศล องค์กรทางการเมือง สังคม การศึกษา ฯลฯ

หากมีการรับเงินเกิน 1 พันดอลลาร์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระห่างประเทศ บริษัทต่างชาติ สหภาพแรงงานต่างชาติ สมาคมต่างชาติ ชาวต่างประเทศ ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงองค์การสหประชาชาติ และองค์กรในเครือ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้เงินจากต่างประเทศมาเคลื่อนไหวที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงชองรัฐ และ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และต้องเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และตรวจสอบย้อนหลังได้ ตามหลักการบริหารจัดการที่ดี

องค์กรทุกประเภทที่รับเงินจากต่างชาติต้องขั้นทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ต้องกรอกแบบฟอร์มแสดงถึงสัญญาระหว่างผู้ให้ทุน กับ ผู้รับทุน และรายละเอียดอื่น ๆ และเปิดเผยต่อสาธารณะในทุก 6 เดือน

หาก เอ็น.จี.โอ ใดต้องการรับเงินสนับสนุนหรือเงินบริจาคจากต่างประเทศ ต้องลงทะเบียนกับรัฐบาลเพื่อขอรับเงินจากต่างชาติเป็นกรณีไป เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะรับเงินได้

ประเทศอินเดีย ใด้ออก “ กฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริจาคเงินจากต่างประเทศ ” ในปี 2557 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เอ็น.จี.โอ.ใดรับเงินจากต่างชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกห้ามดำเนินกิจกรรมเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และไม่สามารถรับเงินบริจาคจากต่างประเทศได้ในห้วงนี้ ทางการอินเดียเคยถอนใบอนุญาตของ เอ็น.จี.โอ ในอินเดียประมาณ 2 หมื่นรายเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ เอ็น.จี.โอ.เหลืออยู่ประมาณ 1.3 หมื่นรายในขณะนั้น

ตั้งแต่ปี 2557 เอ็น.จี.โอ ในอินเดียถูกเข้มงวด ตรวจสอบครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลอินเดียระบุว่า เอ้น.จี.โอ.หลายกลุ่มใช้เงินบริจาคจากต่างชาติมาใช้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ มีการรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนาสำคัญหลายโครงการของรัฐบาล และเป็นภัยคุกคามต่อความสามัคคีของคนในชาติ สร้างความแตกแยกระห่างกลุ่มคนต่างศาสนา เชื้อชาติ สังคม ภาษา และชนชั้นวรรณะ

แม้แต่ในกัมพูชา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 รัฐบาลได้ออกกฎหมายกำหนดให้ เอ็น.จี.โอ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 พันแห่ง ลงทะเบียนเพื่อได้สิทธิดำเนินการทางกฎหมาย และแสดงแหล่งที่มาของเงิน ต้องยืนรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจกรรมและการบริหารเงินขององค์การด้วย กฎหมายนี้อ้างว่าไม่ได้มุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของ เอ็น.จี.โอ แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขององค์กรต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง เอ็น.จี.โอ. กับรัฐบาล

รัฐบาลต้องไม่ออก “ใบอนุญาตแทรกแซงและบ่อนทำลาย” ประเทศให้กับใคร ไมว่าจะเป็น เอ็น.จี.โอ ไทยหรือต่างประเทศ

หาก ส.ส.ไทย คิดจะเสนอให้ออกกฎหมายประเภทนี้บ้างก็คงจะดี เพื่อคุ้มครอง เอ็น.จี.โอ. ที่ดีเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ และโปร่งใสในการรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ เหมือนอย่างที่ ไอ-ลอว์ ทำ โดยเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทั้งหมด