posttoday

หลังสงครามกลางเมืองอังกฤษ: ชนะแต่แตกแยก

12 พฤศจิกายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

สงครามกลางเมืองอังกฤษที่เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1642-1649 ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาและการพิพากษาสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 อย่างไรก็ตาม จริงๆแล้ว ฝ่ายรัฐสภาไม่ได้จะได้เปรียบหรือจะต้องได้ชัยชนะอย่างแน่นอนในสงครามครั้งนั้น เพราะยิ่งสงครามยืดเยื้อเท่าไร ประชาชนทั่วไปก็ถวิลหาสันติภาพมากขึ้นเท่านั้น

แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดยืนที่ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ ฝ่ายรัฐสภายืนยันว่า เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้สงครามจะยุติลงได้ก็คือ ต้องทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ยอมรับอำนาจของรัฐสภาเท่านั้น ส่วนฝ่ายพระเจ้าชาร์ลส์นั้น พระองค์เชื่อมั่นว่าพระองค์จะต้องทรงชนะในสงครามครั้งนี้อย่างแน่นอน เพราะพระองค์เชื่อว่า สิ่งที่พระองค์ต่อสู้นั้นถูกต้องยุติธรรม ขุนพลและกองทัพของพระองค์มีกำลังและฝีมือที่เหนือว่า และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พระองค์มั่นใจว่า พระองค์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่กำหนดเงื่อนไขในการตกลงเจรจายุติสงคราม

และแม้ว่ากองทัพของพระองค์จะพ่ายแพ้ต่อกองทัพฝ่ายรัฐสภาในศึกหลายครั้ง แต่พระองค์ก็ไม่ยอมยืดหยุ่นในเงื่อนไขหรือจุดยืนของพระองค์ พระองค์เชื่อว่า จะไม่มีรัฐบาลใดปกครองอังกฤษได้หากปราศจากซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ และไม่ช้าก็เร็ว ในที่สุดแล้ว ศัตรูทั้งหลายทั้งปวงของพระองค์ก็จะต้องยอมรับและไว้วางใจให้พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองต่อไป

แต่สาเหตุที่ทำให้ฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะ ในที่สุดนั้นเป็นเพราะการที่ฝ่ายรัฐสภาไม่ยอมให้มีทางเลือกอื่นใดนอกจากพระเจ้าชาร์ลส์จะต้องยอมรับอำนาจของฝ่ายรัฐสภาเท่านั้น และจากเงื่อนไขที่เป็นกฎเหล็กดังกล่าวนี้เองที่ทำให้กลุ่มและฝักฝ่ายทางการเมืองต่างๆสามารถรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันได้ ทั้งๆที่จะว่าไปแล้ว แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายก็มีวาระและเป้าหมายในการต่อสู้ที่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่า ในสงครามกลางเมืองดังกล่าว เป้าหมายหลักที่จะต้องกำจัดออกไปก่อนก็คือพระเจ้าชาร์ลส์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการก้าวไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่แต่ละกลุ่มต้องการให้ได้เสียก่อน

ดังนั้น หลังจากที่ฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะ ฝ่ายรัฐสภาจึงไม่ได้ประสบความสำเร็จในทางการเมืองอย่างที่คาดคิดไว้ เพราะเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ในฐานะที่เป็นพลังที่ดึงดูดให้ฝักฝ่ายต่างๆมารวมตัวกันต่อสู้ได้หมดไปแล้ว กลุ่มและฝักฝ่ายต่างๆก็แตกแยกกันไปคนละทิศละทาง

เริ่มจากทางฝั่งสก๊อตแลนด์ได้ตั้งข้อเรียกร้องที่ฝ่ายอังกฤษไม่มีวันจะยอมได้ ส่วนทางฝั่งลอนดอนก็ขู่ว่าจะมีการลุกฮือขึ้นเพื่อประท้วงการเก็บภาษี กลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆในสภาล่างต่างต่อสู้แก่งแย่งอำนาจกันด้วยต่างคาดการณ์ว่าอาจจะมีการสถาปนาสถาบันกษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่ ทางฝ่ายทหารก็เรียกร้องเงินเบี้ยเลี้ยงที่ติดค้างไว้ตั้งแต่ตอนทำสงคราม อีกทั้งพวกเขายังวิตกกังวลกับอนาคตของพวกเขาที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะแต่เดิม สถานะของพวกเขาคือเป็นทหารของพระราชา

ในด้านศาสนา ก็แตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ไม่ว่าจะแตกตัวออกตามนิกายและตามหลักการความเชื่อและผู้นำของแต่ละกลุ่ม พวกแนวปฏิรูปที่เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาคริสต์นิกายแองกลีคัน (Anglican Church) ก็ถูกตีตราจากพวกเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) หัวรุนแรงว่า จะนำศาสนาอังกฤษให้ย้อนกลับไปเหมือนเดิม

ส่วนเพรสไบทีเรียนเองก็ถูกพวกแนวอิสระ (Independents) ดูแคลนว่าเป็น “พวกพลังมโนธรรมใหม่” (new forcers of conscience) ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนอื่นๆที่เกิดแตกแยกย่อยออกไปอีกมากมาย เพราะฝ่ายรัฐสภาไม่มีปัญญาที่จะหาข้อตกลงจัดระเบียบในเรื่องศาสนาได้หลังจากที่อังกฤษไม่มีพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษได้สร้างลัทธินิยมความรุนแรงขึ้นมา หาใช่ลัทธินิยมความรุนแรงสร้างสงคราม”

นอกจากนี้ กลุ่มการเมืองที่เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐสภาในการต่อสู้พระเจ้าชาร์ลส์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งนั้น ได้แก่ กลุ่ม “the Levellers” (คำว่า “leveler” เป็นคำที่มีความหมายในแง่ลบใช้เรียกพวก “กบฏชาวบ้าน” เริ่มใช้ครั้งแรกในการเรียกพวกบฏที่มิดแลนด์ (Midland Revolt) ในปี ค.ศ. 1607 จากการที่ชาวบ้านไม่พอใจที่เจ้าที่ดินเอารั้วมาล้อมที่ดินที่เคยเป็นที่ทำกินส่วนรวมของชาวบ้าน ชาวบ้านเหล่านั้นจึงรวมตัวกันเข้าพังรั้ว การพังรั้วดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อ “the Levellers” ในเวลาต่อมา)

“the Levellers” ในฐานะที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีจุดยืนและเป้าหมายชัดเจนในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกองทัพของฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมแวล และมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกรุงลอนดอนเข้าร่วมด้วย โดยต่างมีจุดยืนทางการเมืองต้องตรงกัน นั่นคือ ต้องการอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่พระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังต้องการให้มีการขยายสิทธิทางการเมืองไปสู่ประชาชนคนรากหญ้า และต้องการความเสมอภาคทางกฎหมายสำหรับประชาชนทุกคน และต้องการให้สังคมอังกฤษมีขันติธรรมอดกลั้นต่อความแตกต่างในความเชื่อทางศาสนาด้วย

โดยอุดมการณ์ทางการเมืองของ “the Levellers” ได้ปรากฎอยู่ในเอกสารคำประกาศที่รู้จักกันในนามของ “ข้อตกลงของประชาชน” (Agreement of the People) ที่ตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1647-1649 อันเป็นช่วงเวลาตอนปลายของสงครามกลางเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ได้แก่ จอห์น ลิลเบิร์น (John Lilburne) ริชาร์ด โอเวอร์ตัน (Richard Overton) และวิลเลียม วัลวิน (William Walwyn)

จอห์น ลิลเบิร์น เป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เขาให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมกันของผู้คนในฐานะที่เกิดมาเสรี เมื่อทุกคนเกิดมาเสรี ทุกคนย่อมต้องเสมอภาคกัน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับฉายาว่า “Freeborn John”

หลังสงครามกลางเมืองอังกฤษ: ชนะแต่แตกแยก

             จอห์น ลิลเบิร์น                               ริชาร์ด โอเวอร์ตัน                                  วิลเลียม วัลวิน

ส่วนริชาร์ด โอเวอร์ตัน จบการศึกษาจากเคมบริดจ์ เป็นนักแสดงและนักเขียนบทละคร และมีผลงานที่โรงละครในเขตเซาท์เดิร์ก (Southwark) ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน และ ณ ที่แห่งนี้นี่เอง ที่โอเวอร์ตันได้รับอิทธิพลแนวคิดของพวก “Levellers” ทำให้เขาเริ่มต้นพิมพ์เอกสารต่อต้านการปกครองของคณะสงฆ์ของอังกฤษ (the Church of England) ซึ่งทำให้เขาถูกตัดสินลงโทษจำคุกถึงสองครั้ง

แต่ต่อมาในปี ค.ศ.1655 เขาได้หนีไปอาศัยอยู่ที่ฟลันเดอร์ (Flanders) อันเป็นบริเวณรอยต่อระหว่างเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมในปัจจุบัน แนวคิดทางศาสนาของโอเวอร์ตันนับว่าค่อนข้างจะสมัยใหม่มากเมื่อเทียบผู้คนในยุคของเขา เพราะในขณะที่ชาวคริสต์ทั่วไปในศตวรรษที่สิบเจ็ดเชื่อว่า เมื่อตายแล้ว วิญญาณก็จะออกจากร่างไป แต่เขากลับยืนยันว่า เมื่อคนเราตาย วิญญาณก็จะดับสูญไปพร้อมๆกับสังขาร และโอเวอร์ตันเชื่อว่า วิญญาณของคนเราจะถูกเรียกกลับมาใหม่ในวันพิพากษา (the Final Judgement)

ในทางการเมือง โอเวอร์ตันต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของคนทุกคน และยึดมั่นในหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงประชามหาชน และต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดสิ้นไปจากอังกฤษ

สำหรับ วัลวิน เขาเป็นหมอและเป็นพ่อค้าผ้าไหมในกรุงลอนดอน และเป็นผู้สนับสนุนอำนาจของรัฐสภา เขาจะต่อสู้เพื่อขันติธรรมทางศาสนาเช่นเดียวกันกับลิลเบิร์น แต่ในปี ค.ศ. 1645 เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ลิลเบิร์นจะให้กฎบัตร Magna Carta ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่สิบสามเป็นรากฐานที่มาของสิทธิประชาชน เพราะเขาต้องการให้มีการตรากฎบัตรขึ้นใหม่แทนที่จะไปอิงกับของเก่าที่ไม่ได้มีรากฐานบนสัญญาประชาคมของประชาชนอย่างแท้จริง และต่อมาในปี ค.ศ. 1647 วัลวินได้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำของ “the Levellers”

ที่น่าสังเกตก็คือ จากการที่กลุ่มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในหมู่ทหารในกองทัพของโอลิเวอร์ ครอมแวล ที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของความเป็นคน และต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ขณะเดียวกันชื่อ “the Levellers” ก็เป็นคำที่มาจากการก่อกบฏของชาวบ้านรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิดั้งเดิมในที่ทำกินของพวกเขา จึงทำให้ “Levellers” เป็นกลุ่มการเมืองที่เชื่อมโยงพลังของทหารกับพลังของประชาชนคนรากหญ้าให้เข้ากันเป็นหนึ่งเดียว

อย่างไรก็ตาม นักต่อสู้ในกลุ่ม “the Levellers” นี้ถูกตัดสินลงโทษจำคุกกันถ้วนหน้า จอห์น ลิลเบิร์น ถูกตัดสินให้จำคุกในปี ค.ศ. 1645 ริชาร์ด โอเวอร์ตัน ต้องเข้าคุกในปี ค.ศ. 1646 ส่วน วิลเลียม วัลวิน เข้าคุกไปในปี ค.ศ. 1649 อันเป็นปีที่รัฐสภาได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และสาเหตุที่พวกเขาต้องติดคุกก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นกบฏต่อพระมหากษัตริย์ด้วย ?!

หลังสงครามกลางเมืองอังกฤษ: ชนะแต่แตกแยก

โฉมหน้า “ข้อตกลงของประชาชน” ค.ศ. 1647                                       เอกสารของ Levellers